ไขข้อสงสัย… “เงินเฟ้อ” คืออะไร? “ภาวะเงินเฟ้อลดลง” แตกต่างกับ “เงินฝืด” อย่างไร?
>> หลายคนอาจจะคุ้นชินคำว่า “เงินเฟ้อ” หรือ Inflation ตามหน้าข่าวบ่อยๆ หรือพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่อาจจะไม่เข้าใจความหมายของคำนี้ขนาดนั้น สรุปข้าวของแพงขึ้นมันดีไม่ดีกัน หรือบางคนเข้าใจเรื่องเงินเฟ้อแล้ว แต่ก็ยังสับสนระหว่างคำว่า “ภาวะเงินเฟ้อลดลง”
หลายคนอาจจะคุ้นชินคำว่า “เงินเฟ้อ” หรือ Inflation ตามหน้าข่าวบ่อยๆ หรือพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่อาจจะไม่เข้าใจความหมายของคำนี้ขนาดนั้น สรุปข้าวของแพงขึ้นมันดีไม่ดีกัน หรือบางคนเข้าใจเรื่องเงินเฟ้อแล้ว แต่ก็ยังสับสนระหว่างคำว่า “ภาวะเงินเฟ้อลดลง” หรือ Disinflation มันแตกต่างกับ “เงินฝืด” หรือ Deflation อย่างไร ทำไมชีวิตมันงงงวยขนาดนี้กันนะ? วันนี้มาลองไขข้อสงสัยเหล่านี้กันดีกว่า…...
เงินเฟ้อ (Inflation) คืออะไร?
เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไปในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ในเชิงของมูลค่าของเงินกลับต่ำลง
ตัวอย่างของสถานการณ์เงินเฟ้อ
สมัยเมื่อสิบปีก่อน เด็กหญิงกอไก่สามารถซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชามได้ในราคา 20 บาท สิบปีต่อมา นางสาวกอไก่พบว่าเงิน 20 บาทของเธออาจจะซื้อได้แค่ก๋วยเตี๋ยวครึ่งชาม ถ้าอยากจะซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม เธอจะต้องจ่ายเงินถึง 40 บาทเลยทีเดียว
เห็นได้ชัดว่ามูลค่าของเงิน 20 บาทของเมื่อสิบปีก่อนกับวันนี้มันลดลงนั่นเอง
ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index or CPI) เป็นเครื่องมือการวัดอัตราเงินเฟ้อหรือการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค
ถึงอย่างนั้น เงินเฟ้อก็ไม่ได้แย่เสมอไป เพราะว่าตามทฤษฎี เงินเฟ้อจะทำให้คนรู้สึกมีเงินเยอะขึ้น คนซื้อก็จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คนขายก็อยากจะเพิ่มการผลิตเพื่อนำไปขายมากขึ้น เศรษฐกิจก็เติบโตด้วยนั่นเอง
ปกติแล้ว อัตราเงินเฟ้อจะถูกควบคุมโดยธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านนโยบายการเงินเพื่อไม่ให้เพิ่มขึ้นหรือเกิดความผันผวนมากเกินไป ไม่งั้นจะเกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) เหมือนเวเนซุเอลาที่เงินแทบจะไร้…
แล้ว ภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation)? แตกต่างกับ เงินฝืด (Deflation) ยังไง?
ทุกคนชอบสับสนระหว่าง Disinflation กับ Deflation ซึ่งสองคำนี้ดูๆ แล้วคล้ายกัน แต่มันไม่เหมือนกันซักทีเดียว
ภาวะเงินเฟ้อลดลง หรือ Disinflation คือการชะลอตัวของภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไป หรือพูดสั้นๆ ก็คืออัตราเงินเฟ้อก็ยังสูงขึ้นแต่สูงขึ้นในอัตราที่ต่ำลง หรือจะให้เข้าใจกว่านี้คืออัตราเงินเฟ้อที่ลดลงแต่ยังอยู่ในช่วงบวก
ตัวอย่างเช่น ในปีแรก อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4% แต่ปีถัดไป อัตราเงินเฟ้อตกไปที่ 2.5% เป็นสัญญาณของภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง
ซึ่งแตกต่างจากเงินฝืด (Deflation) ที่เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไปต่ำลงต่อเนื่อง และตัวเลขของอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า 0% หรืออัตราเงินเฟ้อติดลบ สรุปคือตรงกันข้ามกับเงินเฟ้อ (Inflation) นั่นเอง
ถ้าหากคุณดีใจที่จะเจอเงินฝืด คุณคงคิดผิด เพราะว่าเงินฝืดนั้นส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว สาเหตุหลักมาจากความไม่มั่นคงในสภาวะทางเศรษฐกิจ อุปสงค์ (Demand) จึงลดลงนั่นเอง พอไม่มีคนช่วยซื้อของ คนขายของก็ไม่อยากจ้างลูกจ้าง คนก็ถูกไล่ออก งานก็ไม่มีให้ทำ เงินจะกินก็ไม่มี สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจก็ไม่โต ดังนั้นถ้าคุณกำลังเจอกับสภาวะเงินฝืด คุณต้องระมัดระวังกับเศรษฐกิจในประเทศดีๆ
สรุปแล้ว เงินเฟ้อคือภาวะระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไปสูงขึ้น ถ้ามองมุมมองโดยทั่วไป เงินเฟ้อในระดับที่พอเหมาะนั้นจะดีต่อสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากเงินฝืดที่มีระดับราคาลดลงและเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ ส่วนกรณีของภาวะเงินฝืดลดลงเป็นการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง