เดิมพันสมรภูมิเครื่องดื่ม “Summer is here with us”

>>

อากาศช่วงนี้ในระดับที่ไม่ต้องพูดถึง ระดับอุณหภูมิสูงเพิ่มขึ้นจนติดระดับโลก ยิ่งร้อนคนก็ยิ่งกระหายน้ำ หน้าร้อนจึงเป็นไฮซีซั่นของการขายเครื่องดื่ม แล้วผู้ประกอบการแต่ละราย ทำยอดขายได้เท่าไหร่กันบ้าง และอนาคตจะไปทางไหน มาดูกันเลย... เริ่มจาก “อิชิตัน” หรือบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ของ “ตัน ภาสกรนที” กับภาพที่ผู้บริโภคคุ้นตากับการทำมาร์เก็ตติ้งแจกของรางวัล


ICHI
มีสินค้าอะไรบ้าง

  • ชาเขียวพร้อมดื่ม “อิชิตัน กรีนที”
  • เครื่องดื่มสมุนไพร “เย็นเย็น”
  • เครื่องดื่มน้ำผลไม้ และเยลลี่ “ไบเล่”
  • ชาเขียววุ้นมะพร้าวพร้อมดื่ม “ชิวชิว”
  • ชาดำพร้อมดื่ม
  • เครื่องดื่มชูกำลัง “T247”
  • ชาเขียวพร้อมดื่ม “ชิซึโอกะ กรีนที”

 

กลุ่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม ยังทำรายได้เป็นหลัก 5,052.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 97.1% ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้และอื่นๆ ทำรายได้ 151.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.9% โดยบริษัทฯ จะขายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่าย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีบริษัท บุญรอด เอเชีย จำกัด

 

สำหรับสินค้าแฟล็กชิพอย่าง “ชาเขียวพร้อมดื่ม” ถามว่าแล้วอิชิตันอยู่ตรงไหนในตลาด? จากกำลังการผลิตขวดรวม 1,500 ขวดต่อปี และกำลังการผลิตกล่องยูเอชที 200 ล้านกล่องต่อปี ทำให้ ICHI อยู่อันดับที่ 2 ของตลาด หรือมีมาร์เก็ตแชร์ 29.8%  ลดลง เมื่อเทียบกับปี 2560 และ 2559 ที่มีมาร์เก็ตแชร์ 32.8% และ 40.4%

 

ห่างกับ “คู่แข่ง” ที่มีมาร์เก็ตแชร์ 44.9% โดยปีที่ผ่านมาตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม (Ready to Drink Tea) มีมูลค่ารวม 11,892 ล้านบาท ลดลง 10.2% เนื่องจากมีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และการปรับขึ้นของสินค้าบางกลุ่ม ผลจากต้นทุนภาษี “สรรพสามิต”


แม้ว่าจะมีภาระต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น แต่อย่าลืมว่า “ความทรงจำสั้น แต่รักฉันยาว” ต้นทุนน้ำตาลกระทบผู้ผลิตก็จริง แต่มันดันไปสอดคล้องกับเทรนด์ใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค ที่อยากจะลดหวานหรือดื่มเครื่องดื่มแบบมีน้ำตาลน้อยๆ เครื่องดื่มน้ำตาล 0% จึงมาแรง! ทำให้อิชิตันต้องเพิ่มสัดส่วนการส่งออก โดยปีที่แล้วสัดส่วนยอดขายส่งออก 32.5% จากปีก่อนที่ 27%

 

มีอะไรซ่อนอยู่ในตลาด?

 

ขณะเดียวกันแม้ว่าภาพรวมตลาดชาเขียวพร้อมดื่มจะวูบ 10% เลย แต่ “ชาพร้อมดื่มพรีเมี่ยม” กลับเติบโตดี สะท้อนว่าผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย นอกจากดื่มให้เฮลท์ตี้แล้ว ยังระวังเรื่องเงินในกระเป๋า หากดีจริง แพงก็ยอมจ่าย ด้านความเสี่ยงของอิชิตัน เรื่องนี้บริษัทรู้ดีว่าผูกกับคุณตันมากเกินไป จึงพยายามจะขยายกลุ่มสินค้าให้โตด้วยตัวเอง!

