“DIF” & “TFFIF”...คู่ ‘Infra Fund’ แห่งการเติบโต

>>

“กลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์” ถือเป็นกลุ่มสินทรัพย์ทางเลือกที่เดินในทางสายกลางซึ่งตอบโจทย์นักลงทุนตั้งแต่ระดับ ‘รากหญ้า’ ขึ้นมาถึง ‘มหาเศรษฐี’ เลยทีเดียว จากกลไกการเปลี่ยนผ่าน ‘ค่าเช่า’ สู่มือผู้ลงทุนในรูปของ ‘เงินปันผล’ เฉลี่ย 5-8% ขึ้นกับลักษณะของอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าไปลงทุน ยิ่งทำให้ทางเลือกนี้ทรงเสน่ห์มากขึ้นในยามที่ดอกเบี้ยต่ำติดดินเช่นนี้


“แม้แต่นักลงทุนในหุ้นเองก็ยังไม่ละเลยเช่นกัน ในอีกมุมกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็เสมือน หุ้นปันผลดีๆ ตัวหนึ่ง ซึ่งบุคลิกปกติของหลักทรัพย์ที่มีการจ่ายปันผลดีนั้น ราคาจะไม่หวือหวามาก ในยาม ตลาดขาขึ้นอาจไม่ร้อนแรง แต่ในยาม ตลาดขาลง ก็จะลงน้อยกว่าตลาดเช่นเดียวกัน เพราะมีเงินปันผลค้ำระดับราคาไว้อยู่นั่นเอง”

 

“กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund :IF) อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ

ในกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้น ยังมีทางเลือกที่น่าสนใจอยู่ ได้แก่ “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund : IF)” หรือ Infra Fund” นั่นเอง เพิ่งเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมกองทุนในปี2014 แต่มีการเติบโตที่ดีมากจนปัจจุบันมีขนาดขึ้นมาใกล้เคียงกับกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (กอง1 ,REIT) แล้ว ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท


‘Infra Fund’ เป็นเครื่องมือในการระดมทุนเช่นเดียวกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ แต่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์กับประเทศในวงกว้าง ซึ่งบางโครงการอาจเป็นโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ‘Infra Fund’ ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐและการก่อหนี้สาธารณะของรัฐได้อีกอีกด้วย โดยกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่ ‘Infra Fund’ ลงทุนได้มี 10 ประเภท ได้แก่

1.ระบบขนส่งทางราง

2.ประปา

3.ท่าอากาศยานหรือสนามบิน

4.โทรคมนาคม

5.ระบบบริหารจัดการน้ำ/การชลประทาน

6.ไฟฟ้า

7.ถนน ทางพิเศษ หรือสัมปทาน

8.ท่าเรือน้ำลึก

9.พลังงานทางเลือก

10.ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ


โดย ‘Infra Fund’ จะมีจุดเด่นที่แตกต่างจากกองทุนอสังหาริมทรัพย์ปกติทั่วไปในเรื่องของ ภาษีเงินปันผล ซึ่งจะได้รับการ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลเป็นเวลา 10 ปี นับจากปีภาษีที่มีการจัดตั้งกองทุน ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด


“ในแง่ของผลตอบแทนของ ‘Infra Fund’ ก็ไม่ได้แตกต่างไปกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ปกติ ในแง่ของความผันผวนของราคาในตลาดรองก็อาจจะน้อยกว่าด้วย เพราะกระแสรายได้ของกิจการโครงสร้างพื้นฐานนั้นค่อนข้างมีเสถียรภาพอยู่แล้วในระดับหนึ่งนั่นเอง ดังนั้น ลงทุนผ่าน Infra Fund ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไปด้วยควบคู่กัน”

 

DIF & TFFIF”… 2 ยักษ์แห่ง Infra Fund


สำหรับ “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF)นั้น เดิมชื่อ ‘กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทรูโกรท (TRUEIF)’ เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมกองแรกในไทย ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งโอกาสรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมออีกทั้งยังเป็นการช่วยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure Sharing) อีกด้วย


