รู้หรือไม่? ยอดขายถุงยางอนามัยปีละ 70 ล้านชิ้น : กรณีศึกษา “TNR” ผู้ผลิตถุงยางฯ สัญชาติไทย
>> รู้หรือไม่ว่าแต่ละปียอดขาย “ถุงยางอนามัย” ในประเทศไทยมีถึง 70 ล้านชิ้นเลยทีเดียว จำนวนพอๆ กับคนทั้งประเทศ ทั้งสินค้าแบรนด์ต่างประเทศและในประเทศ แล้วถุงยางอนามัย “สัญชาติไทย” ล่ะ? มีหรือไม่
รู้หรือไม่ว่าแต่ละปียอดขาย “ถุงยางอนามัย” ในประเทศไทยมีถึง 70 ล้านชิ้นเลยทีเดียว จำนวนพอๆ กับคนทั้งประเทศ ทั้งสินค้าแบรนด์ต่างประเทศและในประเทศ
แล้วถุงยางอนามัย “สัญชาติไทย” ล่ะ? มีหรือไม่
ตอบเลยว่า มี!!! แถมยังจดทะเบียนอยู่และตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย ในชื่อ “TNR” หรือบริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัยยี่ห้อ “วันทัช” และเมื่อปีที่ผ่านมาได้ลิขสิทธิ์ Global License ให้ผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัย “Playboy” แบรนด์ระดับโลก สัญชาติอเมริกัน
ซึ่งผลงานของ TNR ในรอบหลายปีที่ผ่านมา สามารถรักษายอดขายให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทางผู้บริหาร “อมร ดารารัตนโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “กัณห์ กุลอัฐภิญญา” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และ “ชนินทร์ เทียนเจริญ” ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ให้ข้อมูลร่วมกันว่า วันทัชเป็นถุงยางอนามัยยี่ห้อเดียวในตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง (ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง) และมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เพิ่มขึ้นทุกปี
2558 มีมาร์เก็ตแชร์ 20%
2559 มีมาร์เก็ตแชร์ 21%
2560 มีมาร์เก็ตแชร์ 24%
2561 มีมาร์เก็ตแชร์ 27%
และในปีนี้ TNR ตั้งเป้ามาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นเป็น 32%
อมรย้ำว่า Key Success ที่ทำให้วันทัชเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มาจากการทำการตลาดเจาะกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่ม “มิลเลเนียล” และการพัฒนาสินค้าให้ตรงใจผู้บริโภค
ด้านผู้จัดการฝ่ายการตลาด วันทัช อธิบายเสริมว่าสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากที่สุดมีอยู่ 2 อย่างคือ “กลิ่น” และ “ความบาง” ของถุงยางอนามัย โดยถุงยางอนามัยรุ่นที่มีความบางประมาณ 0.03 ก็ได้รับความนิยมต่อเนื่อง และมีทิศทางการเติบโตดี
ที่มา รายงานประจำปี TNR
ตลาดถุงยางอนามัย มีใครเป็นผู้เล่นบ้าง
อย่างไรก็ตามภาพรวมตลาดถุงยางอนามัยในปัจจุบัน แบรนด์หลักที่ครองส่วนแบ่งตลาดมีด้วยกัน 4 แบรนด์ ประกอบด้วย
-
Durex
-
One Touch
-
Playboy
-
Okamoto
สำหรับถุงยางอนามัย Durex เป็นสินค้า Consumer Product ในเครือบริษัทระดับโลกอย่าง Reckitt Benckiser เจ้าของเดียวกันกับสินค้าที่เรารู้จักกันดีอย่างน้ำยา “เดทตอล” ยาอม “สเตร็ปซิล” ยารักษาโรคกระเพาะ “กาวิสคอน” โดยปัจจุบันบริษัท Reckitt Benckiser มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแค็ป) 51.665 พันล้านเหรียญสหรัฐ
แม้ว่า Durex จะมีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 แต่วอลุ่มหรือยอดขายจำนวนชิ้นลดลง โดยในปีที่ผ่านมา ติดลบ 5.8% สอดคล้องกับภาพรวมอุตสาหกรรมถุงยางอนามัยที่ติดลบ 2.9%
นอกจากนี้แล้วถุงยางอนามัยสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง “Okamoto” ก็มีวอลลุ่มหดตัวเช่นกัน โดยติดลบ 2.9% มีเพียงวันทัชที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2%
