แห่ชิงเค้กมอเตอร์เวย์คึกคัก เอกชน 35 รายตบเท้ายื่นซองประมูล

>>

ผู้ประกอบการไทยและ ต่างชาติ สนใจประมูลระบบงานมอเตอร์เวย์ 6.1 หมื่นล้าน รอเคาะ ก.ค.-ธ.ค.นี้ ขณะที่คมนาคมประกาศปรับค่าผ่านทางทุก5ปี

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากการเปิดขายซองร่างเอกสารขอบเขตประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการงานระบบบริหารและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์สองสาย วงเงินรวม 6.1 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.-27 มี.ค. พบว่ามีบริษัทเอกชนยื่นซื้อซองทั้งหมด 35 ราย แบ่งเป็นโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) จำนวน 17 ราย และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) จำนวน 18 ราย

ทั้งนี้ วันสุดท้ายมีบริษัทต่างชาติเข้ายื่นซื้อซอง 2 ราย ได้แก่ Metropolitan Expressway Company Limited และ Japan Expressway International Company Limited จากนั้นพิจารณาข้อเสนอเอกชน และต่อรองสัญญา ในเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2562 และเสนอขออนุมัติพร้อมลงนามสัญญาร่วมทุน ในเดือน ธ.ค. 2562

นายอานนท์ กล่าวว่า ขณะนี้ ทล.ได้ออกประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับใหม่เรื่องการคิดค่าผ่านทางของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการคิดค่าผ่านทางให้เป็นอัตราก้าวหน้า หลังจากนี้จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง ระบุว่า มอเตอร์เวย์ไม่มีการปรับขึ้นค่าผ่านทางมาแล้วมากกว่า 20 ปี เนื่องจากติดขั้นตอนมากมายและไม่คล่องตัวเหมือนเอกชน ดังนั้นการออกประกาศกระทรวงในครั้งนี้จะทำให้ค่าผ่านทางเป็นแบบอัตราก้าวหน้า โดยปรับเพิ่มทุก 5 ปี พิจารณาจากเงินเฟ้อว่ามีความเหมาะสมที่จะปรับเพิ่มตามรอบหรือไม่ เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์ของการปรับขึ้นค่ารถไฟฟ้าและค่าทางด่วน ซึ่งอัตราการปรับเพิ่มจะอยู่ที่ 5-10 บาท

อย่างไรก็ตาม อัตราราคาก้าวหน้า ดังกล่าวจะใช้กับมอเตอร์เวย์สายใหม่ที่จะเปิดบริการ เช่น มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี และมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ เป็นต้น ซึ่งเกณฑ์การนับปีจะเริ่มในปีที่เปิดให้บริการ

ปัจจุบันค่ามอเตอร์เวย์ในไทยมีค่าเฉลี่ยกิโลเมตร (กม.) ละ 1-2 บาท ถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่นที่มีระยะทางเท่ากันแต่บางครั้งมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 1,000 บาท ดังนั้นการปรับราคาคงไม่กระทบกับประชากรมากนักในยุคที่เศรษฐกิจขยายตัว โดยค่าเข้าระบบมอเตอร์เวย์มีราคาที่ต่ำมากตลอดสาย 200-300 บาท เพราะต้องการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรัฐไม่เน้นผลกำไร ซึ่งการคิดค่าผ่านทางใช้สูตรค่าแรกเข้า 10 บาท และค่าผ่านทางตามระยะราว 1.25-1.5 บาท/กม.