อย่าทิ้งเงินให้หลับใหลใน... ‘ออมทรัพย์’ ขยับสู่ “กองตราสารตลาดเงิน”...ทางเลือกที่ใช่
>> ถ้าทิ้งไว้โดยตั้งใจ ก็เป็นเส้นทางที่คุณเลือก ไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าไม่ได้ตั้งใจแล้วล่ะก็ ทางเลือกการลงทุนที่ตอบโจทย์คุณยังมีอยู่จริงแน่นอน
เห็นตัวเลขการเติบโตของ “เงินฝากออมทรัพย์” ในช่วงปี2008-2018 โตเฉลี่ยสะสม (CAGR) 11.00% ต่อปี สูงกว่าการเติบโตของเงินฝากทั้งระบบที่โตเฉลี่ย 6.76% ต่อปี และสูงกว่าการเติบโตของ “เงินฝากประจำ” ในช่วงเวลาเดียวกันที่โตเฉลี่ยเพียง 2.48% ต่อปี เท่านั้น สะท้อนว่า...คนไทยส่วนใหญ่ยังคงนิยมชมชอบการฝากเงินไว้กับแบงก์ ที่สำคัญยังเป็น ‘เงินฝากออมทรัพย์’ เสียด้วย จะโดย ‘ตั้งใจ’ หรือ ‘ไม่ตั้งใจ’ ก็ตาม
“ถ้าทิ้งไว้โดยตั้งใจ ก็เป็นเส้นทางที่คุณเลือก ไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าไม่ได้ตั้งใจแล้วล่ะก็ ทางเลือกการลงทุนที่ตอบโจทย์คุณยังมีอยู่จริงแน่นอน”
“เงินฝากออมทรัพย์”...โตแรงแซงหน้า ‘เงินฝากประจำ’
ย้อนหลังไปในปี2008 ตอนนั้น ‘เงินฝากออมทรัพย์’ มีขนาด 2.79 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 38.93% ของเงินฝากทั้งระบบ น้อยกว่า ‘เงินฝากประจำ’ ในขณะนั้นที่มีขนาด 4.05 ล้านล้านบาท คิดเป็น 56.57% ของเงินฝากทั้งระบบ แต่ด้วยอัตราการเติบโตที่รวดเร็วทำให้ขนาดของ ‘เงินฝากออมทรัพย์’ วิ่งแซง ‘เงินฝากประจำ’ ไปตั้งแต่ปี2014 แล้วก็ทิ้งห่างมาอย่างต่อเนื่อง
ให้หลังเพียง 10 ปี ณ สิ้นปี2018 ‘เงินฝากออมทรัพย์’ มีเม็ดเงินรวมกัน 7.91 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 57.49% ของเงินฝากทั้งระบบ ในขณะที่ ‘เงินฝากประจำ’ มีขนาด 5.17 ล้านล้านบาท มีสัดส่วน 37.58% ของเงินฝากทั้งระบบ
“ถึงตรงนี้...หลายคนอาจจะรู้สึกแปลกใจอยู่บ้าง ธรรมชาติของดอกเบี้ย ‘เงินฝากออมทรัพย์’ น่าจะน้อยกว่า ‘เงินฝากประจำ’ (กรณีทั่วไป ไม่ได้รวมเอาเงินฝากออมทรัพย์พิเศษต่างๆ ที่ให้ดอกเบี้ยสูงภายใต้เงื่อนไข) แล้วทำไม...คนไทยส่วนใหญ่ยังเลือกฝาก ‘ออมทรัพย์’ เหตุผลเดียวที่อธิบายได้จากข้อมูลเชิงประจักษ์...มองเรื่อง ‘สภาพคล่อง’ ของเงินมากกว่าเรื่องของ ‘ผลตอบแทน’ นั่นเอง อยากใช้...ต้องได้ใช้เลยทันทีประมาณนั้น”
“สัดส่วนกองทุนตราสารหนี้ต่อ AUM” ปรับตัวลดลง
วกกลับมาดูธุรกิจกองทุนรวมกันบ้าง ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “กองทุนตราสารหนี้” เองก็มีการเติบโตขึ้นเฉลี่ยสะสม (CAGR) 9.92% ต่อปี สูงกว่าการโตของเงินฝากในระบบที่ 6.76% ต่อปี แต่ก็ยังโตน้อยกว่า ‘เงินฝากออมทรัพย์’ ในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ดี
หากเรามองโครงสร้างของธุรกิจกองทุนรวมผ่าน “สัดส่วนกองทุนตราสารหนี้ต่อสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM)” จะพบว่า สัดส่วนนี้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเดินโมเดลธุรกิจที่ต้องการเน้นเรื่อง ‘คุณภาพสินทรัพย์’ มากกว่า ‘ปริมาณ’ นั่นเอง
ในปี2008 อุตสาหกรรมกองทุนมี “สัดส่วนกองทุนตราสารหนี้ต่อ AUM” ค่อนข้างสูงที่ 71.21% ในจำนวน 21 บลจ. มี 11 บลจ.คิดเป็นสัดส่วน 47.62% ของทั้งหมด ที่มีสัดส่วนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ในขณะที่อีก 10 บลจ.คิดเป็นสัดส่วน 52.38% ของทั้งหมดที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย
แต่ 10 ปีให้หลัง ณ สิ้นปี2018 อุตสาหกรรมมี “สัดส่วนกองทุนตราสารหนี้ต่อ AUM” ลดลงเหลือ 49.59% โดยมีเพียง 7 บลจ. คิดเป็น 35% จากบลจ.ทั้งหมด 20 แห่ง ที่มีสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มเมื่อปี2008 อยู่นั่นเอง และมีถึง 13 บลจ. คิดเป็นสัดส่วน 65% ของทั้งหมด ที่มีสัดส่วนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
“การเน้นเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ที่บริหาร เป็นแนวโน้มกระแสหลักของอุตสาหกรรมกองทุนตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะจะเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนได้ในอนาคตนั่นเอง”
“กองตราสารตลาดเงิน”…ทางเลือกที่ตอบโจทย์
ลองคิดกันเล่นๆ หากเม็ดเงินใน ‘เงินฝากออมทรัพย์’ แบ่งมาลงทุนใน ‘กองตราสารหนี้’ แค่ 1 ใน 4 คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 2 ล้านล้านบาท กลุ่มกองตราสารหนี้จะโตขึ้นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว
แล้วกองตราสารหนี้ประเภทไหน น่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ให้กับผู้ลงทุนกลุ่มเงินฝากออมทรัพย์ได้ล่ะ?
