Space Stone-กลุ่ม “กองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF)”
เพราะพลังแห่ง “Infinity Funds” เพียงเม็ดใดเม็ดหนึ่งนั้น ไม่อาจตอบโจทย์จักวาลผลตอบแทนได้อย่างสมบูรณ์ การไล่ล่าเพียงเม็ดหนึ่งเม็ดใดไว้ในครอบครองนั้นจึงยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เสาะหากันไปแล้วกับ 2 อัญมณี “Soul Stone-กองทุนอสังหาริมทรัพย์” และ “Reality Stone-กองทุนผสม”
ครั้งนี้เราจะพามาตามหาอัญมณีเม็ดที่3 “Space Stone” มีพลังในการเปิดประตูมิติผู้ใช้สามารถวาร์ปการลงทุนของตัวเองไปที่ใดก็ได้ตามต้องการ ได้แก่กลุ่ม “กองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF)” นั่นเอง
ทุกสินทรัพย์ที่มีอยู่ในจักรวาลการลงทุน ด้วยกลุ่ม ‘กองทุน FIF’ นี้ สามารถพาคุณก้าวข้ามขีดจำกัดของ ‘เวลา’ และ ‘สถานที่’ ไปได้ดั่งใจนึก ส่งเงินติดปีกบินข้ามมิติกาลเวลาไปลงทุนกันได้เลย
“แต่จุดด้อยหนึ่ง คือ เมื่อทะลุมิติการลงทุนไปไกล การจะทำความรู้จักและเข้าใจในสินทรัพย์ปลายทางที่ลงทุนจะให้ได้ละเอียดลึกซึ่งเหมือนกับลงทุนในประเทศก็คงลำบาก และเมื่อต้องการจะวาร์ปการลงทุนกลับมาที่เดิมอีกครั้งก็ต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยจะมีการดีเลย์ (การรับเงินหลังจากขาย) กว่ากลุ่มกองทุนประเภทอื่นไปด้วย”
วาร์ป “การลงทุน” ...บุกทุกจักรวาล ‘ผลตอบแทน’
ปัจจุบันกลุ่ม ‘กองทุน FIF’ กระจายไปไกลในทุกจักรวาลการลงทุน หากแบ่งตามประเภท ‘สินทรัพย์ (Asset Class)’ ก็มีครอบคลุมสินทรัพย์ หลักๆ ที่รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เป็นการขยาย Universe ของสินทรัพย์ที่ลงทุนให้กว้างไกลออกไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- ‘หุ้น’
- ‘ตราสารหนี้’
- ‘ผสม’
- ‘การลงทุนทางเลือก’ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ,ทองคำ หรือน้ำมัน
ในแต่ละประเภทสินทรัพย์ก็มีการกระจายตัวไปในทั่วทุกพื้นที่การลงทุนทางกายภาค ได้แก่
- ‘ระดับภูมิภาค’ ทั้งที่ไปทั่วโลก ,ตลาดเกิดใหม่ ,เอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) หรืออาเซียน ให้เลือกวาร์ปกันตามถนัดเลย
- ‘ระดับประเทศ’ โฟกัสเจาะจงไปรายประเทศเลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไปในประเทศที่นักลงทุนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะอย่างที่บอกถ้าไปไกลมาก อาจไม่มีใครวาร์ปตามไปลงทุนก็ได้ แค่ที่มีอยู่ก็ติดตามดูกันไม่ไหวอยู่แล้ว
พัฒนาการในยุคหลังในส่วนของ ‘หุ้น’ ก็จะขยับลงไปถึง ‘ขนาดของหุ้น’ เป็น ‘หุ้นขนาดกลาง-เล็ก’ ตลอดจนเป็น ‘สไตล์’ ของหุ้น เช่น ‘หุ้นคุณค่า (Value)’ หรือ ‘หุ้นเติบโต (Growth)’ หรือ ‘หุ้นปันผลสูง (High Dividend)’ เป็นต้น
แบบที่มาเป็น ‘ธีม (Theme)’ การลงทุนก็มีมาให้เลือกเช่นกัน
- ‘หุ้นสุขภาพ’ มีทั้งแบบดั้งเดิมที่เป็น ‘Conventional Healthcare’ และแบบใหม่อย่าง ‘Innovative Healthcare’ ให้เลือกกันตามใจชอบ
- ‘หุ้นเทคโนโลยี’ ไม่ว่าจะเพียวเทคโนโลยี โรโบติกส์ หรือ Disruption แตกไลน์ออกมาเอาใจคนชอบลงทุนแบบโฟกัสกันไปเลย
Top5… ‘บลจ.ต่างชาติ’ ที่พา ‘เงินบาท’ ติดปีกมากสุด
ปัจจุบันกลุ่ม ‘กองทุน FIF’ มีกองทุน 719 กอง (พอๆ กับหุ้นในตลาดหุ้นไทยเลย) มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เป็นกลุ่ม ‘กองทุนที่มีอายุ (Fix Term)’ กับ ‘กองทุนเปิด’ ปกติ ประมาณ 50-50 เรียกว่ามีมากมายดั่งดวงดาวบนท้องฟ้ายามราตรี ตาลายจนเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว
โดยการจะวาร์ปไปลงทุนในที่ใดในโลกนั้นส่วนใหญ่กว่า 90% จะทำผ่าน ‘กองทุนหลัก (Master Fund)’ ของพันธมิตรซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ‘บลจ.ต่างประเทศ’ ที่เข้ามานำเสนอโพรดักต์ให้กับบลจ.ไทยเป็นสำคัญ จึงไม่ต้องแปลกใจถ้ากองทุนหลักที่ไปลงทุนนั้นจะ ‘เหมือนกัน’ แม้ว่าจะมาจาก ‘ต่างบลจ.’ ก็ตาม ยกเว้น ‘บลจ.ต่างประเทศ’ ที่มารุกธุรกิจในไทยตรงนั้นก็สามรถจะวาร์ปผ่านเครือข่ายแม่ของตัวเองไปได้โดยตรงเลย
