บล.เอเซีย พลัส มองทิศทางหุ้นไทยไตรมาส 2/62 ดีขึ้น

>>

Hightlight

  • บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด ในกลุ่มบมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) มองทิศทางตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2/2562 สดใสขึ้น หนุนด้วยการเมือง จากการที่จะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง     
  • กระแสของฟันด์โฟลว์ น่าจะไหลออกจำกัด หลังสหรัฐฯส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ กดดันให้ Bond Yield 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวลงแรง มาอยู่ที่ 2.4% ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และต่ำกว่า Bond Yield 10 ปีของไทยที่ 2.58%   
  • เป้า SET Index ปีนี้ อยู่ที่ 1,705 จุด

 
นายทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า Outlook ตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 นี้ เรามองดีขึ้น ตัวหนุนหลักๆ มาจากการเมือง แม้ว่าช่วงการจัดตั้งรัฐบาลอาจขลุกขลัก มีอุปสรรค แต่โดยภาพใหญ่เรามองเป็นพัฒนาการบวก เนื่องจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

และจากนี้ไปตลาดจะให้น้ำหนักประเด็นหลักๆ คือ การเมืองในประเทศ ผลการเลือกตั้งตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้จำนวนส.ส.กระจายตัวกันค่อนข้างมาก ทำให้เกิดขั้วทางการเมืองที่มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น จึงเกิดปรากฏการณ์การแย่งกันจัดตั้งรัฐบาล ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ มีอุปสรรคมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

โดยกรอบเวลาการเลือกตั้งรอบนี้ ครณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะรับรองผลการเลือกตั้งให้ครบ 95% วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ดังนั้นช่วงเดือนเศษก่อนการรับรองผล จะเป็นช่วงการเจรจาต่อรองจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้จนสำเร็จ และกลายเป็นพัฒนาการเชิงบวกของการเมืองไทย ที่กลับมาอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อ Fund Flow และ SET Index

 

ทิศทางฟันด์โฟลว์ 

ขณะที่เชื่อว่ากระแสฟันด์โฟลว์ น่าจะไหลออกจำกัด หลังสหรัฐฯส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ กดดันให้ Bond Yield 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวลงแรง มาอยู่ที่ 2.4% ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และต่ำกว่า Bond Yield 10 ปีของไทยที่ 2.58% ด้วยส่วนต่างที่ลดลงมาจนติดลบ ถือเป็นเกราะป้องกัน Fund Flow ไหลออกจากไทย ประกอบกับผลตอบแทนจากตราสารหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ น่าจะดึงเม็ดเงินกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น

ผลประกอบการของบจ.ในไตรมาส 1/2562 คาดว่ากำไรจะฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการบันทึก stock gain ของกลุ่มพลังงาน ส่วนปัจจัยภายนอก เรื่องของสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนผ่อนคลายลง โดยสหรัฐฯยังคงบีบจีนให้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น โดยใช้การชะลอขึ้นภาษีนำเข้าวงเงิน 2 แสนล้านเหรียญฯ อัตรา 10%เป็นข้อต่อรองต่อไป

แต่ผลกระทบจากเก็บภาษีนำเข้า 2 รอบวงเงิน 5 หมื่นล้านเหรียญฯ ภาษีนำเข้า 25% ยังมีอยู่ และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีน หลังจากผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงกลางปี 2561

ขณะที่วัฎจักรดอกเบี้ยโลกขาขึ้นได้สิ้นสุดลงแล้ว และมีแนวโน้มปรับลง เห็นได้จากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ล่าสุด ส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน โดยดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% หลังได้ขึ้นดอกเบี้ยฯ ไปนับตั้งแต่ธันวาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน รวม 9 ครั้ง ราว 2.25% และเชื่อว่าประเทศอื่นๆ จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐฯด้วย

 

การขยายตัวของเศรษฐกิจล่ะ? 

คาด  GDP Growth ปี 2562 เติบโต 3.4% ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากในประเทศคือ การบริโภคครัวเรือนและการลงทุนจากการสานต่อและเดินหน้ากระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิตลาดปี 2562 เอเซีย พลัสได้ปรับลดประมาณการลง เพื่อสะท้อนผลกระทบจากการที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต้องตั้งสำรองรายการผลประโยชน์พนักงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แรงงาน ฉบับแก้ไข รวมถึงการปรับสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยน จากเดิมกำหนดที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ภายหลังการปรับปรุง คาดกำไรสุทธิตลาดรวมที่ราว 1.06 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ที่ 106.58 บาท/หุ้น แต่ด้วยฐานกำไรที่ต่ำกว่าปกติในงวดปี 2561 ทำให้ EPS Growth ของตลาดหุ้นไทย ยังเติบโตได้ถึง 9% ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน

โดยหากคงระดับ PER เป้าหมายที่ 16 เท่า จะให้เป้าหมาย SET Index ปีนี้ อยู่ที่ 1,705 จุด มี Upside จำกัด ราว 4.4% ดังนั้นสายงานวิจัย เอเซีย พลัส จึงคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้น 50% และให้เน้นไปที่หุ้นรายตัว ที่แนวโน้มกำไรเด่นในไตรมาส 1/62 เช่น  PTT, STPI และหุ้นที่เติบโตตามการลงทุนและการบริโภคในประเทศ เช่น BBL, BJC, BGRIM, JMT, M, STEC รวมทั้งหุ้นผันผวนน้อยกว่าตลาด เช่น BCH