 

ตัวต่อมาคือบริษัทที่เสี่ยตันให้นิยามว่าเป็นคู่แข่งในตลาด นั่นก็คือ “โออิชิ” หรือบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้กินส่วนแบ่งตลาดชาเขียวพร้อมดื่มเบอร์ 1 ในไทย 

 

 

“โออิชิ” ค่อนข้างได้เปรียบคู่ต่อสู้ ในแง่ของตัวบริษัทเป็นบริษัทลูกของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) “อาณาจักรของตระกูลสิริวัฒนภักดี” ภายหลังเจริญ สิริวัฒภักดีเข้ามาเทคโอเวอร์โออิชิจากมือตัน ภาสกรนทีไปเมื่อหลายปีก่อน

 

ถึงไทยเบฟจะยืนหนึ่งใน “ธุรกิจแอลกอฮอล์”
แต่ก็ใช่ว่าจะวางมือในธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลฯ 

 

ไทยเบฟขยายธุรกิจสู่ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อย่างเต็มตัว จากการซื้อกิจการโออิชิ บริษัทเครื่องดื่มชาเขียวอันดับหนึ่งของประเทศไทย เข้าซื้อเสริมสุข บริษัทเครื่องดื่มที่มีเครือข่าย กระจายสินค้าครอบคลุมที่สุดในประเทศไทย และ F&N ผู้ผลิตและจัดจําหน่ายเครื่องดื่มและสิ่งพิมพ์ชั้นนําของสิงคโปร์ ทำให้พอร์ตฯ นอนแอลฯ ของบริษัทเติบโตแข็งแกร่ง ตามวิสัยทัศน์ 2020 ที่อยากให้ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ไล่ๆ กับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

 

โดยงบบัญชีปีล่าสุด (ตุลาคม 2560-กันยายน 2561) ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีรายได้จากการขายรวม 16,184 ล้านบาท ลดลง 593 ล้านบาท หรือ 3.5% ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิ  1,244 ล้านบาท ซึ่งจากผลประกอบการดังกล่าว

  • ปริมาณขายชาพร้อมดื่มลดลง 46.9 ล้านลิตร หรือ 17.2%
  • เครื่องดื่มจับใจลดลง 10.9 ล้านลิตร หรือ 24.4% 
  • เครื่องดื่ม 100Plus ลดลง 0.5 ล้านลิตร หรือ 6.8% 
  • เครื่องดื่มลิปตันลดลง 4.3 ล้านลิตร หรือ 51.5%
  • สวนทาง กับ ปริมาณขายน้ำดื่มเพิ่มขึ้น 60.2 ล้านลิตร หรือ 5.7%

 

ดังนั้นจาก “สภาพตลาด” แม้การเติบโตของปริมาณขายของนํ้าดื่มและเครื่องดื่มอัดลมจะเพิ่มขึ้น แต่ตลาดเครื่องดื่มชาเขียวต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง

 

บริษัทแม่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

 

อย่างไรก็ตามไทยเบฟยังเป็นบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็นผู้ผลิตตัวท็อปในเอเชีย ส่วนบริษัทลูกอย่างโออิชิจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะง่าย  เพราะอย่าลืมว่าศึกเครื่องดื่มชาเขียว ขึ้นอยู่กับผู้บริโภค! ทั้งนี้ในหมวดเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม ไทยเบฟก็สู้ยิบตา ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เอส เพลย์ แมงโก้ บิงซู, เอส เพลย์ เมลอน บิงซู และเครื่องดื่มอัดลมซาสี่ ในภาชนะขวดแก้วย้อนยุค

 

                                              (ข้อมูลจาก Bloomberg)

 

เซปเป้ นวัตกรรมอยู่ในดีเอ็นเอ 

 

นอกจากนี้หนึ่งในยุทธภพเครื่องดื่ม ก็มี “เซปเป้” หรือบริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) บริษัทเครื่องดื่มสัญชาติไทยลงเข้าประกวด เซปเป้ประกาศว่าอินโนเวชั่นอยู่ใน “ดีเอ็นเอ” และแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม น้ำผลไม้ ผงพร้อมชง กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม และขนมเพื่อสุขภาพ

 

 

นอกจากนี้ยังมีรางวัลการันตีจาก 4 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากเวทีระดับโลก โดยขนมอบกรอบจากปลาทะเล ZeaMax ได้รับรางวัล Finalist และ Sappe Beauti Jelly เจลลี่เพื่อสุขภาพและความงาม ได้รับรางวัล Selection จาก SIAL INNOVATION AWARDS CHINA 2018 เป็นต้น เพราะนวัตกรรมอยู่ในดีเอ็นอี … ซึ่งก็มาถูกทางแล้ว เพราะไม่งั้นอยู่ยาก

 

 

ซันโทรี่ VS.เซปเป้

 

