การเมืองวุ่นนักลงทุนตุนดอลลาร์ กดดันค่าบาทอ่อนต่อเนื่อง

>>

ธนาคารกสิกรไทย คาดปัญหาการเมืองตั้งรัฐบาลช้า ทำค่าบาทอ่อน จับตาการประชุมเฟดและความคืบหน้าการเจรจาระหว่างจีน – สหรัฐฯ


สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.80-32.30 ในช่วงวันที่ 29 เม.ย. – 3 พ.ค.ฤษภาคม คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวน ตัวเลขเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย


ด้านปัจจัยภายนอกความคืบหน้าของการเจรจาการค้าโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีน โดยสัญญาณที่สะท้อนว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามข้อตกลการค้ากันได้จะสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น


ด้านการประชุมนโยบายการเงินของเฟด คาดว่าเฟดจะยังคงส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อดอลลาร์ปรับลดลงบ้าง ทั้งนี้ ตลาดจับตาตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1 จากฝั่งยูโรโซนที่มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งจะกดดันให้ตลาดเข้าสู่ภาวะกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก และกลับกดดันให้ความต้องการเงินดอลลาร์สูงขึ้น ทำให้ค่าเงินยูโรและค่าเงินสกุลในเอเชีย รวมถึงบาทอ่อนค่าลง


ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวสู่ระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 3 เดือน เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.840 และอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางของเงินสกุลหลักและเงินสกุลเอเชียที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์


โดยมีปัจจัยเคลื่อนไหวค่าเงินสำคัญ คือ ตัวเลขความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีลดลงในเดือนเม.ย. ออกมาอ่อนแอ ผิดจากการที่ตลาดคาดหวังไว้ สะท้อนภาคการผลิตและการส่งออกที่อ่อนแอของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป


อีกทั้งตัวเลขจีดีพีเกาหลีใต้ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2009 และหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนซึ่งถือเป็นระดับที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2008


ด้านออสเตรเลีย อัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 1 ไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อนและเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของออสเตรเลียมีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ให้ตลาดรู้สึกกลัวและต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย


นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในประเทศที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วย กล่าวคือ การส่งออกตามระบบศุลกากรกลับมาหดตัวลงอีกครั้งเดือนมีนาคม ความเสี่ยงทางการเมืองด้านผลการเลือกตั้งสูงขึ้น และการเข้าสู่ฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ทำให้มีความต้องการขายเงินบาทเพื่อซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ และทำให้เงินบาทแตะระดับอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 3 เดือน


อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ที่ 26 เงินบาทกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยเพื่อรอผลประกาศตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ทำให้เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.980 (ณ เวลา 16.11 น.)


ด้าน ตลาดพันธบัตร ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้นักลงทุนยังมีความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศตัวเลขของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยตัวเลขความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีประกาศออกมาอ่อนแอลงในเดือนเม.ย. อยู่ที่ระดับ 99.2 จาก 99.7 ในเดือนก่อนหน้า


ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของประเทศออสเตรเลียในไตรมาสที่ 1 ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ตัวเลขจีดีพีของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 1 ประกาศออกมาที่ -0.3%QoQ ซึ่งถือเป็นการชะลอตัวลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 2009


รวมไปถึงในสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางของแคนาดาได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2019 ลงมาอยู่ที่ 1.2% จากเดิมที่ระดับ 1.7% จนทำให้ตลาดคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้มากกว่า 90% ที่ธนาคารกลางของแคนาดาจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะ 12 เดือนข้างหน้า


ส่วนประเทศไทยมีการประกาศตัวเลขการส่งออกซึ่งกลับมาหดตัว 4.88%YoY โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯต่อจีนและอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลง ด้วยเหตุของความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจะเป็นผลทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำต่อไป โดย ณ วันที่ 26 เม.ย. 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.80% 1.81% 1.89% 2.13% 2.32% และ 2.55% ตามลำดับ


ในส่วนของกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 5,437 ล้านบาท ซึ่งเป็นการ

  • ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 226 ล้านบาท
  • ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 4,683 ล้านบาท
  • และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 980 ล้านบาท


ทั้งนี้จากรายงานพบว่านักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรในภูมิภาคเอเชียคิดเป็นมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ซึ่งมากที่สุดตั้งแต่เดือนม.ค. 2018 โดยพันธบัตรอินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงสุดในภูมิภาค ได้รับแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติคิดเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ พันธบัตรของเกาหลีใต้ได้รับแรงซื้อสุทธิ 1.2 พันล้านดอลลาร์และพันธบัตรของมาเลเซียได้รับแรงซื้อสุทธิ 721 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรไทยคิดเป็นมูลค่า 486 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศไทย


ที่มา :  คอลัมน์มันนี่วีก ( Money week)


บทความโดย วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย