ไขความลับ PTT เมื่อราคาน้ำมันขึ้นแต่หุ้นไม่ขึ้น

>>

ขึ้นทุกวันเลยสำหรับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไทย ที่ขยันขยับปรับขึ้นอย่างไม่เกรงใจกระเป๋าสตางค์ของคนหาเช้ากินค่ำอย่างเราๆท่านๆ ที่ต้องแบกภาระราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจ่ายเงินโดยตรงจากค่าน้ำมันของรถส่วนตัว รวมถึงการมีค่าใช้จ่ายแฝง จากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าโดยสารรถประจำทาง ต้นทุนการขนส่งที่สะท้อนในราคาของกินของใช้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดได้สะท้อนในเงินเฟ้อของประเทศไทยให้ปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


แต่หันกลับมามองหุ้น PTT หุ้นพลังงานขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย ทำไมนิ่งสนิท ทั้งที่ PTT หรือ ปตท. เป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของประเทศไทย ควรจะได้รับผลดีจากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือจะมีอะไรที่มากกว่านั้น ที่เข้ามามีผลกระทบกับผลประกอบการของ PTT ไม่ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ลองอ่านบทความนี้เผื่อมีคำตอบ 

 

ราคาน้ำมันพุ่งเกือบ 17 %

 

โดยจากสถิติพบว่า ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการรายความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันผ่านหน้าเว็ปไซด์ของปตท. พบว่าราคาน้ำมันค้าปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างในราคาน้ำมัน Gasoline95 ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี 11.28% Gasoline 91 ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี 14.62% Gasohol95 ปรับเพิ่มขึ้น 14.47%   Gasohol E20 ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี 16.35% Gasohol E85 ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี 10.65% และ Diesel ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี 10.07%

ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นในมุมมองของนักลงทุน หุ้นที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันน่าจะปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะหุ้นพลังงานยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่ต่างคาดการณ์ว่าราคาน่าจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน PTT กลับนิ่งสนิท จนหลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรกับ PTT และน่าลงทุนหรือไม่
 

                                                   (รูปจากโปรแกรมสตรีมมิ่ง)

ในความคิดของใครหลายคนยังคงคิดว่า PTT จะเป็นบริษัทพลังงาน และมีฐานรายได้เกือบทั้งหมดมาจากธุรกิจน้ำมัน แต่ความเป็นจริงแล้วประเด็นสำคัญคือ ธุรกิจปตท.เริ่มกระจายตัวมากขึ้น ปัจจุบันปตท.มีทั้งธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจก๊าซ ธุรกิจเกี่ยวกับการค้าปลีกน้ำมันและค้าปลีกสินค้าทั่วไป รวมบริษัทลูก 68 บริษัท ซึ่งบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีดังนี้

ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม  PTTEP     ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
ไทยออยล์    TOP        ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน
พีทีที โกลบอล เคมิคอล PTTGC     ธุรกิจเคมีภัณฑ์
โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่  GPSC      ธุรกิจโรงไฟฟ้า
ไออาร์พีซี IRPC       ธุรกิจปิโตรเลียม และปิโตรเคมี


นอกจากนี้กลุ่มปตท.ยังมีบริษัทลูกที่อยู่ระหว่างการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่าง PTTOR ผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมัน และร้านกาแฟอเมซอนของปตท.รวมอยู่ด้วย ผลจึงทำให้ PTT มีลักษณะเป็นธุรกิจโฮลดิ้งเต็มตัว และการที่พอร์ตบริษัทลูกที่กระจายตัวช่วยลดแรงกดดัน จากราคาน้ำที่กระทบกับธุรกิจให้ดีมากขึ้น สำคัญไปกว่านั้นข้อมูลพบว่า ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของปตท.ก็สะท้อนการกระจายความเสี่ยงนอกธุรกิจน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าปตท.มีสัดส่วนรายได้จากน้ำมันและการเทรดดิ้งอยู่ที่ 50 % เท่านั้น ช่วยลดความผันผวนจากราคาน้ำมันกับผลประกอบการของปตท.ได้อย่างมีนัยสำคัญ
โดยที่ผลประกอบการปีย้อนหลัง แม้ราคาน้ำมันจะแกว่งตัวมาก แต่รายได้และกำไรของปตท.เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากการกระจายรายได้ที่มีประสิทธิภาพสูงและยิ่งไปกว่านั้น ความน่าสนใจของหุ้นปตท. ของอัตราการปันผลในระดับสูง และน่าสนใจลงทุน