‘กอง DIF’ เน้นลงทุนเพื่อจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม มี บลจ.ไทยพาณิชย์ เป็นผู้จัดการกองทุน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.13 ราคาพาร์ 10 บาท มูลค่าโครงการ 96,379 ล้านบาท สิ้นปี18 มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 146,069.59 ล้านบาท มี NAV 15.16 บาทต่อหน่วย ถือเป็น Infra Fund ของ ภาคเอกชน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน


“จ่ายปันผลมาแล้ว 20 ครั้ง เป็นเม็ดเงินรวม 4.83 บาทต่อหน่วย จ่ายทุกปีตั้งแต่ปี14 ถึงปัจจุบันเฉลี่ยไตรมาสละ 1 ครั้ง เรียกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าลงทุนมาตั้งแต่ครั้งแรกก็รับปันผลไปแล้วกว่า 48.3% ถ้าเฉลี่ยต่อปีออกมาก็ไม่น้อยเลยทีเดียว”


หันมาดู ‘Infra Fund’ ของ ภาครัฐ ที่มีขนาดใหญ่สุดในปัจจุบันกันบ้าง นั่นคือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF)เน้นลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินในโครงสร้างพื้นฐานทางพิเศษ 2 เส้น ได้แก่ ‘ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์)’ และ ‘ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี)’ มี บลจ.เอ็มเอฟซี และ บลจ.กรุงไทย เป็นผู้จัดการกองทุน


“เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 31 ต.ค. 18 ราคาพาร์ 10 บาท มูลค่าโครงการ 45,659 ล้านบาท ณ สิ้นปี18 มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 46,041 ล้านบาท มี NAV 10.07 บาทต่อหน่วย จ่ายปันผลมาแล้ว 1 ครั้ง เป็นเงิน 0.07 บาทต่อหน่วย และคืนทุน 1 ครั้ง 0.01 บาทต่อหน่วย ทำให้มีราคาพาร์ใหม่อยู่ที่ 9.99 บาทต่อหน่วย”


ด้วยบุคลิกของกลุ่ม กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เองที่มีการจ่ายปันผลที่สม่ำเสมอและดีกว่า ดอกเบี้ยเงินฝาก ในขณะที่ความผันผวนก็จะน้อยกว่า หุ้น ซึ่งสะทอนผ่านผลตอบแทนของ ดัชนีกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ต้นปี18 ถึง 3 เม.ย. 19 ให้ผลตอบแทน 15.96% ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) ติดลบ 7.30% หรือต่างกันอยู่ 23.26% เลยทีเดียว


“เมื่อโฟกัสมาที่ ‘กอง DIF’ และ ‘กอง TFFIF’ นั้น ตั้งแต่สิ้นเดือนพ.ย.18 ถึง 3 เม.ย. 19 ให้ผลตอบแทน 5.48% และ 6.86% ตามลำดับ ในขณะที่ SET บวก 0.45% จะเห็นว่าราคาในตลาดรองของทั้ง 2 Infra Fund ก็สะท้อนมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนได้เป็นอย่างดี และด้วยเป็นกองที่มีขนาดใหญ่ทั้งคู่ทำให้สภาพคล่องในการซื้อขายในตลาดรองอยู่ในระดับที่ดีทำให้มีโอกาสที่จะทำกำไร (Capital Gain) จากราคาตลาดได้ด้วย นอกเหนือจากผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในรูปของเงินปันผลแล้ว”


ใครที่เบื่อ ‘ดอกเบี้ยต่ำ’ ใครที่ผวากับ ‘ความผันผวน’ ในตลาดหุ้น อยากได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากและไม่ผันผวนมากเหมือนหุ้น กลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์น่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์คุณได้เป็นอย่างดี และหนึ่งในหลายๆ ทางเลือกนั้น ‘DIF’ และ ‘TFFIF’ ก็น่าจะเป็นคำตอบที่หลายๆ คนกำลังมองหาด้วยเช่นกัน