PwC คาดนิวยอร์ก-ลอนดอน-ฮ่องกง ครองแชมป์ตลาดหุ้นที่นักลงทุนสนใจลงทุนมากที่สุดในปี 73
>>
Hightlight
- คาดบริษัทสัญชาติจีน-อินเดียจะมีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มากที่สุดในปี 2573 แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา การเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ จะมีทิศทางค่อนข้างซบเซากว่าที่คาด
- 70% ของผู้ถูกสำรวจ คาดจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต แม้จะมองว่าเป็นแหล่งระดมทุนที่มีความสำคัญลดน้อยลง
- ตัวเลือกของการระดมทุนมีมากขึ้น ขณะที่การลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือไพรเวทอิควิตี้ ยังคงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุน
นาย บุญเลิศ กมลชนกกุล หัวหน้าสายงาน Clients and Markets และหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี ด้านธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Capital Markets in 2030 ที่ทำการสำรวจโดย The Economist Intelligence Unit ในนามของ PwC คาดว่า ตลาดหลักทรัพย์ในโลกที่นักลงทุนสนใจพิจารณาลงทุนมากที่สุดในปี 2573 นอกเหนือจากตลาดหลักทรัพย์ในประเทศของตนเอง ได้แก่
- ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (New York Stock Exchange: NYSE) ที่ 37%
- ตลาดหุ้นแนสแด็ก (National Association of Securities Dealers Automated Quotations: NASDAQ) ที่ 26%
- ตลาดหุ้นลอนดอน (London Stock Exchange: LSE) ที่ 24%
- ตลาดหุ้นฮ่องกง (Hong Kong Stock Exchange: HKEX) ที่ 24%
ทั้งนี้รายงานฉบับนี้ทำการสำรวจผู้บริหารจำนวนเกือบ 400 รายทั่วโลก เกี่ยวกับมุมมองต่อปัจจัยที่สะท้อนถึงการพัฒนาตลาดทุนทั่วโลก ต่อเนื่องจากรายงานที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2554 โดยเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ยังพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากคราวก่อนที่ผู้ถูกสำรวจคาดว่า ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange: SSE) จะเป็นแชมป์ตลาดหุ้นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในปี 2568 ตามมาด้วย ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ตลาดหุ้นอินเดีย และตลาดหุ้นบราซิล (Sao Paulo Stock Exchange: Bovespa)
นาย รอส ฮันเตอร์ หัวหน้าศูนย์ไอพีโอ ทั่วโลก ของ PwC สหราชอาณาจักร กล่าวว่า มุมมองต่อกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ดูจะเป็นบวกมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมา ได้ถูกกดดันโดยปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยแวดล้อมสภาพตลาด ทำให้ตอนนี้ความคาดหวังของการแข่งขันระหว่างตลาดหุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว และตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ถือว่าใกล้เคียงสูสีกันมาก
หากพิจารณาจำนวนของบริษัทที่ต้องการระดมทุนในตลาดหุ้นผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) พบว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน (55%) เป็นประเทศที่ถูกคาดการณ์ว่า จะมีผู้ทำการระดมทุนมากที่สุดในปี 2573 ตามด้วยอินเดีย (45%) สหรัฐอเมริกา (41%) บราซิล (21%) และสหราชอาณาจักร (18%) แม้จะมีปัจจัยความกังวลเรื่องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิทก็ตาม โดยทั้งจีนและอินเดีย ยังเป็น 2 ประเทศผู้นำในการจัดอันดับประเภทนี้จากผลสำรวจคราวก่อน
รายงานชี้ว่าทั้ง 2 ประเทศได้มีการหามาตรการและขั้นตอนในการพัฒนาตลาดทุนของตัวเองมาโดยตลอด เห็นได้จากโครงการและความคิดริเริ่มในด้านต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจีน นอกจากนี้สภาพคล่อง (Liquidity) ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกสำหรับนักลงทุนในการเลือกแหล่งที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์เพื่อทำการเข้าจดทะเบียน โดยผู้ถูกสำรวจถึง 49% เห็นตรงกันในจุดนี้ ส่วนปัจจัยเรื่องของการประเมินมูลค่า (Valuations) และต้นทุนในการจดทะเบียน (Cost of listing) ก็มีผลต่อการตัดสินใจระดมทุนของบริษัทที่ 32% และ 29% ตามลำดับ
