การพบปะครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ กับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่เมืองวลาดิวอสตอคของรัสเซียในวันนี้ เป็นที่จับตามองไปทั่วโลกอีกครั้งด้วยหลายสาเหตุ
"วลาดิวอสตอค ซัมมิต" เกิดขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดระหว่าง คิมจองอึนกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐที่กรุงฮานอยล่มไม่เป็นท่า ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ไม่หวานชื่นเหมือนเดิม สหรัฐกับรัสเซียยังไม่ยอมญาติดีกัน เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณอ้อมๆ ว่าเกาหลีเหนือไม่จำเป็นต้องรอเจรจากับสหรัฐประเทศเดียวเท่านั้น
การพบปะกันระหว่างคิมจองอึนกับปูตินครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะปูตินถึงขนาดบินมาจากมอสโกด้วยตัวเองมายังเมืองวลาดิวอสตอค ใกล้กับชายแดนเกาหลีเหนือ โดยไม่ปล่อยให้คิมต้องนั่งรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย ข้ามทวีปไปพบกับเขา แสดงให้เห็นว่าการพบกันมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่คิมไปขอความช่วยเหลือแต่ฝ่ายเดียว
โปรดสังเกตว่าการที่การประชุมคิม-ทรัมป์ซัมมิตที่ฮานอยจะล้มเหลว คิมได้เดินทางไปพบกับสีจิ้นผิงที่ปักกิ่งในเดือนมกราคม จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ คิมแวะที่ปักกิ่งอีกครั้งก่อนที่จะลงไปที่ฮานอย และหลังจากที่การประชุมที่ฮานอยล่ม ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาเหลีใต้ก็เย็นชาลงทันที ตามด้วยการแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับสหรัฐ จากนั้นตามด้วยการพบปะกับปูตินที่เมืองวลาดิวอสตอค
สื่อรัสเซียยังรายงานข่าวด้วยว่า คาดว่าปูตินคงจะบินไปที่ปักกิ่งเพื่อร่วมการประชุม Belt and Road ซึ่งไม่น่าจะเป็นการคุยกันเรื่องเส้นทางการลงทุนเพียงอย่างเดียวแน่ๆ
แต่ก็ใช่ว่าเกาหลีเหนือเพิ่งจะหันไปผูกมิตรกับรัสเซียเอาตอนที่การประชุมสุดยอดกับสหรัฐล้มเหลว ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันตั้งแต่ปี 1948 หรือเมื่อ 71 ปีที่แล้วในขณะที่รัสเซียยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ที่รัสเซียเปรียบเสมือนเป็นกระเป๋าสตางค์ของเกาหลีเหนือมาแต่ไหนแต่ไร
( ภาพ : Reuters )
ในช่วงหลังสงครามเกาหลี สหภาพโซเวียตกลายเป็นคู่ค้าสำคัญและผู้อุปถัมภ์ของเกาหลีเหนือ โรงงาน 93 แห่งของเกาหลีเหนือก่อสร้างขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากรัสเซียจนอุตสาหกรรมหนักกลายเป็นกระดูกสันหลังของเกาหลีเหนือ ความช่วยเหลือจากโซเวียตขยายวงในช่วงปี 1965-1968 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับจีนแย่ลงในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน ในปี 1988 ซึ่งเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-โซเวียตเบ่งบานที่สุด 60% ของการค้าขายของเกาหลีเหนือล้วนมาจากสหภาพโซเวียต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบและปิโตรเลียมที่รัสเซียขายให้กับเกาหลีเหนือในราคามิตรภาพ
เมื่อครั้งที่เกาหลีเหนือเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพงในช่วงกลางทศวรรษ 1990 รัสเซียได้ส่งความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนให้โสมแดงถึง 2 ครั้งในปี 1997 ได้แก่