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ภาพรวมตลาดติดลบ ซีอีโอได้ไขคำตอบให้ฟังว่า ไม่ได้เป็นเพราะคนใช้ถุงยางอนามัยน้อยลง แต่เป็นเพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดถุงยางอนามัยแข่งขันกันรุนแรง บวกกับผู้บริโภคมีวิธีการคุมกำเนิดด้วยทางเลือกอื่น ทำให้มูลค่าตลาดรวมปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,423 ล้านบาท ติดลบเล็กน้อย 0.6%
รุกยอดขาย Playboy เจาะกลุ่มระดับบน
ส่วนถุงยางอนามัย Playboy เอง ทาง TNR บุกทำตลาดมาก จากตัวแบรนด์เองที่เป็นสากล โดยเฉพาะ
ในตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน ซึ่งมีผลสำรวจออกมาว่าแบรนด์อันดับ 1 ในใจผู้ชายจีนคือ “Playboy” บวกกับบริษัทมีจุดแข็งเรื่องการผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัยจาก “น้ำยางธรรมชาติ” อยู่แล้ว ทั้งสินค้าที่เป็น Own brand อย่างวันทัช และสินค้าที่รับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) และงานประมูล ปีนี้จึงตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% จากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 1,460 ล้านบาท
สำหรับการขยายตลาดแบรนด์ Playboy ในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ บริษัทจะเปิดขายช่องทางออนไลน์ ทาง “Amazon” ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีแผนวางจำหน่ายสินค้าผ่าน “Wallmart” ด้วย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นเป้าหมายหลักของ TNR
ปี 2562 นี้ จึงตั้งเป้ายอดขายเฉพาะแบรนด์ Playboy 250 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 230%
ยอดส่งออกได้รับผลกระทบจากเทรดวอร์มั้ย?
ด้าน “สุเมธ มาสิลีรังสี” ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินหรือ CFO ระบุถึงภาวะเศรษฐกิจโลกว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอและได้รับผลกระทบจากการเจรจาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน แต่ TNR ไม่ได้เป็นกังวล แม้ว่ามีรายได้จากการส่งออกเป็นหลัก เนื่องจากมีการมอนิเตอร์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด และคาดการณ์ว่าถุงยางอนามัยยังคงเป็นสินค้าในกลุ่ม Consumer Products ที่เติบโตดี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งวันทัชและ Playboy จะมี “โอกาสทางธุรกิจ” อยู่เยอะ แต่ก็อย่าลืมว่าถุงยางอนามัยเป็นสินค้าที่ขึ้นอยู่กับ “ความพอใจ” ของผู้บริโภคล้วนๆ ถุงยางอนามัยแบรนด์ญี่ปุ่นก็ออกนวัตกรรมใหม่ๆ มาเรื่อยๆ แม้ว่าจะกินมาร์เก็ตแชร์ในตลาดได้ไม่สูงนัก แต่ทำการตลาดให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย มีช่องทางให้สั่งซื้อโดยตรง จากผลสำรวจในปัจจุบันที่คนนิยมซื้อถุงยางอนามัยผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น หรืออย่างในทวิตเตอร์ ก็มียอดขายเป็นล่ำเป็นสันเลยทีเดียว หรืออย่างร้านขายถุงยางอนามัยออนไลน์บางร้านก็มีสโลแกน “ไม่เขิน ไม่อาย สั่งออนไลน์ดีกว่า”
รูปประกอบจาก Okamoto Thailand
TNR ก็ต้องสู้ศึกในสนามนี้ โดยเฉพาะทิศทางหลังมีสินค้า Global brand กับเป้าหมายการบุกขยายตลาดในซีแอลเอ็มวีมากยิ่งขึ้น
ราคาหุ้น TNR สะท้อนอะไรได้บ้าง
ในส่วนของราคาหุ้น TNR เอง แม้ว่าจะไม่ค่อยมีบทวิเคราะห์ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเป็นสินค้าในกลุ่ม Consumer products ซึ่งนักลงทุนมักจะชอบหุ้นค้าปลีกมากกว่า แต่อัตราส่วนราคาหุ้นเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้น (พี/อี) TNR อยู่ในระดับ 12.48 เท่า ยังต่ำกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมเดียวกันมาก ซึ่งอยู่ที่ 18.47 เท่า ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ดีอี) อยู่ที่ 0.67 เท่า ก็ถือว่าทำได้ดี เพราะสามารถรักษาดีอีได้ต่ำกว่า 1 เท่า
ที่มา สรุปข้อมูลบริษัทจดทะเบียน SET ของบริษัท TNR และ https://www.rb.com/about-us/