“ตั้งสติ”...ก่อนสตาร์ท ‘การใช้จ่าย’

>>

สิ้นปี2018 “หนี้ครัวเรือนต่อ GDP” ของไทยอยู่ที่ 78.6% จากสิ้นปี2017 ที่ 78.3% ทำให้ทางแบงก์ชาติออกมาแสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้อีกครั้งและเริ่มมีมาตรการเฉพาะจุดเพื่อเข้าไปดูแลทั้งการปล่อยกู้บ้าน ปล่อยกู้รถ เป็นต้น

“มีคำกล่าวว่า...ดูหนังดูละครแล้ว ให้ย้อนมองดูตัวเอง เมื่อมองดูตัวเลข หนี้ครัวเรือนต่อ GDP’ แล้ว เราก็กลับมาย้อนมองตัวเองได้เช่นกัน ขนาดแบงก์ชาติยังห่วงกังวล แล้วเราล่ะ...ไม่กังวลกันบ้างหรือ?”

จริงๆ รัฐบาลใหม่เข้ามาน่าจะวางรากฐานยกระดับให้ประชาชนคนไทย ‘อ่านออกเขียนได้ทางการเงิน (Financial Literacy)’ อย่างเป็นระบบเลยก็จะดีไม่น้อย ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” เรื่องหนึ่งได้เลยทีเดียว

ถ้า ‘รายได้’ หามาแล้วส่วนใหญ่ต้องเอาไป ‘ใช้หนี้’ เช่น หามา 100 บาท ใช้หนี้ไป 80 บาท เหลือใช้ 20 บาท จะพอยังชีพหรือไม่? จะเหลือเงินที่ไหนไปจับจ่ายใช้สอย นี่ยังดี ‘ดอกเบี้ย’ ต่ำเตี้ยติดดิน ถ้าดอกเบี้ยขยับปรับเทรนด์สู่ขาขึ้นเต็มตัว จะลำบากยิ่งกว่านี้แล้วจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาได้เช่นกัน ฉะนั้น อย่างตั้งตนในความประมาท

 

“รายได้” ...ไม่พอกับ รายจ่ายเหตุแห่งปัญหา

ปัญหาที่เข้าข่ายว่าจะเป็นกึ่งๆ วงจรอุบาทว์ ทางการเงินนั้น มาจากเรื่องธรรมดาๆ มาก คือ ‘เงินไม่พอใช้’ มี ‘รายจ่าย’ มากกว่า ‘รายได้’ ทำให้เกิดสมการอาภัพซับซ้อนขึ้น นั่นคือ เงินออมสุทธิติดลบ

แต่ The Show must go on ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป แม้ไม่มีรายได้ก็ยังต้อง ‘บริโภค’ แล้วจะเอาอะไรไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภคล่ะ เงินกู้ ไง เพราะ เงินกู หมดหน้าตักแล้ว ตรงนี้จะเริ่มยุ่งล่ะกลายเป็นสมการอาภัพซับซ้อนหลายตัวแปร จะแก้กันยากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น “ตั้งสติ...ก่อนสตาร์ทการใช้จ่าย” ทุกครั้ง

ทาง “สํานักงานสถิติแห่งชาติ” ได้จัดทําโครงการ “สํารวจพฤติกรรมการออม และการเข้าถึงบริการทาง การเงินภาคครัวเรือน” (เก็บรวบรวมข้อมูลช่วงไตรมาสที่3/18) พบว่า จากครัวเรือนทั่วประเทศประมาณ 21.6 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่มีการออมเงิน 15.7 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 72.9% และอีก 5.8 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 27.1% ไม่มีเงินออม


“แต่ในครัวเรือนที่มีการออมนั้น มีการแบ่งส่วนของเงินออมไว้ก่อนที่จะนำไปใช้จ่ายเพียง 22.6% ซึ่งเงินส่วนนี้ได้ออมแน่ๆ แต่ที่เหลือจะได้ออมหรือไม่ยังต้องตามลุ้นกันดูอีกครั้งนะ หรือจะบอกว่าส่วนที่เหลืออีก 77.4% ไม่รู้จะได้ออมตามที่ตั้งใจว้หรือไม่ก็คงไม่ผิดนัก”

จึงไม่น่าแปลกใจว่า...จากการสำรวจยังพบอีกว่า ครัวเรือนทั่วประเทศเคยประสบ ปัญหาเงินไม่พอจ่าย 50.4% และไม่เคยประสบปัญหา 49.6%’ ตัวเลขออกมาใกล้เคียงกันครึ่งๆ ทั้งที่หากย้อนกลับไปดูตัวเลขของครอบครัวที่มีการออมเงินสูงถึง 72.9% ก็ตาม

