“ทองคำ”...ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยังเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway ระหว่าง 1,200 – 1,350 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ เป็นตลาดที่เหมาะกับการเทรดตามกรอบ ‘แนวรับ-แนวต้าน’ ของราคาและยังคงยืนทรงนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ช่วง 3 ปีนี้ ‘ทอง’ ต่ำสุดช่วงธ.ค.16 ประมาณ 1,125.70 ดอลลาร์ และพยายามจะหักด่านแนวต้าน 1,350 ดอลลาร์ มาแล้วประมาณ 3 ครั้ง หลังจากนั้น แต่ยังไม่สามารถทำได้จึงถือเป็นแนวต้านด่านหินของทอง
รอบล่าสุดหลังสะสมพลังทะยานจากแนวรับที่ 1,178.40 ดอลลาร์ ช่วงกลางเดือนส.ค.18 ที่ผ่านมา ขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 1,350 ดอลลาร์ ช่วงกลางก.พ.19 ที่ผ่านมา แต่ไม่ผ่าน
ก็ดำดิ่งทิ้งตัวลงมาอีกครั้งอยู่บริเวณ 1,275.70 ดอลลาร์ (วันที่ 18 เม.ย.19) และแน่นอนว่า...ตามเทคนิคแล้วก็มีโอกาสจะลงไปถึงกรอบแนวรับที่ระดับ 1,200 ดอลลาร์ ได้เช่นกัน ตามการเคลื่อนไหวแบบ sideway ตลอดช่วง 3ปีที่ผ่านมา
ช่วงปลายปีนี้คงต้องตามลุ้นกันอีกครั้งว่า ‘ทอง’ จะสามารถหักแนวต้าน 1,350 ดอลลาร์ ขึ้นไปยืนได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่? กันอีกครั้ง
ปัจจัยหนุน ‘ราคาทอง’ ในปี19
“สภาทองคำโลก (World Gold Council)” ระบุว่า ปัจจัยหนุนราคาทองคำในปี19 นั้นมาจากการเปลี่ยนท่าทีของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป การถือครองทองคำของกลุ่มกองทุน ETF ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณความต้องการทองคำของ ‘ธนาคารกลาง’ ต่างๆ ทั่วโลกที่มีสัญญาณที่แข็งแกร่งมากขึ้นในปีนี้
ในเดือนก.พ.19 ธนาคารกลางซื้อสุทธิทองคำ 51 ตัน เป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.18 การซื้อสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกปี19 นั้นสูงเกือบ 90 ตัน เทียบกับ 56 ตันในช่วงเดียวกันของปี18 และถือเป็นระดับการเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี08 แสดงให้เห็นว่า โดยรวมแล้วธนาคารกลางซึ่งส่วนใหญ่มาจากตลาดเกิดใหม่ยังคงสะสมทองคำในระดับที่ดีต่อเนื่อง
“การกระจายการลงทุนยังคงเป็นแรงจูงใจหลักสำหรับธนาคารกลางในการซื้อทองคำเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ยังดำเนินต่อไป ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งหันมาใช้เงินทุนสำรองที่หลากหลายมากขึ้นและให้ความสนใจกับเป้าหมายหลักของการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและมีสภาพคล่อง”
แม้จะผ่านพ้นช่วงวกฤติการเงินของโลกมาร่วม 10 ปีแล้ว แต่ธนาคารกลางยังมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจมหภาคและภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น โดยหนุนเงินสำรองของพวกเขา การกระทำเหล่านี้สอดคล้องกับการสำรวจล่าสุดของ ‘World Gold Council’ ที่พบว่า 76% ของ ‘ธนาคารกลาง’ มองบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ในขณะที่ 59% อ้างถึงประสิทธิภาพในการกระจายพอร์ต และเกือบ ‘1 ใน 5’ ของธนาคารกลางส่งสัญญาณความตั้งใจที่จะเพิ่มการซื้อทองคำในอีก 12 เดือนข้างหน้าด้วย
ลุ้น “ทองคำ”...หักแนวต้าน 1,350 ดอลล์ สิ้นปี19
“Taki Tsaklanos” แห่ง investmenthaven.com ที่มีประสบการณ์ 15 ปี ในตลาดการลงทุนโลก มองว่า จากการวิเคราะห์ตัวชี้วัดชั้นนำของเราเชื่อว่าราคาทองจะขึ้นไปสู่ระดับ 1,300 ดอลลาร์ในปี19 ยิ่งไปกว่านั้นจากกราฟราคาทองคำแสดงว่าราคาทองคำกำลังตั้งค่าช่วงราคาอยู่และจะเป็นจุดสำคัญในปี19 โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 1,200-1,375 ดอลลาร์
- ต่ำกว่า 1,200 ดอลลาร์ เป็น ‘ตลาดหมี’ เราแทบจะไม่เชื่อว่าทองคำจะอยู่ต่ำกว่า 1,200 ดอลลาร์
- ระหว่าง 1,200 -1,275 ดอลลาร์ เป็น ‘กลาง (Neutral)’
- สูงกว่า 1,275 ดอลลาร์ เป็น ‘ตลาดกระทิง’ อย่างอ่อน
- สูงกว่า 1,375 ดอลลาร์ เป็น ‘ตลาดกระทิง’ อย่างเข้มข้น