สำหรับ ‘5 บลจ.ต่างประเทศ’ ที่บลจ.ไทยขนเงินไปลงทุนด้วยมากที่สุดนั้น ได้แก่
- ‘PIMCO’
- ‘BlackRock’
- ‘JPMorgan’
- ‘State Street’
- ‘UOB’
“หลับตาจินตนาการจากเม็ดเงินที่ระดมทุนได้จากบลจ.ไทยทั้ง 5 บลจ.ต่างชาตินี้ ก็ติดทำเนียบบลจ.ขนาดกลางในไทยที่มีสินทรัพย์เกิน 10,000 ล้านบาท มากกว่าบลจ.ไทยขนาดเล็กที่สินทรัพย์ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท อีก 7 บลจ. ล่ะกัน ไม่ธรรมดาจริงๆ ไหนว่าคนไทยไม่มีเงิน ไมน่าจะจริงล่ะแบบนี้ แหล่งขุดทองของบลจ.ต่างชาติเหล่านี้เลยทีเดียว”
‘รูปแบบ’ และ ‘ผลตอบแทน’…ของกลุ่ม “กองทุน FIF”
“Infinity Fund” กลุ่มกองทุน FIF นี้ สามารถเปิดประตูมิติวาร์ปไปทั่วทั้งจักรวาลการลงทุนซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นของอัญมณีเม็ดนี้เลย โดยรูปแบบหลักๆ เลยจะอยู่ใน 2 ลักษณะ ได้แก่
- ‘Feeder Fund’ ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมสุดในกลุ่มกองทุน FIF คือ ไปลงทุนผ่าน ‘กองทุนหลัก (Master Fund)’ ซึ่งเป็นกองทุนแม่เพียงกองทุนเดียว ‘ไม่น้อยกว่า 80%’ ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน โดย ‘ผู้จัดการกองทุน’ ของกองแม่ก็จะลงทุนบริหารไปตามนโยบายการลงทุนที่ระบุไว้เป็นสำคัญ
- ‘Fund of Funds’ จะต่างกันตรงที่กองทุนปลายทางในต่างประเทศนั้นจะมีหลายกองเท่านั้นเอง
ในยุคหลังมานี้ ก็เป็นพัฒนาการในการวาร์ปของบลจ.ไทย คือ
- ‘ลงทุนเองตรงในต่างประเทศ’ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไปไม่ไกลตลาดไทยหากเป็น ‘หุ้นรายตัว’ หรือไปผ่าน ‘กองทุน ETF’ ซึ่งมีทั้งที่ไปเองเต็มรูปแบบก็มี หรือไปเพียงบางส่วน อีกส่วนก็ลงทุนผ่านกองทุนผสมกันไป ก็มีเหมือนกัน
“ส่วน ‘ผลตอบแทน’ ของกลุ่มกองทุน FIF นั้น จะ ‘มาก’ หรือ ‘น้อย’ ขึ้นกับสินทรัพย์ที่ไปลงทุนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของ ‘อัตราแลกเปลี่ยน’ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”
ปัจจุบันกลุ่ม ‘กองทุน FIF’ ก็จะมีบางกองที่ทำมาให้เลือกเลย ระหว่าง
- ‘ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Hedge)’ คือ เน้นลงทุนเอาผลตอบแทนตามนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ปลายทางเป็นสำคัญ ตัดผลกระทบในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนออกไปเลย ซึ่งจะมีการปิดความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ‘ไม่น้อยกว่า 90%’ ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้น ค่าเงินบาทจะ ‘อ่อน’ หรือ ‘แข็ง’ นักลงทุนไม่ต้องปวดหัว สนใจผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเดียวพอ ตรงไปตรงมาเลย
- ‘ไม่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Unhedged)’ เปิดเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่มีมุมมองในเรื่องของ ‘ค่าเงิน’ ผสมเข้ามาด้วย ก็จะมีทั้งที่ป้องกันความเสี่ยงเพียง ‘บางส่วน (Partial)’ หรือป้องกันความเสี่ยง ‘ตามดุลพินิจ (Discretion)’ เวลาได้ประโยชน์จากค่าเงินก็ไม่ Hedge ถ้าเสียประโยชน์ก็ Hedge หรือไม่ป้องกันความเสี่ยงเลยเป็น ‘Natural Hedge’ ไป
“ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศของคุณได้ ทั้งใน ‘ทางบวก’ และ ‘ทางลบ’ ใครที่มีมุมมองเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็ต้องเข้าใจและรับความเสี่ยงในเรื่องนี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน”
ผ่านมาครึ่งทางแล้วสำหรับการตามสะสม “Infinity Funds” ในครั้งนี้กับกลุ่ม ‘กองทุน FIF’ จะทำให้จักรวาลการลงทุนของคุณครอบคลุมและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ‘ไม่ถูกจำกัด’ ไว้ในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว กองทุนกลุ่มนี้ในส่วนที่เป็นสินทรัพย์หลัก สามารถถือเป็น ‘Core Port’ ได้เลยทีเดียว