เติมเต็ม ‘พอร์ตเงินฝาก’...ด้วย “กองทุนตราสารหนี้”

>> ในขณะที่นักลงทุนที่ “ชื่นชอบความเสี่ยง”...คงไม่ทนกับ “ดอกเบี้ยเงินฝาก” ที่ต่ำเตี้ยติดดิน เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่ 2.04 ต่อปี แน่นอน นี่สำหรับ ‘เงินฝากประจำ 1 ปี’ แล้วนะ ไม่ต้องพูดถึง ‘เงินฝากออมทรัพย์’ ที่ไม่ลืมตาอ้าปากมานานแล้ว ฝากไปทั้งปี ดอกเบี้ยยังไม่ถึง 1% เลย

ในขณะที่นักลงทุนที่ “ชื่นชอบความเสี่ยง”...คงไม่ทนกับ “ดอกเบี้ยเงินฝาก” ที่ต่ำเตี้ยติดดิน เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่ 2.04 ต่อปี แน่นอน นี่สำหรับ ‘เงินฝากประจำ 1 ปี’ แล้วนะ ไม่ต้องพูดถึง ‘เงินฝากออมทรัพย์’ ที่ไม่ลืมตาอ้าปากมานานแล้ว ฝากไปทั้งปี ดอกเบี้ยยังไม่ถึง 1% เลย

“เงินฝาก”...ขวัญใจของนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง

ในทางตรงข้าม ก็มีกลุ่มนักลงทุนที่ “กลัวความเสี่ยง” ซึ่งน่าจะเป็นนักลงทุนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทยด้วยซ้ำ กลุ่มนี้คงเน้นความปลอดภัย ดอกเบี้ยไม่มากไม่เป็นไร ขอตัวเลขไม่ติดลบก็พอ (มองแค่มิติตัวเลขในบัญชีเท่านั้น)

“จึงไม่น่าแปลกใจว่าเงินฝากในระบบของไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากในปี2008 ที่มีอยู่ 7.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 13.76 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี2018 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) 6.76% ต่อปี ไม่ว่าดอกเบี้ยเงินฝากจะสูงหรือต่ำอย่างไรก็ตาม เงินฝากก็ยังเป็นขวัญใจของนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง”

ยิ่งสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยแล้ว พฤติกรรมเช่นที่เคยปรากฎมาแล้วในประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นก็อาจจะเกิดขึ้นกับไทยได้เช่นกัน ที่ฝากเงินไม่ได้ดอกเบี้ยเขาก็ยังฝากกัน บางประเทศในยุโรปคิดค่าฝากเงินด้วย คนก็ยังฝากกันก็มี ก็คนไม่ชอบเสี่ยงนี่นาทำไงได้

“แบงก์เองในยามที่ไม่ได้รุกขยายสินเชื่อก็คงปวดหัวกับการบริหารเงินฝากที่ล้นระบบแบงก์อยู่เช่นกัน กดดอกต่ำขนาดนี้ เงินฝากยังโตเอ้า...โตเอา แต่ก็ยังดีที่มีทางเลือกเป็นกลุ่ม ‘กองทุนตราสารหนี้’ มาเป็นตัวช่วยให้ได้บ้างสำหรับแบงก์ที่มีบลจ.เป็นลูก”

“กองตราสารหนี้”...ทางเลือกที่ตอบโจทย์

“กองตราสารหนี้” ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มาตอบโจทย์ให้กับลูกค้าเงินฝากที่ไม่ชอบความเสี่ยง และต้องการผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก ซึ่งหากดูผลตอบแทนในช่วง 10 ปี ย้อนหลัง (ณ 31 ธ.ค. 18) เฉลี่ยอยู่ที่ 2.19% ต่อปี ในณะที่กลุ่ม กองตราสารตลาดเงิน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำสุดก็ยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.54% ต่อปี เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากแล้วก็ยังมากกว่าอยู่พอสมควร ในขณะที่ความเสี่ยงไม่ได้เพิ่มขึ้นมามากมายนัก จึงเข้ามาเป็นทางเลือกที่เติมเต็ม พอร์ตเงินฝาก ได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่าง ถ้าคุณฝากเงิน 10,000 บาท ในแบงก์ดอกเบี้ย 1% สิ้นปีเงินจะเพิ่มเป็น 10,100 บาท แต่ถ้าคุณแบ่งเงิน 50% มาลงทุนใน ‘กองทุนตราสารหนี้’ ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2% สิ้นปี เงินจะเพิ่มเป็น 10,150 บาท คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ย 1.5% ผลตอบแทนดีขึ้นกว่าฝากเงินทั้ง 100%

ที่นักลงทุนคุ้นเคยกันมากคงเป็นกลุ่ม “กองตราสารหนี้ที่มีอายุ (Term Fund)” นั่นเอง เพราะเป็นโพรดักท์ที่บลจ.ลูกแบงก์ขาดไม่ได้เลย อายุ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี นับเป็นพิมพ์นิยมประเภทหนึ่ง ด้วยลักษณะโพรดักท์ที่ใกล้เคียงเงินฝากประจำ มีระยะเวลาการลงทุนชัดเจน ผลตอบแทนประมาณการเมื่อครบอายุกองทุนก็พอจะมองเห็นได้ เรียกว่า...เข้าใจไม่ยาก ถือเป็นกลุ่มทดแทนเงินฝากก็คงไม่ผิดนัก สัดส่วนของกองทุน Term Fund คิดเป็นเลขกลมๆ ก็น่าจะประมาณ 50% ของกองตราสารหนี้ทั้งระบบ

