Hightlight
- บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือAF เป็นผู้ให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นโดยการรับซื้อลดลูกหนี้การค้า จากการรับโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินลูกค้าของบริษัท
- ปรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจใหม่ ให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่งผู้ประกอบการ SMEs ต่างจังหวัด
- กลุ่มลูกค้าโรงพยาบาลเอกชน ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท และกลุ่มผู้ประกอบการในนิคมฯ ภาคตะวันออก
นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AF ผู้ประกอบการธุรกิจแฟคตอริ่ง และผู้ให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการ SMEs เปิดเผยว่า ภายหลังการปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน มุ่งเน้นการให้บริการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการบริการที่สะดวกรวดเร็ว
ล่าสุดเตรียมเจาะตลาดผู้ประกอบการ SMEs ต่างจังหวัด อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท ตามพื้นที่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพ เนื่องจากการลงพื้นที่เพื่อประเมินความเป็นไปได้ทางการตลาดพบว่ายังมีกลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมาย ที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
ปัจจุบัน AF ได้เริ่มดำเนินการตามแผนขยายธุรกิจไปยังพื้นที่จังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ นอกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มจากพื้นที่ภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs มีความสนใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ AF เพื่อขอสินเชื่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังวางกระบวนการอำนวยสินเชื่อ ได้มีธุรกิจยื่นขอสินเชื่อมาแล้วจำนวนหนึ่ง และ AF คาดว่าจะอนุมัติสินเชื่อแฟคตอริ่งให้กับลูกค้านอกพื้นที่กทม. และปริมณฑล ภายในไตรมาส 1/2562
เตรียมขยายฐานให้บริการสินเชื่อ
นอกจากนี้ AF เตรียมที่จะขยายฐานการให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่งไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเพิ่มเติม เนื่องจากเล็งเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งหลังจากภาครัฐบาลให้การสนับสนุนพื้นที่ดังกล่าวจนได้รับการส่งเสริมการลงทุน ขึ้นเป็นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก เช่น ธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบอุปกรณ์ เครื่องจักร ตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง ใน Supply Chain มีความจำเป็นที่จะใช้เงินทุนหมุนเวียนภายในโครงการต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ AF มีแผนในการเข้าไปขยายฐานกลุ่มผู้ประกอบการจังหวัดดังกล่าว
จากการประเมินหลังลงพื้นที่ AF เล็งเห็นว่า ผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ต่างจังหวัด มีโอกาสเติบโตสูง เพียงแต่ด้วยความพร้อมด้านสินทรัพย์หลักประกัน ส่งผลให้เข้าถึงแหล่งทุนหมุนเวียนในระบบ ทำให้การขยายธุรกิจมีข้อจำกัด และนอกจากนี้ การขยายธุรกิจของ AF ไปพื้นที่ที่มีศักยภาพ ยังเป็นการบริหารความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากกลุ่มผู้ประกอบการในกรุงเทพเพียงอย่างเดียว
ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ AF มองเห็นโอกาส และช่องทางในการขยายตลาด ซึ่งในเบื้องต้นตั้งเป้าการปล่อยพอร์ตสินเชื่อแฟคตอริ่งปีแรกในพื้นที่นอกเขตกทม. และปริมณฑล ประมาณ 15% ของมูลค่าพอร์ตสินเชื่อรวมที่คาดการณ์ไว้ โดยการขยายธุรกิจครั้งนี้ถือเป็นการนำร่อง ก่อนใช้ระบบออนไลน์ด้านปฏิบัติการสินเชื่อเต็มรูปแบบต่อไป ซึ่งจะทำให้เห็นความเชี่ยวชาญด้าน Digital Factoring ของ AF เด่นชัดมากขึ้น สอดคล้องแผนธุรกิจด้าน Digital Transformation ที่วางแนวทางไว้แล้วตั้งแต่ปี 2561
ทั้งนี้ AF ยังคงมีการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการให้บริการในรูปแบบออนไลน์ ที่มีความทันสมัย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้งานของลูกค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเปิดให้บริการดังกล่าว ในปี 2562 ภายหลังการพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ (Core System) ปลายปี 2561 ที่ผ่านมา