คอลัมน์ “เส้นเรื่องธุรกิจ” : ‘Netflix’ ความสนุกเบื้องหลังม่านมายา

>>

ทุกๆ วินาทีจะมีผู้คนบนโลกกลุ่มหนึ่ง จดจ่ออยู่ในโลกของภาพยนตร์ ซีรีส์ และเกมโชว์ผ่านแอพ “Netflix” ผู้ให้บริการ online streaming (การรับชมไฟล์ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องดาวน์โหลด) ราวกับต้องคำสาป


เน็ตฟลิกซ์ใช้คาถาอะไร ถึงสามารถตรึงผู้คนนับร้อยล้านบนโลก ให้อยู่กับที่ได้


คำตอบง่ายๆ คือ “มายาแห่งความสนุก” ที่ทำให้ลมหายใจคนดูขาดช่วง กับฉากที่ต้องลุ้นระทึกจนตัวโก่ง


เราสามารถมองเห็นลายเซ็นต์ของ Netflix ได้ในหนังหลายเรื่องที่คิดเอง ทำเอง สร้างเอง ขายเอง โดยไม่ต้องรอให้ตัวเองเกิดมาเป็นตำนานอย่างพาราเมาท์ พิคเจอร์ส หรือทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ เสียก่อน


จากอดีตร้านเช่าวิดีโอที่เคยเป็นปลายน้ำสายเล็กๆ ของบรรดาค่ายหนังยักษ์ใหญ่ วันนี้ Netflix ใช้เวลาเพียง 22 ปี ว่ายทวนกระแสเพื่อไปให้ถึงต้นน้ำ แล้วสร้างกาแลกซี สตรีม อันยิ่งใหญ่


หนังโลกล่มสลาย Bird Box” ของ Netflix ที่แพร่ภาพไปเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา บอกเล่าถึงข้อจำกัดของนกในกล่อง ที่ถูกตีกรอบเอาไว้ไม่ต่างกับกฎระเบียบทางสังคม เฉกเช่นการยืมแผ่นดีวีดีในยุคแรกๆ ที่ร้านเช่าวิดีโอเฟื่องฟู ถ้าส่งช้าเป็นอันเจอปรับ เผลอๆ ค่าปรับแซงหน้าค่าเช่าไปเสียนี่


“รีด แฮลติ้งส์” (Reed Hastings) ผู้ก่อตั้ง Netflix เป็นคนปล่อยนกออกจากกล่อง เปิดทางให้นกได้ขยับปีกอย่างเสรี และส่งเสียงร้องอย่างมีความสุข จากการที่จะยืมหนังนานไหร่ก็ได้ดองแค่ไหนก็ได้ จนกว่าคุณอยากจะดูหนังเรื่องใหม่ แล้วเอาเรื่องเก่าไปคืน


Netflix เพิ่มอำนาจให้ลูกค้าเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น หลังขยับโมเดลธุรกิจจากร้านเช่าวิดีโอไปเป็นระบบเหมาๆ รายเดือน แล้วลูกค้าจะดูจนตาแฉะ ดูมาราธอน จะเอาให้สุดคุ้มแค่ไหนก็ทำได้ ไม่มีเงื่อนไขดอกจันที่ทำให้ชีวิตรุงรัง


การปลดล็อกธุรกิจออกจากกล่อง ทำให้ Netflix กลายเป็นหอกข้างแคร่เจ้าถิ่นอย่าง “Blockbuster” ที่แทบจะกลายเป็น generic name ของร้านเช่าวิดีโอ แต่บล็อกฯ ก็บล็อกฯ เถอะ Netflix กำลังจะเฮง ช่วยไม่ได้จริงๆ


การประมือครั้งสำคัญระหว่าง Netflix กับ Blockbuster ที่ทุกวันนี้ Blockbuster ม้วนเสื่อไปแล้ว คือ การแข่งกันดัมพ์ราคาค่าสมาชิกรายเดือน โดย Blockbuster เปิดเกมที่ $19.95 Netflix ก็ตัดราคาไปที่ $17.99 พอ Blockbuster เอาคืนบ้าง ยอมเฉือนเลือดซิบๆ อยู่ที่ $14.99 แต่แทนที่ Netflix จะเพลินกับเกมแมวไล่จับหนู Netflix ตัดฉับเอาดื้อๆ ที่ราคา $1.00 จน Blockbuster ไปไม่เป็น

 

ปรากฏการณ์ครั้งนั้นทำให้ผู้คนเฮโลกันไปเป็นสมาชิก Netflix จนถล่มทลาย ถ้าไม่บ้าดีเดือดแบบ Netflix คงทำไม่ได้จริงๆ



