หลังเรียนจบปริญญาตรี ทางด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยบอนด์ ประเทศออสเตรเลีย “จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ก็กลับมารับช่วงต่อกิจการร้านเช่าวิดีโอ
ในปี 2542 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ม้วนวิดีโอกำลังกลายเป็นสินค้าในตำนาน เพราะถูกแทนที่ด้วยแผ่นวีซีดีและแผ่นดีวีดี เทคโนโลยีภาพและเสียงสุดล้ำในยุคนั้น เมื่อธุรกิจในรุ่นปะป๊ามะม้าไม่ได้ไปต่อ เพราะยุคสมัยเปลี่ยน ถ้าเป็นลูกหลานในครอบครัวอื่น อาจเลือกปิดกิจการ แล้วหันไปทำงานในบริษัทใหญ่โต ให้ป๊ากับม้าได้พักผ่อน เลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน
แต่ไม่ใช่กับ “จักรพงษ์” ที่กิน นอน และโตมากับวิดีโอทุกม้วนในร้าน
เธอนั่งมองม้วนวิดีโอที่คุ้นเคยกับมันมาตั้งแต่เล็กจนโต แล้วแอปเปิลก็หล่นใส่หัว แบบเดียวกับที่หล่นใส่นักฟิสิกส์ “เซอร์ไอแซก นิวตัน” ตอนที่เขาค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วง
แอปเปิลบนหัวของจักรพงษ์ ทำให้เธอ “ได้เห็น” ในสิ่งที่ “มอง” มาหลายปีดีดัก ว่าแท้จริงแล้วคุณค่าของวิดีโอก็คือ เรื่องราวของหนังที่ถูกบรรจุอยู่ภายใน
เทคโนโลยีทำให้ม้วนวิดีโอเสื่อมความนิยมลงได้ แต่ไม่อาจแตะต้องคอนเทนต์ดีๆ ที่มีคุณค่าเหนือกาลเวลา แม้แต่เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ “บิล เกตส์” เอง ยังเคยออกปากว่า content is king ต่อให้ฮาร์ดแวร์ดีเลิศแค่ไหน แต่ถ้าขาดซอฟแวร์ดีๆ ผู้คนก็ไม่อาจเข้าถึงการใช้งาน
นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมไมโครซอฟท์ถึงไม่เคยหยุดพัฒนาวินโดว์ซีรีส์
จุดเปลี่ยนของร้านเช่า ST Video ย่านบางแค ในมือของทายาทรุ่นที่ 2 คือ การข้ามฟากจากธุรกิจปลายน้ำ มาเป็นธุรกิจกลางน้ำในยุคแรกๆ ในนามบริษัท “เจเคเอ็น” ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์สารคดี Walking with dinosaurs จากบีบีซี ประเทศอังกฤษ มาเผยแพร่
ทว่าการเดินไปพร้อมๆ กับไดโนเสาร์ของเจเคเอ็น ในช่วงแรกกลับหกล้มไม่เป็นท่า เพราะคนไทยให้ความสนใจกับสารคดีน้อยกว่าหนังแอคชั่น หรือเทปตลกคาเฟ่
เมื่อสารคดีเป็นรสนิยมเฉพาะกลุ่ม จักรพันธ์ก็เลยตีลังกาคิดใหม่ เปลี่ยนจาก “mass” เป็น “niche” เปลี่ยนจาก “ลงทุน” ค่าโฆษณาแพงหูฉี่ในทีวี มา “ขายผ่าน” ทีวี ไดเร็คมันเสียเลย
“โอ้! พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก” จากยอดขายไดโนเสาร์ที่คลานต้วมเตี้ยมในตอนแรก กลับมาสปีดรายได้ราวกับหนัง fast and furious ยังไงยังงั้น
พอเปิดตลาดหนังสารคดีได้เป็นผลสำเร็จ จักรพงษ์ก็รีบตีเหล็กตอนที่ยังร้อน ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์สารคดีดังๆ จากเนชั่นแนล จีโอกราฟิก และดิสคัฟเวอรี แชแนล มาสร้างกระแสในกลุ่มคน save the world ที่เบื่อหนังเลือดสาด กับเอียนละครผัวๆ เมียๆ