“ปัญหาเงินไม่พอใช้...มาจากเหตุพื้นฐานง่ายๆ คือ มี รายจ่าย มากกว่า รายได้ นั่นเอง ที่ตั้งใจว่าจะเก็บออม สุดท้ายจึงมักไม่ได้เก็บ ดังนั้นเก็บก่อน...เหลือค่อยเอาไปใช้จ่าย เป็นวิธีที่ดีที่สุด ถ้าต้องการจะ เก็บออม แต่เงื่อนไขชีวิตของแต่ละบุคคลก็แตกต่างกันไป บ้างลำพังจะใช้จ่ายยังไม่เพียงพอ เรื่องจะออมก็ลืมไปได้เลย บ้างก็ใช้จ่ายเกินตัว จนรายได้ไม่พอจ่าย ผลลัพธ์ไม่แตกต่าง แต่เหตุกลับต่างออกไป”

บนเงื่อนไขที่ยังไม่สามารถจะเก็บออมได้ ทางเลือกที่ดีเป็นลำดับถัดมาก็คือ ‘จ่าย’ ให้เพียงพอกับ ‘รายได้’ หรือให้อยู่ใน งบประมาณของตัวเอง ตรงนี้ก็จะช่วยให้มีสมการรายจ่ายแบบ สมดุล คือ รายจ่าย เท่ากับ รายได้ ปัญหาการเงินยังไม่น่าจะมาเยือน แต่ต้องมี วินัย ในการใช้จ่ายพอสมควรเลยทีเดียว

 

“ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้”...แก้ปัญหาได้ตรงจุด

“ถ้าหลุดจากสเต๊บนี้ไป ก็คงจะเจอปัญหาเงินไม่พอจ่ายแล้ว แต่หากดูวิธีแก้ไขปัญหาของครัวเรือนไทยก็มีหลายทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ 4 ทางเลือกแรก ซึ่งเป็นการหันมาแก้ไขที่ตัวเอง พึ่งตัวเองเป็นหลัก”

แต่ทางเลือกที่ตอบโจทย์ในระยะยาว คือ

  • ลดค่าใช้จ่าย ให้อยู่ในงบประมาณรายได้ของตัวเองในที่สุด ปัญหาการใช้จ่ายไม่พอก็จะหมดไปในท้ายที่สุดด้วยเช่นกัน แต่การลดค่าใช้จ่ายก็คงทำได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน
  • หารายได้เพิ่ม ก็เป็นอีกแนวทางที่หากทำได้ก็จะช่วยได้ในระยะยาวเช่นกัน แต่สิ่งที่ต้องตระหนัก คือ ทุนมนุษย์ ของตัวเองด้วย ถ้าใช้ทักษะฝีมือของตัวเองต่อยอดสร้างรายได้ได้เลย ต้นทุนก็จะถูกหน่อย แต่ถ้าจะต้องลงทุนค้าขายหรือทำธุรกิจ ก็จำเป็นต้องมีทุนตั้งต้นระดับหนึ่ง หากยังไม่มีก็ควรเริ่มสะสมเอาไว้แต่เนิ่นๆ ด้วยเช่นกัน



“การขายทรัพย์สิน ก็ช่วยได้ ชั่วคราว เหมือนบันทึกรายการพิเศษเข้ามาเป็นรายได้เพียงครั้งเดียว แต่หากรูปแบบการใช้เงินยังไม่เปลี่ยน คุณก็พร้อมจะเจอปัญหาการเงินได้ตลอดเวลา ส่วนการกู้ยืมเงินก็ช่วยได้ชั่วคราวเช่นกัน และหากกู้มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ กู้มาผิดแหล่ง (เงินกู้นอกระบบ) อาจจะมีปัญหาอื่นตามมาเพิ่มเติมในอนาคตด้วย จะไม่จบแค่ปัญหาการเงินแล้ว”

สุขภาพการเงินที่ดีไม่มีขาย...อยากได้ต้องทำเอง เริ่มง่ายๆ ที่ตัวคุณทุกคน “ตั้งสติ”...ก่อนสตาร์ท ‘การใช้จ่าย’ ทุกครั้ง เงินพอใช้...นับว่า ‘ดีแล้ว’ เงินพอใช้และมีเหลือเก็บ...นับว่า ‘ดีกว่า’ เงินพอใช้...เหลือเก็บไปลงทุนให้งอกเงย...นับว่า ‘ดีที่สุด’