“ช่วงที่ผ่านมากลุ่มกองทุนตราสารหนี้จึงมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย (CAGR) ที่ 9.92% ต่อปี สูงกว่าการเติบโตของเงินฝากในช่วงเวลาเดียวกัน จากในปี2008 ที่มีสินทรัพย์สุทธิรวมกัน 974,105.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,507,242.40 ล้านบาท ณ สิ้นปี2018 และยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ต่อเนื่อง” 

เปลี่ยน ผู้ฝากเงินสู่ นักลงทุนโจทย์ใหญ่ของบลจ.ลูกแบงก์

อย่างที่กล่าวแล้วว่ากว่า 50% ของ กองทุนตราสารหนี้ เป็นกองทุนประเภท Term Fund ซึ่งจะเรียกว่าโพรดักท์ “ทดแทนเงินฝาก” ก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งเงินกลุ่มนี้ก็โยกไปโยกมาระหว่างเงินฝากแบงก์และกอง Term Fund เป็นหลัก ขึ้นกับว่า...ช่วงจังหวะเวลานั้น ผลตอบแทนฝั่งไหนจะดีกว่ากันนั่นเอง

มองในมุมแบงก์ นี่ก็เป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องอย่างหนึ่ง ช่วงไหนไม่ต้องการเงินฝาก ก็โยกไปไว้ที่กองทุนแทน ช่วงไหนต้องการเงินฝากก็ค่อยดึงเงินกลับมา ดีกว่าจะไปเสียให้กับคู่แข่ง

“แต่มองในมุมบลจ.เอง เงินในกลุ่มตราสารหนี้แบบ Term Fund นี้ ยังไม่ใช่เงินของกลุ่มนักลงทุนจริงๆ แล้วเงินที่โยกไปมาก็ทำให้สินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ของบลจ.แกว่งไปด้วย เป็นโพรดักท์ที่ทำมาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเงินฝากเป็นหลัก ซึ่งในเชิงธุรกิจเองในบางครั้งอาจไม่คุ้มที่จะทำด้วยซ้ำไป”

แนวคิดในการเปลี่ยน ผู้ฝากเงิน มาสู่ ผู้ลงทุน โดยให้ขยับมาสู่โพรดักท์ “การลงทุน” ที่ง่ายที่สุด คือ กลุ่ม กองทุนเปิดตราสารหนี้ ที่มีความเสี่ยงต่ำ ราคามีการเคลื่อนไหวขึ้นลง ในขณะที่ผลตอบแทนก็จะดีกว่าเงินฝากด้วย จึงเป็นแนวคิดหลักที่บลจ.ลูกแบงก์มองกันมาก เพราะจะทำให้ได้เงินลงทุนจริงๆ ที่สามารถจะขยับต่อยอดไปโพรดักท์การลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคตได้...หากผู้ลงทุนเริ่มเข้าใจเรื่องการลงทุนจริงๆ

บลจ.ทหารไทย ถือเป็นโมเดลของบลจ.ที่ประสบความสำเร็จมากกับแนวคิดนี้ จนปัจจุบันไม่ได้ขายกองตราสารหนี้ประเภท Term Fund มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ในขณะที่บลจ.ลูกแบงก์อื่นเองยอมรับว่าคงจะทิ้ง Term Fund ไปเลยไม่ได้ เพราะฐานลูกค้าบลจ.เองส่วนหนึ่งก็คือลูกค้าแบงก์นั่นเอง ก็คงต้องทยอยให้ความรู้แล้วพยายามปรับเปลี่ยนผู้ลงทุนให้ขยับเข้าสู่โพรดักท์การลงทุนให้มากขึ้นตามลำดับ”

ปัจจุบัน บลจ.ที่มีส่วนแบ่งการตลาดกลุ่ม กองทุนตราสารหนี้ มากที่สุด 5 อันดับแรก เป็นบลจ.ลูกแบงก์ทั้งหมด โดยมีส่วนแบ่งรวมกันถึง 79.35% ของอุตสาหกรรมเลยทีเดียว นำมาโดย 1) “บลจ.กสิกรไทย” 27.02% 2) บลจ.ไทยพาณิชย์” 21.17% 3) “บลจ.บัวหลวง” 11.47% 4)บลจ.กรุงไทย” 9.94% และ 5) บลจ.ทหารไทย” 9.75%

สำหรับนักลงทุนที่ “ไม่ชื่นชอบความเสี่ยง” การปรับเปลี่ยนพอร์ตเงินฝากของคุณใหม่ ด้วยการผสมกลุ่ม “กองทุนตราสารหนี้” เข้ามา ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนของคุณให้ดีขึ้นเท่านั้น ยังจะช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตเงินฝากของคุณด้วยเช่นกัน