- อาหารและยารักษาโรคมูลค่า 4,500 ล้านรูเบิลเก่า หรือ 4.5 ล้านรูเบิล หรือราว 2.22 ล้านบาท
- น้ำตาล เนื้อกระป๋อง ปลา และนมมูลค่า 3,500 ล้านรูเบิลเก่า หรือราว 1.73 ล้านบาท
ปี 2008 รัสเซียส่งอาหารและน้ำมันช่วยเกาหลีเหนือตามหน้าที่ที่ระบุไว้ในการเจรจา 6 ฝ่ายที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ อีก 2 ปีต่อมาก่อนที่คิมจองอิล บิดาของคิมจองอึน จะเดินทางเยือนรัสเซีย รัสเซียยังส่งความช่วยเหลือด้านอาหาร รวมทั้งข้าวสาลีกว่า 50,000 ตันไปให้เกาหลีเหนือ
แต่ในเดือน ธ.ค. 2013 รัสเซียได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือตามมติของที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ โดยห้ามบริษัทของรัสเซียให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและคำแนะนำในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แก่เกาหลีเหนือ และเรือของกองทัพเรือเกาหลีเหนือที่จะเข้าเทียบท่าในรัสเซียก็ต้องได้รับการตรวจสอบก่อน รวมทั้งให้ทางการใช้ความระมัดระวังในการติดต่อกับนักการทูตเกาหลีเหนือ
รัสเซียไม่อาจบิดพริ้วจากมติของสหประชาชาติ แต่ในเมื่อเป็นมหามิตรมาแต่ไหนแต่ไร จะปล่อยให้เกาหลีเหนือทุกข์ทรมานได้อย่างไร?
แม้จะมีมาตรการคว่ำบาตร แต่ในเดือน ก.พ. 2015 หอการค้าของรัสเซียได้จัดตั้งสำนักงานพิเศษเพื่อความร่วมมือกับเกาหลีเหนือเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศให้ได้ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีภายในปี 2020 (2 เท่าของมูลค่าการค้าขายปัจจุบัน) โดยส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้ รัสเซียยอมให้บริษัทเกาหลีเหนือเปิดบัญชีธนาคารของรัสเซีย แลกกับการที่เกาหลีเหนือยอมให้รัสเซียเข้าไปทำเหมืองแร่ และอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าให้กับนักธุรกิจรัสเซีย รวมทั้งให้ใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตระหว่างที่เดินทางไปติดต่อธุรกิจในเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ
นอกจากนี้ รัสเซียยังแสดงความเป็นมิตรด้วยการยกหนี้ 90% ของหนี้ทั้งหมดราว 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่เกิดขึ้นในสมัยสหภาพโซเวียตให้แก่เกาหลีเหนือ แลกกับการที่รัสเซียเข้าไปลงทุนในภาคพลังงาน สุขภาพ และการศึกษาในเกาหลีเหนือ
แต่ในเวลานี้ สิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการมากที่สุดคือ หลุดพ้นจากมาตรการคว่ำบาตร
ตอนที่คิมนั่งรถไฟไปพบสีจิ้นผิง สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่า เขาไปขอความช่วยเหลือจากจีนให้ลดมาตรการคว่ำบาตรลง และคาดว่าคงคุยเรื่องเดียวกับกับปูตินในคราวนี้
มาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือมีสหรัฐเป็นตัวตั้งตัวตี และสหรัฐเองก็ยังไม่ยอมอ่อนข้อให้เกาหลีเหนือในการประชุมที่ฮานอยจนการประชุมล่ม แน่นอนว่า ทั้งจีนและรัสเซียย่อมไม่อยากหักดิบกับสหรัฐ ยกเว้นว่าเกาหลีเหนือจะยื่นข้อเสนอที่จีนกับรัสเซียไม่อาจปฏิเสธได้
คำตอบนั้นอาจอยู่ที่การประชุม Belt and Road ระหว่างวันที่ 25 - 27 เมษายนนี้
โดย จารุณี นาคสกุล และกรกิจ ดิษฐาน