ธุรกิจ Netflix เหมือนนักสู้ในเกม Street Fighter ยิ่งเล่นก็ยิ่งเจอคู่ชกระดับพระกาฬ ถัดจากด่าน Blockbuster Netflix ต้องเผชิญหน้ากับ “Walmart” ยักษ์ใหญ่ค้าปลีก ที่อยากเข้ามาปาดหน้าเค้กธุรกิจดีวีดี


ความแตกต่างระหว่าง Netflix กับ Walmart ในตลาดความบันเทิงในบ้านคือ ขณะที่ Netflix รู้ดีว่า ธุรกิจบันเทิงไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่การซื้อแผ่น แต่ Walmart ในฐานะพ่อค้าซื้อมาขายไป มองว่าการขายแผ่นดีวีดี สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำมากกว่าให้เช่า


สองคนนี้ต่อสู้ทางความคิดกันอยู่หลายปี จนในที่สุดวอลมาร์ทก็ยอมถอนตัวออกจากธุรกิจหนังแผ่น พอโยนผ้าขาวไปแล้ว สองคนก็หันหน้ามาคุยกัน แล้วเพิ่งตาสว่างว่า จริงๆ แล้วโดยพื้นฐานของธุรกิจน่าจะ “กอดคอกันแหวว” มากกว่ามาฮึ่มๆ “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” นะเธอ

ชั่วโมงบินของ Netflix ยกระดับเพดานมากขึ้นในยุค online streaming ตอนนี้คู่ชกของ Netflix ไม่ได้มาแบบ 1 ต่อ 1 อีกแล้ว แต่มาเป็นแพ็ก ประกบทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง แต่ด้วยความที่ “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” ทำให้ Netflix ไม่จำเป็นต้องอาศัยแค่หมัดตัวเองอีกแล้ว


ยุครุ่งเรืองของการดูหนังได้โดยไม่ต้องโหลด เป็นยุคที่ Netflix แผ่อาณานิคมคนรักหนังไปทั่วโลก ขอให้มีอินเทอร์เน็ต ทุกที่ทุกเวลาตีตั๋วดู Netflix ได้เสมอ โดย Netflix จับมือกับบรรดาบริษัทเครือข่ายการสื่อสารของประเทศต่างๆ เพื่อไม่ให้เสียอรรถรสในการชม และยังเพิ่มแต้มกลุ่มลูกค้าวัยเน็ตที่เป็นฐานลูกค้าของพันธมิตรอีกทางหนึ่งเรียกว่า ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว


Netflix เป็นองค์กรที่เต้นฟุตเวิร์กตลอดเวลา กล้ารับความเสี่ยง และมองว่าทุกปัญหามีทางออก การถือกำเนิดของ “Netflix Original” ในปี 2013 กับหมวกใบใหม่ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์หนังและซีรีย์เป็นของตัวเอง เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ชวนปาดเหงื่อ


“Netflix Original” ช่วยปลดล็อกปัญหาลิขสิทธิ์ ที่ยุ่บยั่บในหลายประเทศ และทำให้ Netflix รอดจากการรุมขย้ำของบรรดาค่ายหนัง ที่หิวกระหายราวกับไฮยีน่า ขณะเดียวกันก็เป็นแม่เหล็กชั้นดีที่ดึงดูดผู้คนให้อยากมาเป็นสมาชิก เพราะขึ้นชื่อว่าหนังของ Netflix แล้ว มันช่างมึนๆ อึนๆ บริหารร่องหยักในสมองเสียนี่กระไร



ทุกวันนี้ Netflix ถือเป็นหนึ่งในหุ้นเทคโนโลยีระดับเทพ 5 องค์ “FAANG” ได้แก่ Facebook, Apple, Amazon, Netflix และ Google กับการแข่งขันบนก้อนเมฆ ที่ถ้าใครพลาดเมื่อไหร่ได้เป็นเทวดาตกสวรรค์กันแน่แท้



เราได้เรียนรู้อะไรจาก “Netflix”

  1. มุมมองที่ต่างไปจากอะไรเดิมๆ จะทำให้เราได้อะไรกลับมามากกว่าเดิม
  2. อย่ามัวแต่มองคนอื่น ให้มองตัวเอง พัฒนาตัวเอง และทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด
  3. ถ้าเราเป็นคนสร้างมาตรฐานในตลาดแล้ว อย่าเขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า
  4. การลงทุนที่เวิร์กๆ และให้ผลตอบแทนดีที่สุดคือ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ดีวันดีคืน
  5. เรื่องเล่าที่ดีจะก้าวไปถึงใจคนดูทั่วทุกมุมโลกได้ เหมือนกับแอนิเมชันญี่ปุ่นที่เข้าไปนั่งในหัวใจคนทั่วโลก
  6. การทำธุรกิจคือ การพัฒนาตัวเองให้ชนะใจผู้คน