นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมและ กพท.ได้มีการคุมเข้มมนการตรวจสอบแผนบริหารธุรกิจ และการเงินของสายการบินนกแอร์เป็นพิเศษ เนื่องจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ากระแสเงินสดของสายการบินนกแอร์เริ่มมีความน่ากังวลเนื่องจากโดยทั่วไปธุรกิจสายการบินจะมีรายได้และมีเงินสดมาจากทางด้านการบิน
แต่สายการบินนกแอร์เริ่มปรับลดเที่ยวบินและมีการยกเลิกเที่ยวบินจึงแสดงให้เห็นว่าเริ่มไม่พร้อมที่จะทำการบินที่มาจากหลาย สาเหตุเช่น หมุนเครื่องไม่ทัน เพราะเครื่องบินบางส่วนต้องส่งซ่อม และยกเลิกเพราะบางเที่ยวบินมียอดจองการเดินทางน้อย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กพท.ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่บางส่วน ลงพื้นที่ในสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อดูการดำเนินธุรกิจของสายการบินทุกสายอย่างใกล้ชิด
นายจุฬากล่าวต่อว่าสายการบินนกแอร์เป็นสายการบินที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดในเส้นทางการบินภายในประเทศประมาณ 20% เป็นอันดับ 2 รองจากสายการบินไทยแอร์เอเชียที่มีส่วนแบ่งการตลาด 30% และอันดับ 3 สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ มีส่วนแบ่งการตลาด18% และเนื่องจากปัจจุบันสายการบินนกแอร์ปัญหาทางการเงิน
และมีการยื่นขอยกเลิกเที่ยวบินมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 1 ปี และก่อนหน้านี้ทางสายการบินนกแอร์เพิ่งจะปลดระวางเครื่องไปบางรุ่นและมีการปลดนักบิน จึงทำให้ทาง กพท.ต้องดำเนินการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร แต่ก็เชื่อว่าทางสายการบินฯน่าจะหาผู้ถือหุ้นใหม่ได้เพราะมีมูลค่าจากเส้นทางค่อนข้างเยอะจึงถือเป็นจุดแข็ง
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่าทางสายการบินนกแอร์จะต้องหาผู้ร่วมลงทุนใหม่มาเข้าร่วมให้ได้ภายในปีนี้หรือเพิ่มทุนรอบใหม่ภายในปีนี้ หากไม่ได้อาจจะส่งผลให้ธุรกิจชะงักเนื่องจากกระแสเงินสดยังไม่ดีพอ และมีภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเช่น ค่าจ้างนักบินในฐานเงินเดือนที่สูงมากกว่าคู่แข่ง รวมทั้งต้นทุนค่าซ่อมเครื่องบินที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งทางการตลาดในปัจจุบัน
ด้านนายประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า สายการบินนกแอร์กำลังเร่งเดินหน้าตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจ (TURNAROUND PLAN) โดยมุ่งเน้นเรื่องการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้เพื่อหยุดขาดทุนให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำกำไรในแต่ละเส้นทางบินรวมถึงการบริหารจัดการเครื่องบินถือเป็นหนึ่งในแผนงานดังกล่าว
โดยหันไปเน้นเส้นทางการบินไปยังต่างประเทศมากขึ้นในอนาคต อาทิ
- จีน
- อินเดีย
- และ ญี่ปุ่น
ดังนั้นจึงได้ดำเนินการถอดอากาศยานแบบ ATR ที่มีอยู่เพียง 2 ลำออกจากฝูงบิน และปรับตารางการบินในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (low season) ที่กำลังจะถึงโดยงดการบินในจังหวัดนครพนม และจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 26 ตุลาคม2562
ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีอากาศยานแบบ โบอิ้ง (Boeing) 737-800 จำนวน 18 ลำ และ อากาศยานแบบ Q400 จำนวน 8 ลำ ซึ่งเพียงพอและสามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมในทุกเส้นทางที่บริษัทให้บริการ
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าขณะนี้บริษัทมีปัญหาขาดทุนจริงและประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ปรับหุ้นของนกแอร์เป็นเครื่องหมาย C ส่งผลให้ไม่สามารถใช้เครดิตซื้อหุ้นได้ ส่วนเรื่องปัญหากระแสเงินสดและทุนนั้นมองว่าจะยังคงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปีและยังคงรอเรื่องของการเพิ่มทุนบริษัทอีกด้วย