“สมาคมตราสารหนี้”…ประเมินปีนี้ทิศทางดอกเบี้ยทรงตัว

>>

“สมาคมตราสารหนี้”...เผยสิ้นไตรมาสที่1/19 มูลค่าคงค้างตราสารหนี้อยู่ที่ 12.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 1.3% ประเมินดอกเบี้ยไทยปีนี้ทรงตัว หลังเอกชนรอดูทิศทางและประสิทธิผลของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ส่วนต่างชาติขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 42,305 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ย้ำไม่กระทบตลาด เหตุต่างชาติมองตลาดอื่นน่าสนใจกว่า ในขณะที่ยังคงซื้อตราสารหนี้ระยะยาวต่อเนื่อง ตั้งเป้าปีนี้ยอดออกหุ้นกู้อยู่ที่ 7.5-8.0 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยในไตรมาสที่1/19 โดยรวมยังคงเติบโตได้ดีมีมูลค่าคงค้างรวม 12.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% จากสิ้นปี18 ที่ 12.79 ล้านล้านบาท โดยตราสารหนี้เอกชน ‘ระยะยาว’ มีการออกเพิ่มขึ้นถึง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนทำลายสถิติการออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไตรมาส1 โดยส่วนใหญ่เป็นการออกของบริษัทขนาดใหญ่ในภาคการผลิตจริง (Real sector) ที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนกลุ่มสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (II/HNW)

แต่ในส่วนของตราสารหนี้เอกชน ‘ระยะสั้น’ มีมูลค่าการออกลดลงโดยกลุ่มธุรกิจเดียวกันได้เปลี่ยนจากการออกตั๋ว B/E ไปเป็นการกู้ยืมกันในรูปแบบของสัญญาเงินกู้แทน ส่วนภาค Real sector และ Bank&Finance คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นการชะลอการออกเพื่อรอจังหวะดอกเบี้ยที่เหมาะสมหลังจากที่ต้นทุนการกู้ยืมระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้นตามการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย


 
( ธาดา พฤฒิธาดา )

 

ส่วนผู้ออกของภาค Real sector ที่มีอันดับเครดิตสูง (ตั้งแต่ A- ขึ้นไป) ยังคงออกอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ลดลงจากผู้ออกที่อันดับเครดิตไม่สูง (ต่ำกว่า BBB- ลงไป) และผู้ออก Non-rated ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยในตลาดรองอยู่ที่ 81,361 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.21% จากสิ้นปี18

“สำหรับทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ในระดับเดิม ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบมากๆ จากปัจจัยเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำและการลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัวเพื่อรอดูทิศทางและประสิทธิผลของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ โดยปัจจัยที่จะผลักดันดอกเบี้ยให้ปรับตัวขึ้นได้เป็นปัจจัยในประเทศเอง คือ เงินเฟ้อ และ การลงทุนของเอกชน ซึ่งการลงทุนของเอกชนที่มีขนาดใหญ่ซึ่งจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยนั้นคงต้องรออีกระยะหนึ่ง”

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า การลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในช่วงไตรมาสที่1/19 นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิตลอด 3 เดือนแรกรวม 42,305 ล้านบาท โดยส่วนมากเป็นการขายออกในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นเพื่อรับรู้ผลกำไรหลังจากที่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนเป็นขาขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเล็กน้อยแต่ยังมีการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสหนึ่งนี้ ต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 942,993 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.3% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย โดยมีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ถือครองอยู่ที่ 8.46 ปี ยาวสุดตั้งแต่มีการจัดตั้งมาเลย


 
( น.ส.อริยา ติรณะประกิจ )

 

“เงินต่างชาติที่ไหลออกสุทธินั้นจะเป็นการขายในตราสารหนี้ระยะสั้นและเป็นตราสารหนี้ที่ครบอายุเป็นหลัก เพราะปัจจุบันหากมองผลตอบแทนสุทธิของตราสารหนี้ระยะสั้นไทยกับสหรัฐก็ใกล้เคียงกัน ประกอบกับสถานการณ์ในตลาดโลกเริ่มคลี่คลายในเชิงบวกทำให้เงินลงทุนระยะสั้นหันไปแสวงหาผลตอบแทนในตลาดอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น มาเลย์เซีย หรืออินโดนีเซีย ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.25% และ 6%  ตามลำดับ ในขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยอยู่ที่ 1.75% ความน่าสนใจลดลงเพราะดอกเบี้ยต่ำกว่า ในขณะที่เงินลงทุนระยะยาวยังคงอยู่แม้จะไหลเข้ามาไม่มากก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการถือครองของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวของไทยเพิ่มขึ้นหลังดัชนีตราสารหนี้ของ JP Morgan ปรับเพิ่มน้ำหนักตราสารหนี้ไทยตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว”

ในส่วนของการออกหุ้นกู้เอกชนในปี19 นี้ คาดว่าจะอยู่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือ 7.5 - 8.0 แสนล้านบาท เพราะในปีนี้จะมีตราสารหนี้ที่ครบอายุอยู่แล้วประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งไม่น้อยกว่า 60% จะต้องมีการออกตราสารหนี้มาทดแทนตราสารหนี้เดิมที่ครบอายุอยู่แล้ว  ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีความชันน้อยลงโดยรุ่นอายุไม่เกิน1 ปี ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 5-12 bps. ส่วนรุ่นอายุ 2-10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น1-9 bps.