กรมการค้าต่างประเทศ เผยยอดใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเดือน ม.ค. มูลค่า 5,734 ล้านเหรียญ

>>

Hightlight

  • กรมการค้าต่างประเทศ รายงานยอดการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเดือนมกราคม มูลค่า 5,734 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.08% ทิศทางเดียวกับการส่งออก 
  • อาเซียนยังเป็นตลาดที่มีการใช้สิทธิสูงสุด ตามด้วยจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและอินเดีย
  • มั่นใจปีนี้ ยอดใช้สิทธิฯทั้งปีโต 9%


นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือนมกราคม 2562 ว่า มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 5,734.47 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ร้อยละ 74.60 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.08 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 5,323.15 ล้านเหรียญสหรัฐ


และมูลค่าการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 411.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ลดลง เป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของไทยในช่วงเดือนมกราคม 2562 ที่มีอัตราลดลงร้อยละ 5.65 โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากผลกระทบของสงครามการค้า การผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก และการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของหลายประเทศ


ทั้งนี้การใช้สิทธิประโยชน์ฯ แยกเป็นการใช้สิทธิภายใต้ FTA ปัจจุบันที่มี 12 ฉบับ และกำลังมีฉบับที่ 13 คือ ความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งปีแรกนี้ โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ 5,323.15 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 76.58 ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง ลดลงร้อยละ 2.82 โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. อาเซียน (มูลค่า 2,052.36 ล้านเหรียญสหรัฐ)
  2. จีน (มูลค่า 1,243.63 ล้านเหรียญสหรัฐ)
  3. ญี่ปุ่น (มูลค่า 705.25 ล้านเหรียญสหรัฐ)
  4. ออสเตรเลีย (มูลค่า 642.29 ล้านเหรียญสหรัฐ)
  5. อินเดีย (มูลค่า 354.91 ล้านเหรียญสหรัฐ) 


และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 90.43 รองลงมาคือ เกาหลี ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 18.88 และอินเดีย มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 12.66 ซึ่งทั้ง 3 ตลาดดังกล่าวนอกจากจะมีอัตราการขยายตัวสูงแล้วยังพบว่ามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงเช่นเดียวกัน

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. ไทย-เปรู (ร้อยละ 114.74 )
  2. ไทย-ชิลี (ร้อยละ 101.20)
  3. ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 99.37)
  4. อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 94.11)
  5. อาเซียน-จีน (ร้อยละ 90.18)


และ รายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. รถยนต์บรรทุก
  2. ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ
  3. น้ำมันปิโตรเลียม
  4. ข้าว
  5. กุ้งอื่นๆ แช่แข็ง

 

นายอดุลย์ กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิ GSP ที่ปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์จาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย 

  1. สหรัฐฯ
  2. สวิตเซอร์แลนด์
  3. รัสเซียและเครือรัฐ เอกราช
  4. นอร์เวย์
  5. ญี่ปุ่น

โดยในเดือนมกราคม 2562 มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 411.32 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการใช้สิทธิร้อยละ 55.86 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัวร้อยละ 8.62 โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณร้อยละ 96 ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 396.59 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิร้อยละ 64.24 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 617.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.45 สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ
  2. ถุงมือยาง
  3. อาหารปรุงแต่ง
  4. เครื่องดื่มอื่นๆ
  5. เลนส์แว่นตา

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 กรมฯ ได้ประมาณการเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ร้อยละ 9 หรือคิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มการขยายตัวไปในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และการพัฒนาระบบการให้บริการของกรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่คาดว่าจะมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยให้เติบโต