ฝึกงานเสมือนจริง
เจ.พี. กาวน์เดอร์ รองประธานบริษัทวิจัย ฟอร์เรสเตอร์ (Forrester) ในสหรัฐ จุดเด่นอย่างหนึ่งที่จะทำให้บริษัทส่วนใหญ่หันมาใช้ VR ในการฝึกหัดพนักงานคือความปลอดภัย กาวน์เดอร์ ยกตัวอย่าง Strivr สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเสมือนจริง ที่สร้างโปรแกรมให้คนงานก่อสร้างที่สวมแว่นพิเศษเรียนรู้เกี่ยวกับอันตรายก่อนเข้าไปในไซต์งาน หรือสอนการใช้งานเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ให้พยาบาลก่อนนำเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้จริงกับคนไข้ หรือการร่วมมือกับ Walmart ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีก เตรียมสถานการณ์ความวุ่นวายในวันช็อปปิ้งใหญ่อย่างแบล็กฟรายเดย์
ทำงานเสมือนจริงจากบ้าน
ดีแลน เฮนดริกส์ ผอ.โครงการ Future 50 Program แห่งสถาบันเพื่ออนาคต ผู้ผ่านประสบการณ์การทำงานทางไกลร่วมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นอีกแห่งหนึ่ง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทำงานเสมือนจริง เผยว่า เทคโนโลยีที่ทำงานเสมือนจริงกลายเป็นระบบขั้นพื้นฐานที่ใช้ประโยชน์ได้ในทางปฏิบัติ ได้มากกว่าที่พวกเราเข้าใจกันเสียอีก อีกตัวอย่างหนึ่งคือ แพลตฟอร์มการประชุมแบบโฮโลกราฟฟิกของสตาร์ทอัพ Mimesys ซึ่งผู้ใช้งานสามารถหารือหรือตอบสนองกับชาร์ตสามมิติ รูปภาพ หรือข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในโลก
หัวหน้าปัญญาประดิษฐ์
บริษัทโฆษณา MaCann Worldgroup Japan ในญี่ปุ่นเคยใช้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ชื่อ AI-CD β (เอไอ-ซีดี เบต้า) ทำหน้าที่หนึ่งในทีมงานครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ โดยทีมงานของบริษัทจะศึกษาโฆษณาทางทีวีเพื่อวิเคราะห์ลักษณะของโฆษณาที่ดีแล้วสร้างอัลกอริทึ่มมาป้อน AI-CD β เพื่อให้หุ่นยนต์ตัวนี้ครีเอทโฆษณาชิ้นใหม่
เพื่อนร่วมงานหุ่นยนต์
บริษัทผลิตหุ่นยนต์ตรวจสอบคุณภาพการผลิต Industrial Vision Systems ลงทุนสร้างหุ่นยนต์ให้รับหน้าที่ทำงานซ้ำๆ อาทิ การหยิบชิ้นส่วนออกจากกล่องบนสายพานการผลิต เพื่อทำงานประสานกับแรงงานมนุษย์หรือตรวจสอบคุณภาพสินค้า เอิร์ล ยาร์ดลีย์ ผู้บริหาร Industrial Vision Systems มองว่า การนำหุ่นยนต์เข้ามาไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะตกงาน แต่อาจถูกปรับเปลี่ยนให้ทำงานในตำแหน่งอื่นซึ่งมองอีกมุมหนึ่งคือการพัฒนาศักยภาพการทำงานของมนุษย์ให้เหนือกว่าหุ่นยนต์
ผู้ช่วยแพทย์ปัญญาประดิษฐ์
ปัจจุบันนี้สตาร์ทอัพบางราย อาทิ Arterys ได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณการไหลของเลือดและปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจของหัวใจห้องล่าง เพื่อวิเคราะห์โรคได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที จากเดิมที่รังสีแพทย์อาจต้องใช้เวลาถึง 45 นาที แม้จะมีคำถามตามมาว่าในอนาคตรังสีแพทย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ แต่ คาร์ล่า ไลโบวิซ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาองค์การของ Arterys ย้ำว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะล้ำหน้าเพียงใด แต่รังสีแพทย์ยังต้องวิเคราะห์ลงความเห็นในขั้นตอนสุดท้ายอยู่ดี ปัญญาประดิษฐ์เพียงแต่ช่วยย่นระยะเวลา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์มากขึ้น
ฝังชิปแทนบัตรพนักงาน
เมื่อปีที่แล้ว บริษัท Three Square Market กลายเป็นข่าวโด่งดังหลังประกาศว่าจะฝังไมโครชิปขนาดประมาณเมล็ดข้าวลงไปใต้ผิวหนังพนักงานเพื่อใช้เปิดประตู ล็อกอินเข้าใช้คอมพิวเตอร์ หรือใช้ซื้อสินค้าในออฟฟิศโดยไม่ต้องพึ่งบัตรพนักงาน พาสเวิร์ด หรือบัตรเครดิต ทว่า กาวน์เดอร์ แย้งว่า เหตุใดจึงต้องฝังไมโครชิปกับพนักงานที่อาจจะไม่ได้ทำงานที่บริษัทตลอดชีวิต ในเมื่อบริษัทสามารถให้สมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์สวมใส่ที่สามารถจดจำม่านตา สแกนลายนิ้วมือแทน
ทั้งนี้ จากการสำรวจของบริษัทไอที Spiceworks พบว่าภายในปี 2020 ภาคธุรกิจจะหันมาใช้เทคโนโลยีข้างต้นเพิ่มเป็น 86% จากปัจจุบัน 62%