นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.24 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า ตัวแทนกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)และพันธมิตรแจ้งขอเลื่อนการเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกออกไปก่อน
จากเดิมที่มีกำหนดเจรจาเงื่อนไขนอกขอบเขตการประกวดราคา(TOR)กันในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เนื่องจากยังเจรจากับพันธมิตรไม่เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม รฟท.ได้แจ้งไปยังกลุ่มซีพีว่า แม้ว่าการเลื่อนนัดเจรจาสามารถทำได้ แต่ต้องการให้กลุ่มซีพีชี้แจงเหตุผลให้ชัดเจนว่าจะเลื่อนไปเป็นเมื่อใด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอยืนยันวันเจรจาใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า
ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) เปิดเผยว่าสำหรับกรณีกระแสข่าวเรื่องความไม่แน่นอนของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสองสาย มูลค่ารวม 4 แสนล้านบาท นั้นหากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลกระทบกับการเจรจาของเอกชนจริงคงไม่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะรัฐบาลต้องไม่ยอมเอกชนง่ายๆในการเจรจาเรื่องทรัพย์สินของแผ่นดิน
โดยเฉพาะการเสนอเงื่อนไขนอก ทีโออาร์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมให้ไม่ได้ทั้งการปรับแนวเส้นทาง การย้ายสถานี เงื่อนไขทางการเงินและการลดขนาดสัดส่วนหุ้นในกิจการร่วมค้าเป็นต้น ขณะที่โครงการรถไฟไทย-จีน มีปัญหาในขั้นตอนลงนามสัญญาที่ 2.3 นั้น ขอให้รัฐบาลรักษาผลประโยชน์ประชาชนโดยต้องไม่ยอมให้ประเทศใดหรือรัฐบาลใดมาเอาเปรียบบ้านเราได้ ทั้งนี้หากต้องล้มดีลโครงการทั้งสองจริง เชื่อมั่นว่าประชาชนยังคงแฮปปี้กับการตัดสินใจและประชาชนพร้อมสนับสนุนรัฐบาลที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ
นายสาวิทย์กล่าวต่อว่าการจัดตั้งกรมรางนั้นทางสหภาพฯยังคงมีประเด็นสงสัยในเรื่องของการควบคุมกรรมสิทธิ์ประกอบกิจการทางราง ซึ่งต้องระบุให้ชัดเจนเรื่องเงื่อนไขของงานประกอบกิจการทางราง ที่ดินตามแนวเส้นทางและตัวสถานีเป็นต้น จะต้องมีการจัดสัดส่วนขอบเขตอำนาจให้ชัดเจน
ส่วนประเด็นเรื่องการกำหนดมาตรฐานรถไฟให้กับเอกชนผู้ประกอบอุตสาหกรรมทางรางนั้นเห็นด้วยเพราะถือว่าเป็นการยกระดับงานบริการรถไฟของประเทศ ส่วนกรณีที่บริษัทเอกชนสนใจเข้ามาร่วมพีพีพีหรือร่วมประกอบกิจการเดินรถเพื่อขนส่งสินค้าโดยเฉพาะในเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ในภาคอีสานซึ่งสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายโลจิสติกส์ทางรางไปยังพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ(อีอีซี)ได้ ทางสร.รฟท.ไม่ขัดข้องหากจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาเดินรถในบางเส้นทาง แต่ทั้งนี้การกำหนดสัดส่วนแบ่งรายได้ให้กับรฟท.ต้องเป็นธรรม ตลอดจนร่างเอกสารขอบเขตการประกวดราคา(TOR) ต้องเป็นไปบนพื้นฐานคือผลประโยชน์ของชาติ