ด้วยตลาดเครื่องดื่มไทยที่มีมูลค่า 154,000 ล้านบาท อะไรๆ จึงไม่ง่ายเลยจริงๆ อาวุธสำคัญในการแข่งขันคือ “นวัตกรรม” เจ้าแม่นวัตกรรมอย่างซันโทรี่ บริษัท ซันโทรี่ เบฟเวอร์เรจ แอนด์ ฟู้ด จำกัด หรือ SBF ผู้ผลิตเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องดื่มระดับโลก มีรายได้ประมาณ 1.2 ล้านล้านเยนในปี 2560 ก็เข้ามาตีตลาดเครื่องดื่มใสในไทย ผ่านสินค้าแบรนด์ “กู๊ดมู๊ด”

 

ไม่ใช่แค่ไทยที่แข่งขันกันรุนแรง

แต่ตลาดเครื่องดื่มแข่งขันกันทั่วโลก!

 


นอกจากนี้สินค้าอื่นในไทยเองก็รุกเต็มสูบ! ผ่าน “บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด” ผ่านเครือเป๊ปซี่โค เช่น เป๊ปซี่, มิรินด้า, เซเว่นอัพ, ลิปตัน, เกเตอเรดและอควาฟิน่า ยิ่งผนึกกำลังกับ DHL อินเตอร์ก็จริง แต่แต่จะสู้การขยายสินค้าผ่านยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ซึ่งเป็นเจ้าถิ่นได้หรือไม่ ก็ต้องมาดู เพราะช่องทางการจำหน่ายมีบทเรียนมาแล้วในสนามเครื่องดื่มน้ำดำ เป๊ปซี่-โค้ก-เอส

 

 

ซึ่งจะเห็นว่าปีที่ผ่านมา ICHI เป็นบริษัทเดียวที่ทำกำไรได้เพิ่มขึ้น ต่างกับ OICHI, SAPPE และ SBF ที่ทำกำไรได้ลดลง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องการลงทุน เพราะอย่างเซปเป้เองก็จับมือกับดานอน บริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ของฝรั่งเศส หรือเจ้าของแบรนด์โยเกิร์ตพร้อมดื่มแอคทีเวีย โดยการร่วมทุนนี้ เซ็ปเป้จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 25% หรือใช้เงินลงทุนประมาณ 75 ล้านบาท จากมูลค่าการลงทุนรวม 300 ล้านบาท เพื่อรุกธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในไทย ด้าน SBF ก็รุกตลาดเครื่องดื่มอาเซียน

 
พูดถึงหุ้นเครื่องดื่มกันไปหลายตัวแล้ว ยังมีเครื่องดื่มอีก 2 ค่ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP บริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ของไทย เจ้าของมาร์เก็ตแค็ป 87,990.73 ล้านบาท บริษัทภายใต้การบริหารงานของเจเนอเรชั่นปัจจุบัน มีสินค้า 4 กลุ่ม ดังนี้

 

  • เครื่องดื่มบำรุงกำลัง – เอ็ม-150, โสมอินซัม, ลิโพวิตัน-ดี, ลิโพ-พลัส, ฉลามขาว, ชาร์ค เอนเนอจี้ดริ้งค์, เอ็ม-สตอร์ม
  • กาแฟพร้อมดื่ม – กาแฟ เอ็มเพรสโซ ดับเบิล ช็อต
  • เครื่องดื่มเกลือแร่ – เกลือแร่เอ็ม
  • เครื่องดื่มที่เติมส่วนผสมเพื่อให้ได้คุณสมบัติเฉพาะ – เปปทีน, ซี-วิต, คาลพิส แลคโตะ

 

อีกบริษัทคือ MALEE หรือบริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มสินค้าหลักเป็นน้ำผักและน้ำผลไม้บรรจุกล่อง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ผลิตผลไม้บรรจุกระป๋อง หรือนมอัดเม็ดตรา "ฟาร์มโชคชัย" นั่นก็ด้วย ซึ่งปีที่ผ่านมาตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่ม มีมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท หรือประมาณ 277 ล้านลิตร โดยผลประกอบการปี 2561 บริษัทมีรายได้รวม 5,395.98 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 272.62 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีรายได้ 5,987.94 ล้านบาท กำไรสุทธิ 285.58 ล้านบาท

 


ส่องหุ้นเครื่องดื่ม ในมุมมองของโบรกเกอร์ 

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ประเมินว่ากำไรหุ้นกลุ่มเครื่องดื่ม ไตรมาส 1/2562 เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็น 1,286 ล้านบาท จากฐานที่ต่ำในปีก่อน บวกกับปีนี้อากาศร้อนกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมมูลค่าตลาดเครื่องดื่มเติบโตเพียงเล็กน้อย โดยบริษัทที่กำไรโตดีคือ OSP ปรับเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากต้นทุนเศษแก้วลดและปรับสูตรเครื่องดื่ม

