งานพระราชพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะในวันที่ 30 เมษายน รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศให้เป็นวันหยุดต่อเนื่องกับช่วงสัปดาห์ทอง หรือช่วงวันหยุดยาวเดือนพฤษภาคม ทำให้มนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่นมีวันหยุดเป็นประวัติการณ์ถึง 10 วันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา
แต่ชาวญี่ปุ่นที่ทุ่มเทกับงานเท่าชีวิตกลับไม่รู้สึกยินดีที่ต้องหยุดยาวถึง 10 วัน โดยก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุน ทำการสำรวจความเห็นของประชาชน พบว่า 45% รู้สึกไม่พอใจที่ต้องหยุดยาว จากการสัมภาษณ์ชาวญี่ปุ่นบางส่วนโดยสำนักข่าว AFP พบว่า สาเหตุของความไม่พอใจมาจากการ เตรียมจัดการกับตารางชีวิตไม่ทัน หรือบางคนต้องรับหน้าที่เพิ่มในช่วงที่คนอื่นหยุดงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนจะหงุดหงิดเพราะหยุดยาว แต่จากผลการสำรวจจากสถานีโทรทัศน์ NHK พบว่าเกือบจะไม่มีประชาชนชาวญี่ปุ่นคนใดเลยที่รู้สึกไม่ดีต่อสมเด็จพระจักรพรรดิ และส่วนใหญ่ให้ความเคารพพระองค์ โดยกระแสความรู้สึกด้านบวกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี นับตั้งแต่การสำรวจโดย NHK เมื่อปี 2003
ทาเคชิ ฮาระ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเปิดแห่งญี่ปุ่น (Open University of Japan) กล่าวว่าความรู้สึกเคารพและสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ ส่วนใหญ่เกิดจากความประทับใจที่สมเด็จพระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินีทรงปฏิบัติพระราชภารกิจที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพชีวิตของบรรดาพสกนิกร
“ความสนพระทัยต่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ผู้ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากนักการเมืองในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ทำให้สถาบันได้รับการสนับสนุนจากประชาชน” ฮาระ กล่าวกับ AFP
นอกจากนี้ ฮาระยังชี้ว่าการที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงพบรักกับสามัญชน และเป็นรักแรกพบของพระองค์ คือพระจักรพรรดินีมิชิโกะ จนกลายเป็นการเสกสมรสที่เกิดจากความรักแรกพบครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ยิ่งมีส่วนเพิ่มความนิยมในพระองค์มากขึ้น
ขณะที่ ฮิเดโอะ ซึโบอิ จากศูนย์วิจัยระหว่างประเทศด้านญี่ปุ่นศึกษา (International Research Center for Japanese Studies) ที่เกียวโตกล่าวว่า หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ความนิยมของประชาชนต่อสมเด็จพระจักรพรรดิเพิ่มขึ้น เพราะพระองค์ตระหนักถึงความรับผิดชอบของคนรุ่นหลังสงคราม ในอันที่จะสะท้อนความโหดร้ายในช่วงสงครามของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจของ NHK ยังพบว่า มีประชาชน 22% ที่เห็นต่างเกี่ยวกับความนิยมต่อสถาบัน นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีก 200 คน ยื่นคำร้องคัดค้านการนำภาษีไปจัดงานพระราชพิธี
แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายก็คือ มีสมาชิกในราชวงศ์สนับสนุนท่าทีคัดค้านการนำภาษีประชาชนมาใช้ในงานพระราชพิธีด้วย คือเจ้าชายฟุมิฮิโตะซึ่งจะทรงกลายเป็นรัชทายาทลำดับต่อไปหลังจากที่พระเชษฐาทรงครองราชสมบัติ โดยเจ้าชายฟุมิฮิโตะทรงชี้ว่า งานพระราชพิธีเป็นงานเชิงศาสนา ไม่ควรนำงบประมาณจากภาษีมาใช้