โอกาสในการทำธุรกิจไนจีเรีย ดินแดนแห่งโอกาส มากด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทุกคนจะคุ้นกับประโยคนี้เมื่อนักลงทุนหน้าใหม่ได้มาสัมผัสดินแดนแห่งนี้ในครั้งแรก ซึ่งกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ใช้โอกาสนี้ในการสำรวจเจาะพื้นที่ในประเทศที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ มันสำปะหลัง ถ่านหิน
รวมถึงทรัพยากรทางทะเลที่ยาวตลอดชายฝั่งกว่า 800 กิโลเมตร และเป็นที่อาศัยของประชากรมากกว่า 170 ล้านคน ซึ่งทางบีโอไอได้ใช้เวลาเดินทางค้นหาข้อมูลเชิงลึกให้กับนักลงทุนชาวไทยที่สนใจในการบุกตลาดแอฟริกาตะวันตกในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2562
การเดินทางในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอาบูจา ประเทศไนจีเรีย มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในประเทศไนจีเรีย
ตลอดการเดินทางในครั้งนี้ทางคณะผู้สำรวจได้ศึกษาข้อมูลในเบื้องต้นรวมถึงได้สัมผัสกับธุรกิจจริงและจากการพูดคุยกับ หน่วยงานต่างๆ ซึ่งสามารถสรุปถึงโอกาสต่างๆได้ดังนี้
- โอกาสสินค้าทางการเกษตรได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง โดยเฉพาะข้าวมีอัตราการบริโภคค่อนข้างสูง ซึ่งในแต่ละปีมีการเจริญเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย ทำให้โอกาสในการทำธุรกิจสินค้าการแปรรูปข้าวยังเป็นทางเลือกแรกๆที่นักลงทุนไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาด
ทั้งนี้ทางไนจีเรียได้มีนโยบายปกป้องสินค้าข้าวที่ผลิตภายในประเทศโดยมีการเก็บอัตราภาษีข้าวขาวที่ได้สีแล้วในอัตราสูง แต่ยังเก็บภาษีข้าวเปลือกในอัตราต่ำจากข้อมูลเท่าที่สำรวจ พบว่าเทคโนโลยีการสีข้าวของประเทศเองยังล้าหลังอยู่ มาก แม้เครื่องจักรสีข้าวส่วนใหญ่ที่มาจากประเทศยุโรปจะมีประสิทธิภาพสูง แต่ไนจีเรียยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการดูแล ซ่อมแซม และบำรุงรักษา ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการผลิตค่อนข้างต่ำ จึงเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะได้ลงทุนในการแปรรูป ข้าวในรูปแบบโรงสีข้าว
รวมถึงการผลิตและขายเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเช่น เครื่องสีข้าว รถไถเดินตาม ปัจจุบันได้มีผู้นำเข้าเครื่องจักรทางการเกษตรจากประเทศไทย และได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง แต่ไนจีเรียก็ยังขาดทักษะในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงอะไหล่ต่างๆที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้มันสำปะหลังซึ่งมีผลผลิตมากมายภายในประเทศ มีการเพาะปลูกครอบคลุมพื้นที่ใน 32 รัฐจากทั้งหมด 36 รัฐ แต่ก็ยังขาดเทคโนโลยีการแปรรูป ดังนั้นอุตสาหกรรมการแปรรูปมันสำปะหลังจึงเป็นโอกาสที่จะสร้างผลกำไรให้นักลงทุนอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเครื่องจักรแปรรูป - คือโอกาสในอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งจากการสำรวจจะเห็นได้ว่าประเทศนี้ยังมีการบริโภคพลังงานไฟฟ้าสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอในการใช้งาน โดยในแต่ละปีไนจีเรียต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงถึง 10,000 เมกกะวัต ต่อปี ขณะที่ประเทศสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 7,000 เมกกะวัต จึงทำให้มีปัญหากระแสไฟฟ้าที่ดับในบางช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงพร้อมๆกัน
ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขเฉพาะหน้า โดยแต่ละบ้านจะมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว โอกาสนี้เองจะเป็นส่วนสำคัญที่นักลงทุนไทยจะสามารถลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ทั้งในรูปแบบของโรงไฟฟ้า หรือการผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้า นอกจากนี้ค่าไฟที่สูงจึงเป็นโอกาสที่สามารถทำให้ถึงจุดคุ้มทุนในเวลาไม่นาน - ได้แก่โอกาสในธุรกิจก่อสร้าง จะเห็นได้ว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทางประเทศไนจีเรียมีการขยายการก่อสร้างถนน รวมถึงที่อยู่อาศัยในอัตราก้าวกระโดด เนื่องจากทางภาครัฐต้องการเตรียมความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานทั้งในเรื่องถนนหนทาง ที่อยู่อาศัยรวมถึงการขนส่งในรูปแบบต่างๆเช่น การขนส่งทางราง การขนส่งทางน้ำ และการขนส่งทางอากาศ ทำให้มีการพัฒนาสนามบิน ท่าเรือและการคมนาคมทางการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ โดยมีอัตราการใช้งานเติบโตถึง 60 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้การผลิตน้ำมันยังเป็นสินค้าหลักของประเทศโดยมีประเทศไนจีเรียมีน้ำมันดิบสำรองเป็นอันดับ 10 ของโลก และยังมีการส่งออกน้ำมันดิบเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการผลิตและการใช้ภายในประเทศ
ทั้งนี้ภาครัฐจึงสนับสนุนและส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม โดยได้รับสิทธิประโยชน์จากทางภาครัฐรวมถึงสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อดึงดูดในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันร้อยละ 70 ของงบประมาณรายจ่ายของประเทศจะมาจากอุตสาหกรรมน้ำมัน
จากประสบการณ์ตรงที่ทางคณะได้เดินทางโดยสายการบินไทย โดยได้รับความร่วมมือจากสายการบินพันธมิตร เอธิโอเปียแอร์ไลน์ ทางคณะได้เริ่มออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิเวลาประมาณเที่ยงคืน เพื่อให้เดินทางไปจุดหมายปลายทางในเวลากลางวัน โดยได้ใช้เวลาบินประมาณ 8 ชม. เพื่อเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศเอธิโอเปีย และเดินทางต่ออีก 3 ชม.จึงถึงกรุงอาบูจา ประเทศไนจีเรีย ซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่ในที่สุด โดยเป็นเมืองซึ่งตั้งให้เป็นเมืองราชการเพื่อแทนที่เมืองเลกอส ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า
ในระหว่างการเดินทางได้เกิดปัญหากระเป๋าเดินทางสูญหายแต่ได้รับแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว คนไนจีเรียทั่วไปมีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดี เนื่องจากประเทศประกอบด้วยชนเผ่ามากกว่า 250 กลุ่ม ทางราชการจึงให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการสำหรับการติดต่อระหว่างกัน
ส่วนสภาพอากาศเป็นแบบร้อนแห้ง เนื่องจากเมืองอาบูจาตั้งอยู่ในตอนกลางประเทศ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ไม่ติดทะเลจึงมีลักษณะร้อนแต่ไม่ชื้นเหมือนเมืองลากอส เมืองท่าที่อยู่ติดทะเล โดยภาคตะวันตกเฉียงใต้จะมีลักษณะเป็นภูเขาสูง และทางภาคเหนือจนถึงพื้นที่ตอนกลางเป็นที่ราบ
เมืองอาบูจาจะเป็นเมืองเงียบสงบ ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนราชการต่างๆ ตั้งอยู่อย่างพร้อมเพียง ไม่มีรถหนาแน่น โดยส่วนใหญ่รถยนต์จะเป็นรถเก่า มือสองจากประเทศญี่ปุ่น มีการใช้แตรเตือนกันระหว่างการขับขี่ตลอดเวลา สภาพประชากรจำนวน 170 ล้านคนประกอบไปด้วยผู้นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 50 และคริสเตียนร้อยละ 40 ที่เหลือนับถือตามความเชื่อชนเผ่า ประชากรส่วนใหญ่มีความยากจน มีรายได้ต่อหัวต่ำ ประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
สำหรับการแลกเงิน ทางคณะได้แลกเงินที่สนามบิน ในอัตรา 350 ไนรา ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ซึ่งทางคณะยังสามารถแลกเงินในตลาดมืด รวมถึงธนาคารบางแห่งในอัตรานี้
อย่างไรก็ตามถ้าแลกแบบฉุกเฉินในโรงแรมที่พักอาจจะแลกได้เพียง 250 ไนราต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สภาพแรงงานยังมีมากแต่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ โดยภายในประเทศมีอัตราการว่างงานสูงถึง ร้อยละ 24 ส่วนการเดินทาง ห้องพักสะดวกสบาย มีความปลอดภัยและภายในประเทศการเดินทางยังคงสะดวกมีถนนหนทางที่สมบูรณ์ มีระบบไฟฟ้าที่เข้าถึงในเกือบทุกพื้นที่แต่ยังคงมีการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ
รวมถึงแหล่งน้ำประปาและระบบชลประทานที่มีเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด วัตถุดิบทางการเกษตรและทางทะเลมีอย่างมากมายเช่น มันสำปะหลัง ข้าวเปลือก ปลาทูน่า แต่ขาดการแปรรูปที่ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ สินค้าของใช้ทั่วไปในตลาดส่วนใหญ่จะมาจากประเทศจีน รวมถึงสินค้าจากประเทศอินเดียในบางส่วนขณะที่ห้างสรรพสินค้ายังมีความสะดวกสบาย น่าเดินแต่อาจจะมีขนาดไม่ใหญ่โตเหมือนในประเทศไทย ในการทำธุรกิจควรจะมีการร่วมมือกับคนพื้นที่ รวมถึงบริษัทกฎหมายที่รู้จริงเพื่อเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามที่ทางราชกำหนด
นอกจากนี้ปัญหาความไม่โปร่งใสยังคงเป็นปัญหาหลักที่สำคัญของประเทศ และฝังรากลึกไปในทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน ทำให้การทำธุรกิจในประเทศไนจีเรียจำเป็นที่จะต้องพยายามแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : คอลัมน์ เจาะตลาดใหม่กับบีโอไอ
บทความโดย : กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)