“ออมทรัพย์” สะดุ้ง... ‘ภาษีดอกเบี้ย’

>>

เป็นข่าวเขย่าวงการเงินฝากไปเมื่อต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา หลัง ‘กรมสรรพากร’ ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) เกี่ยวกับการ “เก็บภาษีเงินฝากออมทรัพย์”


ซึ่งจะว่าตามข้อเท็จจริงการเก็บ ‘ภาษีเงินฝาก’ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด


‘ไม่ใช่เรื่องใหม่’
...แล้วจะออกประกาศมาสร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้มีเงินฝากออมทรัพย์ทำไมกันเล่า?


มีผล...ย่อมไม่ไร้เหตุแน่นอน


ประกาศฉบับใหม่ของกรมสรรพากรนั้น ในส่วนของภาษีเงินฝากออมทรัพย์ในภาพรวมยังเหมือนเดิม ที่ ‘เพิ่มเติม’ คือ เงื่อนไขให้เจ้าของบัญชีต้องยินยอมให้ธนาคาร ‘ส่งข้อมูล’ ให้สรรพากรเท่านั้นเอง


ทำไมต้อง ‘ออมทรัพย์’ ในนั้นมีอะไร ไม่กระทบผู้ฝากเงินส่วนใหญ่จริงหรือไม่? ทีมงาน Wealthythai จะพาสู่มิติควอนตั้มกลับไปดูเรื่องราวกันอีกครั้ง


“ออมทรัพย์”...มีเม็ดเงินรวมกันกว่า 57.84
% ของเงินฝากทั้งระบบ


อย่างที่ทุกท่านทราบว่า... “ภาษีเงินฝาก” ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด คน ‘ฝากประจำ’ ก็เสียภาษีเงินฝากกันอยู่แล้ว


ในส่วนของ ‘เงินฝากออมทรัพย์’ โดยปกติ หากดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี จะเริ่มถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (ไม่ว่าจะทุกบัญชีในธนาคารเดียวกัน หรือหลายธนาคารรวมกันก็ตาม) แต่หากดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ก็จะได้รับการ ‘ยกเว้น’ ไม่ต้องเสียภาษี...นั่นคือ ‘แบบเดิม’


แล้วจะประกาศเรื่อง ‘ภาษีเงินฝากออมทรัพย์’ ใหม่ทำไม? ไหนบอก...ไม่ต้องตกใจ ทุกอย่างเหมือนเดิม


มาดูข้อมูลเงินฝากในระบบ ณ ก.พ.19 พบว่า มีบัญชีเงินฝากทั้งหมด 99,460,242 บัญชี มีเม็ดเงินรวมกัน 13,778,994 ล้านบาท


เป็น ‘บัญชี’ เงินฝากออมทรัพย์  88,126,944 บัญชี คิดเป็น 88.61% ของบัญชีเงินฝากทั้งระบบ


มี
‘เม็ดเงิน’ ฝากออมทรัพย์รวมกัน 7,969,669 ล้านบาท คิดเป็น 57.84% ของเงินฝากทั้งระบบ!!!!


แล้วไงล่ะ
?


ก็ไม่แล้วไงหรอก เพียงแต่ที่ผ่านมากรมสรรพากรพบว่า ‘ผู้ฝากเงิน’ กับ ‘ธนาคารบางแห่ง’ อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย โดยใช้วิธีปิดบัญชีที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากใกล้ครบ 20,000 บาทต่อปี แล้วเปิดบัญชีใหม่เพื่อ ‘หลีกเลี่ยง’ การถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับ จึงแก้สมการด้วยการออกประกาศฉบับใหม่ออกมานั่นเอง ในขณะที่ทาง ‘แบงก์ชาติ’ ก็แถลงยืนยันว่าตรวจไม่พบเหตุการณ์ในลักษณะที่สรรพากรอ้างถึงแต่ประการใด เรียกว่าข้อมูลอาจจะไม่ตรงกันสักเท่าไรนัก”


“ภาษีเงินฝากออมทรัพย์”...ไม่น้อยกว่า 2.6 พันล้านบาท


ล่าสุดกรมสรรพากรออกแนวทางเพื่อไม่ให้กระทบผู้มีบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ โดยใช้อำนาจให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทุกบัญชีมาให้กรมสรรรพากร เพื่อประมวลผลว่ามีผู้ใดมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาทต่อปี ก็จะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคารพาณิชย์หักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 15% ให้กรมสรรพากร


“แต่ผู้ฝากเงินท่านใดประสงค์ไม่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กรมสรรพากร ก็สามารถแจ้งกับทางธนาคารพาณิชย์ได้ แต่ทางธนาคารจะต้องหักดอกเบี้ยเงินฝากทั้งหมดให้กรมสรรพากร และหากผู้ฝากเงินเห็นว่าไม่มีภาระดอกเบี้ยเงินฝากต้องเสียภาษี ก็ให้มาขอยื่นคืนภาษีตอนสิ้นปีภาษีได้นั่นเอง”


เรียกว่า...ไม่กระทบกับผู้มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ส่วนใหญ่ตามที่กรมสรรพากรบอกกล่าวไว้จริงๆ เพราะบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท มีอยู่ 87,154,134 บัญชี คิดเป็น 98.90% ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมด และมีเม็ดเงินรวมกัน 2,371,961 ล้านบาท คิดเป็น 29.76% ของเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมด


“ถ้าคุณคือกลุ่มนี้ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล ‘ทุกอย่างเหมือนเดิม’ หากเป็นไปตามแนวทางล่าสุดที่กรมสรรพากรระบุไว้ แต่ถ้าคุณไม่โอเค...ไม่อยากให้ข้อมูล ก็แค่ ‘เสียภาษี’ จากดอกเบี้ยที่น้อยนิดของคุณเพิ่มเติมเท่านั้นเอง เพราะถือเป็นกลุ่มที่น่าจะมีประเด็นน้อยที่สุดล่ะในเรื่องนี้”


