นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า วันนี้กรมสรรพากรจะออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรใหม่ เพื่อให้การส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินออมทรัพย์ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์มาให้กรมสรรพากร ไม่ให้กระทบกับผู้ฝากเงินที่มีรายได้ดอกเบี้ยรวมกันทุกบัญชีไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15%
ทั้งนี้ประกาศใหม่ จะให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทุกบัญชีมาให้กรมสรรพากรประมวลผล หากผู้ที่มีรายได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาท ก็ไม่มีภาระต้องเสียภาษี แต่หากมีรายได้ดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาท ทางกรมสรรพากรจะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคารพาณิชย์หักดอกเบี้ยเงินฝาก 15% ให้กับกรมสรรพากร
นายเอกนิติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ต้องส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้กรมสรรพากรอยู่แล้ว แต่ส่งเป็นเอกสารกระดาษไปในแต่ละพื้นที่ของกรมสรรพากรที่รับผิดชอบอยู่ แต่ระบบใหม่ให้ส่งเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาที่ระบบกลางของกรมสรรพากรประมวลผลซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า
"ผู้ฝากเงินออมทรัพย์ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องไปแจ้งธนาคารว่าให้ยินยอมส่งข้อมูลให้เกิดความยุ่งยากเหมือนประกาศเก่า ยกเว้นผู้ฝากเงินที่ไม่ต้องการให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ก็ไปแจ้งกับธนาคารได้ แต่ธนาคารต้องหักดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ตั้งแต่บาทแรกให้กรมสรรพากร" นายเอกนิติ กล่าว
นายเอกนิติ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีธนาคารพาณิชย์และลูกค้าของธนาคารหลายแห่ง ทำการซอยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้เรียกธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมาเตือน และกรมสรรพากรมีการปรับผู้ฝากเงินที่ไม่ยอมเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากด้วย แต่เมื่อใช้ระบบใหม่ปัญหาดังกล่าวก็จะหมดไป
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์มีปีละ 2 ครั้ง ในเดือน มิ.ย. และ ธ.ค. ของทุกปี ทั้งนี้ในวันที่ 7-14 พ.ค. นี้ ธนาคารทุกแห่งจะเปิดให้ลูกค้าที่ไม่ต้องการให้ส่งข้อมูลดอกเบี้ยออมทรัพย์ให้กับกรมสรรพากร มาลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์ม ซึ่งเหมือนกันทุกธนาคาร คาดว่าจะไม่มีผู้มาลงทะเบียนเลยเพราะไม่มีประโยชน์
ทั้งนี้ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในระบบธนาคารมี 80 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้มีไม่ถึง 1% ที่มีรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์เกิน 2 หมื่นบาท เสียภาษีให้กรมสรรพากรปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท