ตลาดหุ้น “หลังการเลือกตั้ง” นักลงทุนต้องรับมือยังไง
>> ตลาดหุ้น “หลังการเลือกตั้ง” นักลงทุนต้องรับมือยังไง
หลายๆ คน เฝ้ารอการนับคะแนนเลือกตั้งตลอดทั้งวันจบแทบจะนำคะแนนไปฝันกันต่อ เช้ามาคะแนนการเลือกตั้งทั่วประเทศ ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ เพราะยังมีปัญหาที่ต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจัยฉัย และแถลงข่าว “สรุปตัวเลขส.ส.” ในวันนี้
นอกจากจะลุ้นว่า “รัฐบาลใหม่” จะเป็นใครกันบ้าง นักลงทุนหลายคน รอลุ้นดัชนีฯ และหุ้นในพอร์ตตัวเอง สำหรับช่วงหลังเลือกตั้ง ทิศทางตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ให้คำตอบในรายการ Live with Guru ถอดรหัสการลงทุนหลังเลือกตั้ง ในหลายแง่มุมที่น่าสนใจ
เริ่มจากประเด็นแรกที่นักลงทุนห่วงมากที่สุดคือ หุ้นชั้นควรจะถือต่อหรือขายเลย หุ้นจะขึ้นเท่าไหร่ จะลงเท่าไหร่ มีความเสี่ยงหรือไม่ สำหรับเรื่องของทิศทางดัชนีหลังเลือกตั้ง หรือ Post Election Rally คุณไพบูลย์ให้คำตอบในประเด็นนี้ว่า “ยืนยันว่าตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้น หุ้นไทยยังมีมูลค่า (Valuation) ที่น่าสนใจ”
แล้วดัชนีหุ้นไทยจะไปถึงไหน?
สำนักวิจัยต่างๆ มองว่าดัชนีตลาดหุ้นจะไปได้ถึง 1,750-1,800 จุด ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดหุ้นทั่วโลกมีเซนทิเมนท์ดีขึ้น ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยจะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ชะลอตัว ก็เพราะเรื่องการค้าเป็นหลัก เพราะฉะนั้นมองว่าถ้าผู้นำทั้ง 2 ประเทศคุยกันได้ เศรษฐกิจโลกก็น่าจะไปสู่ระดับที่ดีขึ้น
ประเด็นต่อมา หากดัชนีขึ้น แล้วเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จะไหลเข้าเท่าไหร่นั้น คุณไพบูลย์มองว่า ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าแน่ๆ อยู่แล้ว แต่ขณะนี้ นักลงทุน “รอความชัดเจน” ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีเลือกตั้ง เคยคาดการณ์ว่าจะมีฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหลังเลือกตั้ง 1 แสนล้านบาท
“นอกจากโมเมนตัมเรื่องการเลือกตั้ง และการฟอร์มทีมของรัฐบาลแล้ว ช่วงเดือนแรกของปี เม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามาไม่กี่พันล้านบาท แต่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 2 หมื่นล้านบาท บวกกับปีที่แล้วเงินไหลออก 3 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นฟันด์โฟลว์ก็น่าจะไหลเข้า ทั้งการที่ฟันด์โฟลว์เราไหลออกเยอะ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องสภาพคล่องทั่วโลกเริ่มนิ่งขึ้น ในอีก 6 เดือนข้างหน้า จากการลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางทั่วโลก” นายไพบูลย์กล่าว
เลือกตั้งจบช่วยสร้างความมั่นใจ
การเลือกตั้งครั้งนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ กรณี Worst case เช่น พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนมาเป็นลำดับ 3 ก็ไม่เกิดขึ้น แต่กลับเป็นพรรคที่ได้ “คะแนนดิบ” มากที่สุด เพราะฉะนั้นจึงมองว่าพรรคพลังประชารัฐมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล เรื่องนี้จึงไม่มีอะไรน่ากังวล
แต่ประเด็นที่นักลงทุนกังวลมากกว่าคือ เสถียรภาพและความต่อเนื่องของรัฐบาล สำหรับหน้าตาของรัฐบาล ก็เช่นเดียวกับการเลือกตั้งของสหรัฐหรือมาเลเซียก็ดี นักลงทุนไม่จำหรอกว่ารัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีใครบ้าง จำได้แต่ประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ นักลงทุนก็ไม่ได้สนใจว่า “นายก.” หรือ “นายข.” หรือใครที่จะเป็นรัฐบาล
นอกจากนี้แล้วในกรณีที่จะเกิด Dead Lock ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มองว่ายังไงก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นและไปต่อได้ รัฐบาลนี้อยู่ได้เต็มอำนาจ รัฐบาลทั่วไปในช่วงที่มีการเลือกตั้ง อาจจะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่นี่เป็นรัฐบาลเต็มอำนาจ ทำอะไรก็ได้หมด ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้น เศรษฐกิจก็มีคนดูแล
ต่างชาติจะมั่นใจในเสถียรภาพรัฐบาลไหม
การจัดตั้งรัฐบาลไว้ 2 Scenario คือ 1.เพื่อไทยน่าจะได้คะแนนดิบมากที่สุด และ 2.คะแนนเสียงของประชาธิปัตย์ที่จะมีผลในการจัดตั้งรัฐบาล แต่กลายเป็นว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามคาด กลายเป็นว่าพลังประชารัฐได้คะแนนดิบมากที่สุด ขณะที่ประชาธิปัตย์ได้คะแนนต่ำมาก เพราะฉะนั้นภาพเดิม จากที่คาดการณ์ว่า “พรรคขนาดกลาง” จะต้องวิ่งจับมือจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ จากบรรยากาศที่อึมครึม แต่กลายเป็นพลังประชารัฐมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ปัจจัยต่างๆเริ่มคลี่คลาย
สิ่งที่เกิดขึ้นคือเหลือ 2 แกน! การจัดตั้งรัฐบาลจึงไม่ “ยาก” เพราะอยู่คนละขั้วพอดี คุณไพบูลย์ให้มุมมองไว้ 2 แง่
- ข้อดีคือ ในแง่นโยบาย น่าจะสร้างความชัดเจนได้ระดับหนึ่ง
- ข้อที่สร้างความกังวลคือ เสียงทั้ง 2 ฝ่ายใกล้กันมาก การที่คะแนนทิ้งห่างกันไม่เยอะ แม้พลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แต่เสียงเกินครึ่งที่ห่างกันนิดเดียว อาจจะมีปัญหาในอนาคตได้
แล้วคะแนนเสียงเท่าไหร่ ถึงจะมี “เสถียรภาพ” ในทางการเมือง พรรคที่จัดตั้งรัฐบาลจะต้องมี 300 เสียงขึ้นไป
เพื่อไทย VS. พลังประชารัฐ นักลงทุนต้องตั้งรับอย่างไร
สำหรับเรื่องนโยบาย ทั้ง 2 พรรคเน้นเศรษฐกิจฐานรากเหมือนกัน แต่อาจจะเรียกชื่อกันคนละชื่อ ส่วนถ้าโฟกัสขึ้นมาอีกหน่อย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างการลงทุนรถไฟฟ้า แม้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ไม่ได้ทิ้งกัน เพราะฉะนั้นจึงมองว่า
“นโยบายทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ได้แตกต่างกันจนทำให้เศรษฐกิจพุ่งปรี๊ดปร๊าดกันไปเลย หรือทำให้เศรษฐกิจตกต่ำไปเลย”
เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด 70% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งขับเคลื่อนจากเอกชนเป็นหลัก
ทิสโก้ประเมินจีดีพีไว้เท่าไหร่? หลังได้รัฐบาลใหม่
ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศ ปีนี้เศรษฐกิจไม่น่าโตเกิน 4% ไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม ซึ่งจริงๆ แล้วทิสโก้ประเมินจีดีพีปีนี้ไว้ 3.5% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์จีดีพี 2562 ไว้ที่ 3.8% เพราะฉะนั้นการขึ้นลงของเศรษฐกิจจึงอยู่ที่เสถียรภาพมากกว่านโยบาย
ความท้าทาย หาก “ลุงตู่” ได้เป็นนายกฯ ต่อ
5 ปีที่ผ่านมา เราเคยชินกับการบริหารงานโดยพรรคเดียว ไม่มีฝ่ายค้าน แต่หลังจากนี้ การบริหารจะไม่ง่ายเหมือนเดิม โดยเฉพาะในแง่ของการผลักดันนโยบายจะสร้างปัญหาได้พอสมควร อย่างไรก็ตามก็ต้องให้โอกาสพลังประชารัฐ เพราะอย่าลืมว่าการที่ “ฝ่ายค้าน” มีเสียงห่างกันไม่มาก ในอัตรา 250:250 หรือ 260:240 หรือห่างกันแค่ 10-20 เสียง แม้จะมีตัวแปรจาก “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์”
แต่การที่เสียง “ปริ่มๆ” จะทำให้ภาพการทำงานในสภาฯ คล้ายสหรัฐอเมริกา ที่ทรัมป์จะโหวตนโยบายอะไร ต้องนับเป็นเสียงกันเลยทีเดียว ซึ่งสำหรับการเมืองไทยเอง ไม่อยากให้เกิดภาพอย่างนั้น เพราะจะทำให้การดำเนินโยบายสะดุด ซึ่งต่างชาติก็เห็นเหมือนเรา ดังนั้นเมื่อเสียงส.ส.เกินมาไม่มาก ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าจริง แต่ก็จะไหลเข้าไม่มาก เพราะอย่าลืมว่าต่างชาติก็มี “ช้อยส์” อื่น ให้ลงทุนเช่นกัน
ส่วนวันนี้ที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรง “ทิสโก้” ขอสรุปอีกที เป็นตลาดหุ้นไทยเราโดน “หางเลข” เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาค และเรายังโชคดีที่ลงน้อยกว่าชาวบ้าน ส่วนหนึ่งก็เพราะเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าการเมืองจะไปได้ดี ซึ่งก็ต้องรอดูผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนในช่วง 1-2 วันนี้ จึงจะน่าตัดสินใจอะไรได้มากขึ้น
แล้วควรลงทุนในหุ้นตัวไหน?
ลงทุนอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งก็มีอยู่หลายเซ็คเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่โตได้อยู่แล้ว สินเชื่อเริ่มนิ่ง มีสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันดอกเบี้ยโลกกดดันน้อย ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มฟื้นได้ ตลาดหุ้นทั่วโลกกลางปีจึงน่าจะเริ่มซึบซับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองหุ้นไทยลง 20.38 จุด
เป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ภายหลังตลาดหุ้นปิดทำการ "ภากร ปีตธวัชชัย" กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของตลาดหลักทรัพย์ไทยในวันนี้เป็นไปตามภาวะตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่ต่างปรับตัวลดลง จากความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแข็งแกร่ง ในส่วนตลาดทุนไทย บริษัทจดทะเบียนไทยมีศักยภาพในการเติบโต
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานที่ดีและมีแนวโน้มการเติบโต และติดตามปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ส่งผลต่อการลงทุน เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
ที่มา https://www.facebook.com/tiscomastery/videos/603623943486102/