 

รองลงมาเป็น TACC ปรับเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และปรับเพิ่มขึ้น 94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากออกสินค้าใหม่และปรับสูตรเครื่องดื่ม ขณะที่ ICHI คาดโตแรงเช่นกัน โดยปรับเพิ่มขึ้น 216% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า  และปรับเพิ่มขึ้น 139% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากรับจ้างผลิตและลดรายจ่าย


ส่วนหุ้นเครื่องดื่มที่คาดว่าจะขาดทุนคือ CBG หรือบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยประเมินกำไรยังลด 35% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่โตแรง 90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะฐานปีก่อนต่ำและลดรายจ่าย แต่หุ้นขึ้นมาจนแพง ขณะที่ MALEE ยังขาดทุนเช่นเดียวกัน


อย่างไรก็ตามชอบ TACC หรือบริษัท ที.เอ.ซี คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) มากที่สุด ให้ราคาเป้าหมาย 5 บาท รองลงมาคือ SAPPE ให้ราคาเป้าหมาย 22 บาท เพราะ PE ถูก 15x

 

 

ด้านบล.คันทรี่ กรุ๊ป แนะนำเก็งกำไร OISHI โดยให้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 95 บาท ทั้งนี้คาดว่าผลประกอบการในปีนี้ จะกลับมาเห็นการเติบโตได้อีกครั้ง โดยเฉพาะหลังจากที่โรงงานที่ถูกไฟไหม้ไป เริ่มกลับมาดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา คาดการณ์รายได้อยู่ที่ 13,391 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดกำไรสุทธิที่ 1,052 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

การเป็นช่วงไฮซีซั่นของการขายจะทำให้ เริ่มเห็นผลดีตั้งแต่ผลประกอบการงวด FY2Q19 เป็นต้นไป (รวมกับจากการกลับมาผลิตสินค้า UHT ได้แล้ว) ซึ่งเบื้องต้นเราคาดว่ามีโอกาสที่กำไรสุทธิจะออกมาเพิ่มขึ้น ได้จากระดับ 246 ล้านบาทในปีก่อน

 

 

หยวนต้าชอบ SAPPE และ OSP 

 

ด้านบล.หยวนต้า ชอบหุ้นเครื่องดื่ม 2 ตัว ได้แก่ SAPPE และ OSP โดยแนะนำเก็งกำไร SAPPE เนื่องจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว คาดกำไรไตรมาสแรกเติบโต 99% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการฟื้นตัวตามฤดูกาลและฤดูร้อนที่มาเร็วกว่าทุกปี และว่าคาดกำไรไตรมาส 2 กลับมาเติบโตด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีออเดอร์ที่รับจ้างผลิตที่ร่วมกับดานอน เริ่มออกสินค้าแล้ว คาดหนุนรายได้และอัตรากำไรให้ SAPPE เต็มที่ในไตรมาส 2/2562 และปรับประมาณการกำไรขึ้น 5-9% ส่งผลให้ราคาเป้าหมายปีนี้เพิ่มขึ้น 21.20% และมี Upside gain 8.7%

 

ส่วน OSP ประเมินว่าผลประกอบการจะแข็งแกร่งทุกบรรทัด คาดกำไรปกติไตรมาสแรกที่ 770 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 10.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และปรับเพิ่มขึ้น 38.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากอากาศร้อน รวมถึงกำลังการผลิตใหม่และราคาเศษแก้วลดลง ทั้งนี้คาดรายได้ในต่างประเทศกลับมาโดดเด่น โดยเฉพาะในกัมพูชา หลังหดตัวแรงในไตรมาส 4/2561 จากปัญหาเรื่องสต็อกสินค้า ทั้งนี้คาดโมเมนตัมบวกของธุรกิจเครื่องดื่มยังต่อเนื่องในไตรมาส 2 จากภาวะเอลนิญโญ่ ทำให้อากาศร้อนแรง

 

 --

 

ที่มา:

บทวิเคราะห์ฟินันเซีย ไซรัส, คันทรี่ กรุ๊ป และหยวนต้า 

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/829861

https://www.suntorypepsico.co.th/TH/aboutSuntory.html

https://www.marketingoops.com/news/biz-news/suntory/

https://www.marketingoops.com/news/biz-news/suntory-and-pepsico-expand-healthy-drinks-and-noncarbonated-drinks/

https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/36839.aspx