“อาร์เอส” โมเดล หลังธุรกิจสื่อ (ทีวี) ไม่ทำกำไร

>>

หลังจากที่มีข่าวปิดตัวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และเอ็มทูเอฟของเครือโพสต์ฯ ต่อด้วยการประกาศปรับลดพนักงานของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์และมติชน จากมรสุมการเข้ามาของกระแสดิจิตอลที่ทำลายล้างธุรกิจสื่อเก่าเกือบหมดสิ้น ส่งผลให้ผู้เล่นในปัจุบันต้องปรับตัว

ล่าสุดเมื่อวาน ทางบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS  ผู้นำด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และเจ้าจองช่องทีวีดิจิตอล ตัดสินใจครั้งสำคัญประกาศย้ายหมวดธุรกิจ จากธุรกิจ “สื่อสิ่งพิมพ์” เป็นหมวด “ธุรกิจพาณิชย์” แทน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมนี้เป็นต้นไป


การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจเป็นโมเดลที่สำคัญกับช่องทีวีดิจิตอลอื่นๆได้ศึกษา ทาง Wealthy Thai เลย อยากชวนมาทำความรู้จักกับหุ้นตัวนี้ ก่อนอื่นเลยย้อนหลังกลับไปก่อนที่อาร์เอสจะแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน “อาร์เอส” ทำธุรกิจ “เพลง” ครบวงจรมาตั้งแต่ปี 2519 หรือเมื่อ 43 ปีที่แล้ว โดยต่อยอดจากธุรกิจเพลง มาสู่ธุรกิจสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ รวมถึงธุรกิจรับจ้างและผลิตกิจกรรมด้วย อย่างที่เรารู้กันดีว่าเพลงฮิตสมัยก่อน มาจากค่ายเพลง 2 ค่ายคืออาร์เอสและแกรมมี่


ต่อมาช่วงปลายปี 2556 อาร์เอสเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความชัดปกติ จำนวน 1 ช่อง และบริษัทได้นำ “ช่อง 8” ซึ่งเดิมออกอากาศอยู่บนระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เปลี่ยนมาออกอากาศในระบบดิจิทัลแทน


“การประมูลทีวีดิจิทัล”
เป็นการเขย่าธุรกิจสื่อบันเทิง ด้วยต้นทุนการประมูลคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับมหาศาล ยิ่งเมื่อเทียบ “การคืนทุน” กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมทีวีได้รับผลกระทบหนัก ทีวีหลายช่องยังต้องแบกภาระต้นทุนมาถึงปัจจุบัน!


แล้วอาร์เอสปรับตัวอย่างไร?
 

ในปีเดียวกับที่มีประมูลคลื่นนั่นเอง ทางอาร์เอสเริ่มขายผลิตภัณฑ์ “สุขภาพและความงาม” แบรนด์มาจีค, รีไวฟ์ และเอส.โอ.เอ็ม โดยใช้โฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุของบริษัท รวมทั้งเปิดตัวสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ตลอดจนพัฒนา “ระบบเทเลเซลล์” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหลังการขายให้โดนใจผู้บริโภค จนในสุดทำให้โครงสร้างรายได้ของบริษัทมาจากธุรกิจสุขภาพและความงามเป็นรายได้หลักของบริษัทไปแล้ว  

 

โดยบริษัทย่อยในเครือของบริษัทที่ลงทุนเอง 100% และยังดำเนินธุรกิจอยู่ ประกอบด้วย

  • บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการสื่อโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล
  • บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม
  • บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด ดำเนินธุรกิจสื่อวิทยุ
  • บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด ดำเนินธุรกิจจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์
  • บริษัท บันเทิง วาไรตี้ จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์

 

 

ทำให้ในช่วงหลังๆ มานี้ธุรกิจความงามฯ โดดเด่นแซงหน้าธุรกิจดั้งเดิมของอาร์เอส เมื่อเทียบกับสื่อทีวี ที่มีอยู่ในมือรวมทั้งหมด 5 ช่อง ไม่ว่าจะเป็น “ช่อง 8” ซึ่งเป็นช่องหลัก รวมถึงช่อง 2 ช่องสบายดีทีวี ช่อง You Channel และช่องเพลินทีวี ซึ่งล้วนเป็นผลจากการแข่งขันและเม็ดเงินค่าโฆษณาที่แข่งขันกันรุนแรง จนผู้ประกอบการแทบจะเอาตัวกันไม่รอด


ขณะที่ “ธุรกิจสื่อวิทยุ” เอง ก็เข็นยาก แม้ทางอาร์เอสพยายามจะใช้กลยุทธ์ Digital Transformation และรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ แต่ด้วยเม็ดเงินโฆษณาผ่านวิทยุที่ลดลง ทำให้ “รายได้” ไม่ขึ้นตาม


เพราะฉะนั้นการประกาศปรับหมดธุรกิจครั้งนี้ มาทำธุรกิจพาณิชย์เต็มตัว จะทำให้บริษัทดำเนินงานได้คล่องตัวขึ้น หันมาทุ่มกลุ่มสินค้าความงามได้โดยตรง และทำกำไรได้มากขึ้น  โดยปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวม 3,955.05 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 516.04 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ที่มีรายได้ 3,588.13 ล้านบาท กำไรสุทธิ 332.86 ล้านบาท


 

ส่วนของราคาหุ้น ทางบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่าธุรกิจ MPC หรือ Health & Beauty / Home & Lifestyle ในไตรมาสแรกนี้ยังทำนิวไฮ รวมกับยอดขาย New Year Grand Sales และยอดขายสินค้าจากช่องไทยรัฐทีวี ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่เติบโตดี บวกกับหุ้นยังมีอัพไซต์อีกประมาณ 12%  


เคสของอาร์เอสนี้
จึงเป็นเคสสำคัญที่ทำให้เห็นว่าธุรกิจต้องปรับตัวและหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ! และที่สำคัญคือไม่ยึดติดกับ “ความสำเร็จในอดีต” อย่างยอดขายเพลงล้านตลับ!

 

ที่มา รายงานประจำปีของ RS และบทวิเคราะห์หุ้น RS ของบล.ฟินันเซีย ไซรัส