คาร์โลตา เปเรซ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจผู้แต่งหนังสือ Technological Revolutions And Financial Capital : The Dynamics Of Bubbles And Golden Ages (การปฏิวัติด้านเทคโนโลยีและทุนทางเศรษฐกิจ : การเปลี่ยนแปลงของฟองสบู่และยุคทอง) ระบุว่า วังวนของเศรษฐกิจมักจะเกิดขึ้นเป็นวงจร
แต่ละช่วงมีรูปแบบเดียวกันคือ การตั้งตัว ช่วงนี้จะเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการผลิตและชีวิตประจำวัน มีการลงทุนแบบเก็งกำไรเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่รวดเร็วอันนำมาซึ่งภาวะฟองสบู่ ตามมาด้วยการเกิดวิกฤต ซึ่งอาจจะยาวนานระหว่าง 2-17 ปี เมื่อถึงช่วงนี้จะเกิดการหาทางออกต่างๆ เพื่อให้สถานการณ์เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว เมื่อวิกฤตผ่านพ้นก็จะเข้าสู่ยุคทอง ก่อนที่ทุกอย่างจะเริ่มอิ่มตัวและถดถอยกลับเข้าสู่วงจรแห่งการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
เปเรซ เผยว่า ยุคปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ
- ชีววิทยาสังเคราะห์
- คอมพิวเตอร์ควอนตัม
- บล็อกเชน
- โดรน
- รถยนต์ขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ
ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่าง เฟซบุ๊ค กูเกิล แอปเปิล จะมีความสามารถในการผลิตสูงสุด เนื่องจากมีระบบอัลกอริทึมซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าเป็นของตัวเอง
สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ในเว็บไซต์ TechCrunch ที่มองว่า ในขณะที่เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกต่างพยายามผลักดันให้ตัวเองเป็นฮับของสตาร์ทอัพเหมือนย่านซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐ แต่ในซิลิคอนวัลเลย์เอง ยุคทองของสตาร์ทอัพกลับผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โมเมนตัมของโลกกำลังเหวี่ยงจากสตาร์ทอัพหรือเจ้าของกิจการรายเล็กกลับไปสู่บริษัทยักษ์ใหญ่
TechCrunch ระบุว่า ยุคอินเทอร์เน็ตในช่วงปี 1997-2006 ถือเป็นจุดกำเนิดของ อเมซอน กูเกิล เฟซบุ๊ค แอร์บีเอ็นบี คนรุ่นใหม่แอบซุ่มพัฒนาเว็บไซต์หรือผลิตภัณฑ์ในโรงรถหรือหอพักนักศึกษาแล้วค่อยออกมาเปลี่ยนโลกอย่างสิ้นเชิง
ส่วนปี 2007-2016 เป็นยุคแห่งสมาร์ทโฟนที่ก่อให้เกิด อูเบอร์ วอทส์แอพ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ที่เป็นแอพพลิเคชั่นที่ต้องมีในสมาร์ทโฟนทุกเครื่อง
ด้วยความที่อินเทอร์เน็ตกับสมาร์ทโฟนอยู่บนพื้นฐานของดิจิทัลทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านหรือสินค้าในเชิงกายภาพ ต้นทุนในการพัฒนาจึงไม่มาก ดังนั้น ขอเพียงมีไอเดียเจ๋งๆ คนรุ่นใหม่ก็สามารถเขียนโปรแกรมที่โดนใจคนทั่วโลกเพื่อทำเงินหลายพันหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐได้ไม่ยาก
แต่หลังจากยุคทองของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนแล้ว ซึ่งมีธุรกิจเจ้าใหญ่ครองตลาดแล้ว นับจากนี้ไปเทคโนโลยีจะเริ่มซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์กับองค์กรใหญ่ที่มีทั้งฐานข้อมูลและเงินทุนอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว ผิดกับสตาร์ทอัพรายเล็กที่สายป่านสั้นกว่า
นอกจากนี้ TechCrunch ยังยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่จะเข้ามาครองตลาดในช่วงทศวรรษหน้าไว้ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ที่นอกจากจะต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงแล้ว ยังต้องมีฐานข้อมูลระดับใหญ่พออีกด้วย บริษัทที่มีความพร้อมเหล่านี้ก็หนีไม่พ้นบิ๊กไฟว์อย่าง
- อเมซอน
- เฟซบุ๊ค
- กูเกิล
- แอปเปิล
- และไมโครซอฟท์
อาร์ดแวร์ เช่น โดรน อินเทอร์เน็ตออฟธิง ที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการคิดสินค้าต้นแบบและมีต้นทุนค่อนข้างสูง รถยนต์ไร้คนขับ ที่ยิ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าฮาร์ดแวร์เสียอีก นอกจากเทสลาของ เอลอน มัสก์ แล้ว ก็มีเพียงค่ายรถยนต์เจ้าดังไม่กี่รายเท่านั้นที่ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีนี้ หรือเทคโนโลยีความจริงเสมือน (วีอาร์) และความเป็นจริงเสริม (เออาร์) ที่ทั้งราคาสูงและมีความซับซ้อนมาก
ปัจจุบันมีเพียงเจ้าใหญ่อย่าง กูเกิล ไมโครซอฟท์ แอปเปิลเท่านั้นที่ยังเดินหน้าพัฒนาต่อ ขณะที่สตาร์ทอัพอย่าง แมจิก ลีพ (Magic Leap) ที่ได้เงินสนับสนุนเกือบ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทว่า ผ่านไปหลายปีแล้วก็ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ ส่งผลให้สตาร์ทอัพค่อยๆ หายไป หรืออาจถูกบริษัทรายใหญ่เข้าซื้อกิจการ แม้จะมีสตาร์ทอัพบางรายที่ยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่ก็ยากเต็มทีเมื่อเทียบกับยุคที่อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนบูมใหม่ๆ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ Y Combinator โครงการบ่มเพราะสตาร์ทอัพชื่อดังที่เข้ายากพอๆ กับ ม.ฮาร์วาร์ด เมื่อ 5 ปีที่แล้วลูกศิษย์ยุคแรกของโครงการนี้ อาทิ แอร์บีเอ็นบี ดรอปบ็อกซ์ สไตรพ์ ไต่ขึ้นสู่จุดสูงสุดของธุรกิจและยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา แม้ว่า Y Combinator จะสนับสนุนเงินลงทุนให้บรรดาสตาร์ทอัพมากกว่าช่วง 6 ปีแรกของโครงการถึง 2 เท่า แต่เราแทบไม่ได้ยินสตาร์ทอัพรุ่นหลังๆ มีชื่อผงาดขึ้นแถวหน้าเลย
เมื่อกระแสกำลังเหวี่ยงกลับไปสู่บริษัทรายใหญ่อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ มนุษย์ออฟฟิศอย่างเราๆ คงต้องปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการเพิ่มทักษะและศักยภาพการทำงานที่แม้แต่หุ่นยนต์ก็ทำไม่ได้ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของนายจ้าง