อย่างที่ทราบกันว่า...ใครที่มีเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 4 ล้านบาท ก็ไม่กระทบนั่นแหละ (ดอกเบี้ยออมทรัพย์ 0.5% จะมีดอกเบี้ย 20,000 บาทต่อปี) คนที่กระทบมีน้อยจริงๆ นั่นแหละ เพราะคนที่มีเงินฝากออมทรัพย์เกินกว่า 10 ล้านบาท มีอยู่แค่ 66,535 บัญชี เท่านั้น คิดเป็น 0.08% ของบัญชีออมทรัพย์ทั้งระบบ น้อยนิดเดียวเอง แต่ขนาดเม็ดเงินไม่เล็กนะครับ มีขนาดเงินฝากรวมกัน 7,969,669 ล้านบาท คิดเป็น 43.91% ของเงินฝากออมทรัพย์ทั้งระบบ (เกือบครึ่งเลยทีเดียว)


“กลุ่มนี้นี่แหละที่ต้องเสียภาษีชัวร์ๆ ไม่มากไม่มายนัก จากขนาดเงินฝากกลุ่มนี้ จะมีดอกเบี้ยปีละ 17,497.81 ล้านบาท เสียภาษี 15% เป็นเม็ดเงินภาษี 2,624.67 ล้านบาท เท่านั้นเอง (นี่แค่ตัวเลขขั้นต่ำเท่านั้นนะ) เพราะขนาดเงินฝากที่มากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ยังมีอีก 906,275 บัญชี คิดเป็น 1.03% มีเม็ดเงินรวมกัน 2,098,147 ล้านบาท คิดเป็น 26.33% ของเงินฝากออมทรัพย์ทั้งระบบ ซึ่งในจำนวนนี้จะมีกลุ่มที่มีเงินฝากเกินกว่า 4 ล้านบาท รวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง มากน้อยไม่ทราบได้ แต่ทางการน่าจะทราบดีกว่าใครในเรื่องนี้”


ถ้าฟังข้อมูลกรมสรรพากรว่ามีคนหลบเลี่ยง ย้อนเวลาผ่านมิติควอนตั้มไปก็เป็นไปได้ว่า... ‘ภาษีเงินฝากออมทรัพย์’ ที่เก็บได้ในช่วงที่ผ่านมา น่าจะ ‘ต่ำกว่า’ ที่ควรจะเป็น...จึงต้องเร่งทำคลอดประกาศฉบับใหม่ออกมาแก้สมการดังกล่าว แม้ว่าทางแบงก์ชาติจะยืนยันว่าไม่พบการกระทำตามที่กล่าวอ้างแต่ประการใดก็ตาม แต่ถ้าเป็นเจตนาจากเหตุผลนี้ก็พอรับกันได้อยู่


จะทนกับ
‘ดอกเบี้ยต่ำ’ ทำไม... “กองตราสารหนี้” ผลตอบแทนดีกว่ายังมี


มาถึงจุดนี้...ผู้มี ‘เงินฝากออมทรัพย์’ ทั้งหมด จะเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากหรือไม่ก็ตาม ควรจะพิจารณาถึง ‘ทางเลือก’ อื่นเพิ่มเติมน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ไหนๆ ก็เข้ามิติควอนตัมมาแล้วควรจะแก้ไขพอร์ตเงินฝากของตัวเองดูสักครั้ง ด้วยการกระจายพอร์ตเงินฝากบางส่วนไปในกลุ่ม “กองทุนตราสารหนี้” นั่นเอง


“แน่นอน ‘ภาษี’ อาจจะเป็นความจริงที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ จะฝากเงินก็เจอภาษี จะลงทุนกองทุนตราสารหนี้สุดท้ายก็ต้องเจอภาษีไม่แตกต่างกัน แต่ ‘ผลตอบแทนหลังภาษี’ จากการลงทุนผ่าน ‘กองทุนตราสารหนี้’ ยังคงเหนือกว่า ‘เงินฝากออมทรัพย์’ อยู่นั่นเอง”

  • กรณีฐานดอกเบี้ยออมทรัพย์ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี ดอกเบี้ย 0.5% เต็มๆ
  • กรณีฐานดอกเบี้ยออมทรัพย์มากกว่า 20,000 บาทต่อปี ดอกเบี้ยหลังภาษีอยู่ที่ 0.425%



กลุ่ม ‘กองตราสารตลาดเงิน’ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำสุด สภาพคล่องสูงสุด ซื้อขายได้ทุกวัน รับเงินหลังขายเพียง 1 วันนั้น ผลตอบแทน (ณ 31 มี.ค. 19) ย้อนหลัง 1 ปี เฉลี่ย 0.99% (หลังภาษีอยู่ที่ 0.84%) มากกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์ 0.34-0.42%


สำหรับแฟนพันธุ์แท้เงินฝากออมทรัพย์...ข่าวการเก็บ ‘ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์’ อาจจะเขย่าขวัญคุณอยู่บ้างก็ตาม แต่นี่คือความจริงที่ยากจะหลีกเลี่ยง ถ้าคุณพอใจที่จะอยู่ใน ‘เงินฝากออมทรัพย์’ ก็เป็นสิทธิของคุณ แต่ถ้าคุณมีโอกาสที่จะเลือกกระจายพอร์ตเงินฝากของคุณให้มีประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนสูงสุดเล่า คุณจะเลือกขยับเงินฝากของคุณหรือไม่?