จักรพงษ์ใช้ดาราเป็นแม่เหล็กโปรโมทหนังสารคดี ทั้งพากย์เสียง และเป็นพรีเซนเตอร์ และขายลิขสิทธิ์งานปรับแต่งคุณภาพดี ให้เครือข่ายร้านค้าปลีกอย่างแมงป่อง ซึทาญ่า และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
(แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์)
จนจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เห็นแววเจเคเอ็นว่าน่าจะไปได้ไกล จึงตกลงใจร่วมทุนด้วย ในปี 2548 หลังจากนั้นมา เจเคเอ็นก็เหมือนธุรกิจติดปีก นำเข้าซีรีส์ดังๆ จากทั้งฝั่งเอเชียและอเมริกา มาสร้างมหกรรมความบันเทิงให้คนดูในหลากหลายช่องทางที่ซื้อลิขสิทธิ์จากเจเคเอ็นไปแพร่ภาพและผลิตจำหน่ายต่อ
หลังจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ หันไปทุ่มสุดตัวกับธุรกิจทีวีดิจิทัล เลยขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดให้จักรพงษ์ในปี 2556 ตั้งแต่นั้นมา เจเคเอ็นก็กลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้ง
เส้นทางการเติบโตของเจเคเอ็น หลายแง่มุมแทบไม่ต่างอะไรกับพล็อตซีรีส์ ที่จักรพงษ์ซื้อลิขสิทธิ์มาทำตลาด ความโด่งดังของ “แดจังกึม” ที่เคยออกอากาศทางช่อง 3 เป็นละครย้อนยุคเกาหลีน้ำดีที่ตัวเอกคิดดี ทำดี และยึดมั่นในความอดทน จนได้ดีในที่สุด กว่าเจเคเอ็นจะยืนหนึ่งในธุรกิจพันล้านได้ทุกวันนี้ ก็ต้องสะกดคำว่าอดทนมานับพันครั้งเช่นเดียวกัน
“CSI” ซีรีส์ตระกูลสืบสวนสอบสวน วิเคราะห์หาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ก็พอทำให้เห็นภาพการทำธุรกิจของเจเคเอ็นได้ว่าความรอบรู้ (knowledge) ความเชี่ยวชาญ (expertise) และประสบการณ์ตรง (experience) ของจักรพงษ์ที่โตมาในร้านเช่าวิดีโอ ทำให้เขามี big data รู้ว่าคนเช่าชอบดูหนังแนวไหน ทำไมซีดีตลกถึงขายดี หรือช่วงเวลาไหนคนเข้าร้านมากที่สุด
“การคัดเลือกคอนเทนต์ เป็นทักษะที่เจเคเอ็นมีอยู่ในตัว ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน เราเข้าใจว่าคนไทยต้องการคอนเทนต์แบบไหน คนไทยชอบดูละครชีวิต ผจญภัยและสยองขวัญ แต่รายการจริงจัง อย่างการประกาศผลรางวัลออสการ์ หรือดราม่าน้ำเน่าแบบผู้ดีอังกฤษ Downton Abbey กลับไม่ค่อยเป็นที่นิยม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะต้องเข้าใจวัฒนธรรมและแนวความคิดของผู้ชมท้องถิ่น”
“The Walking Dead” ซีรีส์สุดฮิตที่ต้องเอาตัวให้รอดจากผีดิบและสังคมมนุษย์ด้วยกันเอง ชีวิตจริงไม่มีผีดิบ แต่ในโลกของธุรกิจ ผู้บริหารอาจโดนกัดเลือดสาดได้ ถ้าไม่ระวังพอ
จักรพงษ์บอกว่า ร้านเช่าวิดีโอมีผลกระทบจากเทคโนโลยีที่นับวันจะถูกลง ถึงแม้ม้วนวิดีโอจะวิวัฒนาการมาเป็นแผ่นบลูเรย์ ก็ยังไปไม่รอด เพราะคนยุคนี้ดูหนังจากไฟล์ การกระโดดไปเป็นคนจัดหาคอนเทนต์ ถือเป็น comfort zone ที่ทำให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ แต่องค์กรก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองตลอด
“ผู้บริโภคยังมีความต้องการเสพคอนเทนต์ เรียนรู้ประสบการณ์ การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ และรับความบันเทิงอยู่เป็นปกติ เมื่อเรามองไปที่โรงภาพยนตร์ ดีวีดี อุปกรณ์ดิจิทัล นิตยสาร สื่อสังคม โทรศัพท์มือถือ ช่องและสถานีโทรทัศน์ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางหรืออุปกรณ์ที่นำคอนเทนต์สู่ผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้แทนที่เราจะลงไปแข่งกับผู้เล่นรายใหญ่ในแต่ละช่องทางที่กล่าวมา เราควรเป็นผู้จัดหาคอนเทนต์ให้กับพวกเขามากกว่า”
นอกจากซีรีส์ระดับแม่เหล็กที่ตรึงคนดูไว้ได้ การเปิดตลาดซีรีส์อินเดีย อย่างพระพุทธเจ้า หนุมาน รามเกียรติ์ นาคิน และหลากคอลเลกชันภารตะ ก็เป็นอีกผลงานมาสเตอร์พีซที่เจเคเอ็นทำได้ดี และนึกไม่ออกว่า ถ้าไม่ใช่เจเคเอ็นทำ จะมีผู้เล่นรายไหนทำธุรกิจคอนเทนต์สนุกครบรสได้ขนาดนี้
ในขณะที่ “คอนเทนต์” คือราชา ที่ทำให้ผู้คนดื่มด่ำไปกับทุกเรื่องราว “เจเคเอ็น” ก็คือราชินี ที่เข้าถึงความคิดของผู้คนในหลากเรื่องราว
(แอน-จักรพงษ์ และนักแสดงนำเรื่องรามเกียรติ์)
ชีวิตไม่เคยง่ายสำหรับ “แอน จักรพงษ์”
กว่าแสงสปอตไลท์จะสาดส่องมาที่ “แอน จักรพงษ์” ในฐานะซีอีโอ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ที่ประสบความสำเร็จ และในฐานะ “โฉมงามข้ามเพศ” ที่มีความมั่งคั่งระดับพันล้าน ไม่ใช่เรื่องง่าย
ในร้อยปีเราอาจจะเจอแบบแอนสักคนนึง เหมือนกับในโลกนี้จะหาคนแบบ “โอปราห์ วินฟรีย์” พิธีกรทอล์กโชว์คนดัง ก็ไม่ใช่ของง่ายเช่นเดียวกัน
“แอน จักรพงษ์” เป็นผู้บริหารเจนเอ็กซ์ ที่สำเร็จด้วยหนึ่งสมองและสองมือของตัวเอง เหมือนกับการเล่นเกมสร้างเมือง “ซิม ซิตี้” ที่ทุกอย่างต้องอดทนรอ อาศัยจังหวะเวลา และพัฒนาคนกับเมือง ให้มีความสุขและความเจริญไปพร้อมๆ กัน
เธอสามารถรับแรงกดดันจากการดูแลคนอื่น และใส่ใจความรู้สึกของตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง
“ถ้าเราเป็นคนดี มีจิตคิดกตัญญูกับผู้มีพระคุณ เป็นคนรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ขยันสร้างเนื้อสร้างตัวและประสบความสำเร็จแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปได้เสมอ”
เธอเปลี่ยนทุกแรงกดดัน มาเป็นแรงผลักดันให้ชีวิต และเมื่อชีวิตเป็นของเรา ก็พยายามใช้ให้มันคุ้มค่า แทนที่จะหดหู่จนเป็นโรคซึมเศร้า ก็ให้อยู่กับสุนทรียะ ใช้ชีวิตให้รื่นรมย์ แม้ในวันที่แย่ๆ
ครั้งหนึ่งเธอซื้อลิขสิทธิ์สารคดี Walking with Dinosaurs จากบีบีซี ประเทศอังกฤษ นำมาแปลภาษา ผลิตเป็นวีซีดี แล้วขายให้ร้านวิดีโอด้วยกันแต่ถูกปฏิเสธ แทนที่จะยอมจำนน เธอกลับมาคิดใหม่ และมองหาทุกความเป็นไปได้ จนค้นพบโอกาสทางธุรกิจ จากการขายผ่านรายการทีวี “โฮม ช้อปปิ้ง”
ครั้งนั้นจักรพงษ์สามารถทำเงินได้มากถึง 10 ล้านบาท ตอนอายุได้เพียง 20 เศษๆ
และด้วยความคิดนอกกรอบนี้เอง ที่เธอเอามาสานต่อแนวคิด make up & modify ธุรกิจจำหน่ายคอนเทนต์ที่ทรงพลัง และ make over ตัวเอง จนกลายเป็นสตรีข้ามเพศที่สวย เก่ง ฉลาด
จนสปอตไลท์สาดส่องอยู่ทุกวันนี้