นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เตรียมว่าจ้างธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ให้มาทำการศึกษารูปแบบการจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิซิเนส) ให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น และเตรียมนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่ให้พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิซิเนส) แล้ว แต่ไม่สามารถนำส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้น กรมฯ จึงจะมีการปรับใหม่ให้มีการเก็บภาษีได้รอบด้านมากกว่าฉบับปัจจุบัน ที่เรียกเก็บ ภาษีแต่บริการนำเข้าสินค้าอย่างเดียว
ซึ่งในกฎหมายฉบับใหม่จะเก็บครอบคลุมภาษีทุกประเภท เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคล เพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการในและนอกประเทศ และทำให้การจัดเก็บภาษีของ กรมฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
"กฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็น ต้องเร่งทำ เพราะทุกประเทศในโลกประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการออนไลน์ได้ เพราะไม่ได้มีการตั้งสำนักงาน หรือจดทะเบียนในประเทศนั้นๆ เช่น ในสหภาพยุโรปก็พยายามจะร่างกฎหมายขึ้นมาเก็บเช่นเดียวกับไทย" นายปิ่นสาย กล่าว
ด้าน นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองโฆษกกรมสรรพากร กล่าวถึงยอดการยื่นแบบ แสดงรายได้ภาษีบุคคลธรรมดา ปี 2561 ว่า มียอดการยื่นแบบในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2562 แล้ว จำนวน 4 ล้านราย ในจำนวนนี้มียอดขอคืนภาษี 2 ล้านราย คิดเป็นมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรมสรรพากรได้คืนภาษีไปแล้ว 1.3 ล้านราย เป็นการคืนผ่านพร้อมเพย์ 1 ล้านราย โดยยอดการขอคืนภาษีปี 2561 เพิ่มขึ้น 15% เนื่องจากปีนี้พฤติกรรมของประชาชนยื่นแบบเร็วขึ้น และส่วนใหญ่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ตรวจสอบและคืนภาษีได้รวดเร็ว