“กองทุนตราสตลาดเงิน” เป็นคำตอบสุดท้าย...
ในขณะที่ ‘เงินฝากออมทรัพย์’ สภาพคล่องที่ได้ คือ ทันที (T+0) กด ATM ปุ๊บ ได้เงินปั๊บ สแกนปุ๊บ...จ่ายปั๊บ ใช้จ่ายคล่องตัว
สภาพคล่องของ ‘กองตราสารตลาดเงิน’ จะอยู่ที่ (T+1) ดีเลย์ไป 1 วัน สั่งขายวันนี้...พรุ่งนี้ถึงจะได้เงินเข้าบัญชีมาใช้
ถ้าวางแผนการใช้เงินดีๆ จัดส่วนผสมของ ‘เงินฝากออมทรัพย์’ กับ ‘กองตราสารตลาดเงิน’ ได้ แผนการใช้เงินในชีวิตประจำวันของคุณจะยังคงเดินหน้าไปได้ “ไม่สะดุด” แน่นอน
ตัวอย่าง : คุณมีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ 100,000 บาท แต่คุณไม่ได้ใช้จ่ายประจำวันมากขนาดนั้น อาจจะวันละ 350 บาท ตกเดือนละ10,500 บาท เผื่อเอาไว้ใช้ให้รางวัลชีวิตอีกนิด เป็นสภาพคล่องปกติต่อเดือน 13,000 บาท (สมมติเป็นตุ๊กตาขึ้นมา) ซึ่งปกติคุณจะดึงมาจากเงินเดือนเอามาใช้อยู่แล้ว
ดังนั้น คุณจึงไม่จำเป็นต้องทิ้งเงิน 100,000 บาท ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ทั้งหมด เพราะยังไงคุณก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี จริงมั้ย? ก็แบ่งเงินส่วนนี้กระจายไปลงทุนใน “กองตราสารตลาดเงิน” บางส่วน
สิ่งที่จะได้ตามมา คือ “ผลตอบแทนที่ดีขึ้น” อาจฟังดูเป็นตัวเลขไม่มาก จากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ย 0.5% ต่อปี มาเป็นผลตอบแทนเฉลี่ย 1.0% ต่อปี แต่นี่เป็นผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น “เท่าตัว” เลยทีเดียว ที่สำคัญคิดผลตอบแทนให้ ‘ทุกวัน’ ต่างกับดอกเบี้ยแบงก์ที่คิดให้ ‘ปีละ 2 ครั้ง’ เท่านั้น ในขณะที่ ‘สภาพคล่อง’ ก็ไม่ได้แย่อะไร แค่คุณวางแผนการใช้เงินดีๆ ก็หมดปัญหาแล้ว
“ที่สำคัญได้เรียนรู้โพรดักท์การลงทุนที่มี ‘ความเสี่ยงต่ำสุด’ ของกองทุนรวมอีกด้วย โอกาสขาดทุนจากสถิติที่ผ่านมา ผลตอบแทนกลุ่ม “กองทุนตราสารตลาดเงิน” ไม่เคยติดลบ เพราะมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่มมีสภาพคล่องสูง และดำรงอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ลงทุนต่ำกว่า 1 ปี จึงทำให้มีผลกระทบจาก ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ ค่อนข้างจำกัด”
สำหรับแฟนพันธุ์แท้ “เงินฝากออมทรัพย์” ถ้าคุณต้องทิ้งเงินอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ด้วยความตั้งใจ ก็คงไม่ผิดอะไร แต่หากคุณทิ้งไว้เพราะไม่รู้ หรือไม่เห็นทางเลือกอื่นที่น่าสนใจกว่า เชื่อว่า...กลุ่ม “กองทุนตราสารตลาดเงิน” จะตอบโจทย์คุณได้บ้างไม่มากก็น้อย