“เราคาดว่าทองกำลังทำกราฟราคารูปแบบของถ้วยและที่จับ (cup-and-handle) และจะกลับมาทดสอบราคา 1,300 – 1,375 ดอลลาร์อีกครั้งในปี19 นี้ เป็นความพยายามที่จะทะลุแนวต้านที่แข็งแกร่งนี้ขึ้นไปอีกครั้งและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ นั่นคือสาเหตุที่การคาดการณ์ราคาทองคำที่เป็น ‘ตลาดกระทิงที่สุด’ ของเราในปี19 จะพุ่งแตะ 1,550 ดอลลาร์ (ความน่าจะเป็น 20%) แต่ถ้าประสบความสำเร็จที่จะทะลุ 1,375 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นกรณีพื้นฐานนั้น (ความน่าจะเป็น 75%)”
อย่างไรก็ตามความตื่นตระหนกในหมู่นักลงทุนทองจากราคาทองตกลงหลังจากที่พุ่งแตะระดับ 1,350 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 19 ที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ที่เรามองสำหรับนักลงทุนคือการมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงราคาใน ‘ระยะสั้น’ อย่างต่อเนื่องรวมถึงกระแสข่าวที่ไม่มีที่สิ้นสุดในสื่อทางการเงินและโซเชียลมีเดีย มันกำลังสร้างมุมมองที่พร่ามัวสำหรับนักลงทุนซึ่งทำให้นักลงทุนเหล่านี้ไม่สามารถคิดได้อย่างชัดเจนอีกต่อไป เช่น ราคาทองคำจะลดลงเพราะเศรษฐกิจสหรัฐดีกว่าคาด ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกันเลย หรือข่าวทองคำกำลังเข้าสู่สัปดาห์เลวร้ายนับตั้งแต่พ.ค.17 เป็นต้น
“เราขอเรียกร้องให้นักลงทุนทองไม่ตอบสนองมากเกินไปกับข่าวและถอยห่างออกไปเพื่อมองภาพการลงทุนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น มุมมองของเราจากการเคลื่อนไหวของกราฟทองคำรายเดือนเป็นการปรับตัวลงหลังไม่ผ่านแนวต้าน 1,350 ดอลลาร์ และเป็นการปรับลงเพื่อจะพยายามผ่านสู่ระดับ 1,375 ดอลลาร์นั่นเอง”
อัพไซด์มี...แนะถือรอขาย หรือถือกระจายความเสี่ยง
หากมอง ‘ทางเทคนิค (Technical)’ ราคาทองคำยังเคลื่อนไหวในกรอบ 1,200 – 1,350 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หากใช้กลยุทธ์เทรดตาม ‘แนวรับ-แนวต้าน’ ซื้อที่แนวรับแล้วไปขายที่แนวต้าน ก็จะมีอัพไซด์อยู่ 150 ดอลลาร์ หรือประมาณ 12.5% ถ้าได้ทุกรอบก็ถือว่าไม่น้อยแล้ว
แต่ถ้าย่อมาแล้วเก็บที่ 1,250 ดอลลาร์ ก็จะมีอัพไซด์เหลือ 100 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8% ขึ้นกับว่าตลาดจะย่อมาถึงระดับไหนแล้วนักลงทุนเข้าลงทุนในจังหวะใดด้วยเช่นกัน
“แต่ถ้าใครถือมาช่วงสิ้นปี18 ที่ราคาทอง 1,279 ดอลลาร์ ถ้าไปขายที่แนวต้านได้อัพไซด์ก็ยังมีอยู่ 71 ดอลลาร์ หรือประมาณ 5.55% มากน้อยลดหลั่นกันไป”
“มนรัฐ ผดุงสิทธิ์” กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด มองว่า ‘ทองคำ’ กลับมาน่าสนใจในช่วงนี้จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป ประกอบกับเงินเฟ้อก็ยังทรงตัวในระดับปกติซึ่งทองคำเองเป็นสินทรัพย์ที่ต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ดี หากมองตามสัญญาณเทคนิคเชื่อว่าใน ‘ระยะสั้น’ ราคาน่าจะขึ้นไปแตะ 1,290 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ได้ ส่วนใน ‘ระยะยาว’ ราคาน่าจะยกระดับขึ้นไปได้อีกจากการที่เงินเฟ้อที่สูงขึ้น หลังอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มต่ำลงเรื่อยๆ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าจากเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่นจีน หรือยุโรปที่กำลังฟื้นตัว โดยมองราคาสิ้นปีนี้ที่ระดับ 1,300 ดอลลาร์ ต้นๆ
“ทองคำในระยะสั้นลงทุนได้ ซื้อแล้วไปรอขายช่วงที่จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีหน้า หรือจะถือเพื่อกระจายความเสี่ยงในพอร์ตก็ได้ แต่ถ้าถือเพื่อลงทุน ‘หุ้น’ ยังน่าสนใจกว่าทองคำ เพราะทองคำไม่มีผลตอบแทนในรูปปันผลเหมือนหุ้น การเคลื่อนไหวก็อิงจิตวิทยาเป็นหลัก แต่ก็เป็นสินทรัพย์ที่ต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ดีและเหมาะสำหรับกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุน”
สำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบการลงทุนใน ‘ทองคำ’ นั้น ควรมองในเรื่องของการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนเป็นสำคัญ หากอยากจะเล่นรอบในช่วงที่ตลาด sideway เช่นนี้ แนะนำให้แบ่งเงินมาบางส่วนเพื่อลงทุนดูได้ อย่างที่ย้ำเสมอว่า...ทองคำเป็น ‘สินทรัพย์ทางเลือก’ ไม่ใช่สินทรัพย์ที่จะถือเป็น Core Port แต่ประการใด ในปีนี้ก็คงต้องลุ้นกันดูว่า...ทองคำจะหักแนวต้าน 1,350 ดอลลาร์ ขึ้นไปได้หรือไม่กันอีกครั้ง