ทั้งนี้ PwC คาดว่า เทคโนโลยีจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่ออนาคตของบริษัทมหาชน โดยปัจจุบันศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำหลายแห่งของโลก ได้มีการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดการระดมทุนจากบริษัททางด้านเทคโนโลยี และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งต่อไปคาดว่าการแข่งขันจะยิ่งทวีความเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นนิวยอร์ก และตลาดหุ้นจีน (รวมจีนแผ่นดินใหญ่ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง)
ผลสำรวจยังชี้ด้วยว่า ตัวเลือกในการระดมทุนของบริษัทได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย 76% ของผู้ถูกสำรวจเชื่อว่า ในปัจจุบันมีตัวเลือกในการระดมทุนมากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนในตลาดหรือนอกตลาด ทั้งในส่วนของตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่
แม้ว่า 70% ของผู้ถูกสำรวจเชื่อว่า การระดมทุนในตลาดหุ้นกลายเป็นแหล่งระดมทุนที่มีความสำคัญลดน้อยลง แต่ผู้ถูกสำรวจในสัดส่วนเท่ากันก็คิดว่า การระดมทุนในตลาดหุ้นจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ต้องการประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ 55% ของผู้ถูกสำรวจ ยังมองว่าไพรเวทอิควิตี้ (Private Equity) หรือการลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Private company) เป็นตัวเลือกของการระดมทุนนอกตลาดที่มีความน่าดึงดูดมากที่สุด
ไพรเวทอิควิตี้ เข้ามามีอิทธิพลต่อตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยส่งผลให้ไอพีโอในระยะหลังมีจำนวนน้อยลง แต่ก็มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจใหม่ ด้วยเหตุนี้หลายบริษัทจึงได้มีการพิจารณาให้การลงทุนที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือการลงทุนนอกตลาด เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญควบคู่ไปกับตลาดหุ้นมากขึ้น แทนที่จะเห็นเป็นคู่แข่งกัน
ตลาดหุ้นที่มีความน่าเชื่อถือ จะยังคงเป็นตัวเลือกในการเข้าไปจดทะเบียนของบริษัททั่วไป ขณะที่ตัวเลือกในการระดมทุนนอกตลาด จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายบุญเลิศกล่าวว่า ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถือได้ว่าเป็นแหล่งระดมทุนที่บริษัททั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ให้ความสนใจ เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตให้ธุรกิจ ซึ่งข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) มีบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ทั้งในตลท.และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) จำนวนทั้งสิ้น 305 บริษัท มีมูลค่าระดมทุนถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.7 แสนล้านบาท
“สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างที่เราพบจากผลสำรวจคือ การที่ตลาดหลักทรัพย์ของไทย ติด 1 ในตลาดชั้นนำที่ถูกคาดการณ์ว่า จะมีบริษัทเข้ามาระดมทุนมากที่สุดในโลกในปี 2573 เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างตลาดหุ้นสิงคโปร์ และตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ซึ่งมองว่าตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจไม่แพ้ตลาดอื่นๆ เพราะเป็นแหล่งเงินทุนที่ให้ต้นทุนทางการเงินที่ถูก สภาพคล่องในการซื้อขายถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมีความรู้ทางการเงินเพิ่มขึ้น และหันมาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นกว่าในอดีต นอกจากนี้กฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานกำกับดูแล ก็ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลักทรัพย์ที่เข้ามาจดทะเบียนนั้นมีคุณภาพมากขึ้น" นายบุญเลิศกล่าว
และเชื่อว่าในระยะยาวตลาดหุ้นไทย จะยิ่งดึงดูดการลงทุนของบริษัททั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้แผนการสร้างตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของตลท. ก็น่าจะช่วยเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัลและสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทยโดยรวมได้มากขึ้นด้วย