เปิดแผนPTTพร้อมลุย EEC


ส่วนแผนการเติบโตในอนาคต PTT มีแผนจะขยายการลงทุนโดยให้ความสำคัญกับระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งน่าจะเป็นการกระจายความเสี่ยงลดความผันผวนจากราคาน้ำมัน และหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับกลุ่มปตท.มากขึ้น  


โดย "ชาญศิลป์ ตรีนุชกร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  PTT ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว อีไฟแนนซ์ไทยว่า กลุ่ม ปตท.เตรียมงบลงทุนกว่า 2.64 แสนล้านบาท ขยายธุรกิจในพื้นที่อีอีซี แบ่งเป็น การลงทุนโครงการในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 4,100 ล้านบาท การลงทุนท่อก๊าซเส้นที่ 5 จำนวน 17,207 ล้านบาท โครงการส่วนต่อขยายก๊าซเพื่อใช้ในโครงการ EEC จำนวน 727 ล้านบาท ​โครงการ Cold Energy Utilization มูลค่า 219 ล้านบาท โครงการคลัง LNG เฟส 2 มูลค่า 31,912 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตในอนาคต และล่าสุด PTT ได้จับมือกับ GULF ร่วมกันประมูลโครงการท่าแหลมฉบัง ระยะที่ 3 อีกด้วย


อย่างไรก็ตามบทบาทของ PTT แม้จะลดการพึ่งพิงจากน้ำมัน ทำให้เหลือสัดส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำมันในระดับ 50 % ดังนั้นราคาน้ำมันจะขึ้นจะลงก็ส่งผลกับปตท.น้อยลงตามลำดับ  ทำให้ใครที่หวังจะเข้าลงทุนเพื่อรับผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจจะเข้าไปลงทุนในบริษัทลูกที่มีธุรกิจจากการผลิตน้ำมันโดยตรงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ดังนั้นการลงทุนในหุ้น PTT หรือลงทุนในบริษัทลูกอย่าง PTTEP ก็น่าสนใจทั้งคู่


แล้วคุณล่ะ? จะเลือกลงทุนในหุ้นตัวไหน


มุมมองนักวิเคราะห์


บล.ฟินันเซีย ไซรัส
แนะนำซื้อ PTT ให้ราคาเป้าหมาย 58 บาท โดยราคาหุ้น PTT ในเดือน เม.ย.ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับบริษัทลูกทั้งหมด ทั้งที่ราคาน้ำมันเกือบ 10% และมีโอกาสปรับขึ้นต่อจากสถานการณ์ความตึกเครียดในลิเบียและอิหร่าน ซึ่งอาจทำให้กำลังการผลิตน้ำมันหายไปกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน คาดกำไรสุทธิไตรมาสที่ 1 ฟื้น 33% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการฟื้นตัวของของบริษัทลูกอย่าง PTTEP และโรงกลั่น แต่ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะกำไรจากสต็อกน้ำมันน้อยกว่า นอกจากนี้ระดับ PE ปัจจุบันอยู่ที่ 11 เท่า ถูกกว่าบริษัทลูก


บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) รายงานว่า PTT ส่อเลื่อนการนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ (แผนเดิมจะทำ IPO ต้นปีนี้) เนื่องจากอยู่ระหว่างการโอนทรัพย์สิน ซึ่งปัจจุบันทำได้ 80% และต้องใช้เวลาอีก 6 เดือนจึงจะดำเนินการแล้วเสร็จ ผู้บริหารยืนยันว่าการเลื่อน IPO ไม่กระทบแผนลงทุนของ PTT เนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดี และยังมีกระแสเงินสดของ PTTOR เข้ามาตามสัดส่วนถือหุ้น 100% ด้วย ทั้งนี้บริษัทจะตั้งสำรองผลตอบแทนพนักงานตามกฎหมายใหม่ในไตรมาสที่ 2 ที่ 2.9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามการตั้งสำรองของบริษัทย่อย ส่วนตัวบริษัทแม่คือปตท.เองไม่มีรายการนี้เพราะอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์


และประเมินว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 1 จะดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นไปตามกำไรสุทธิของบริษัทย่อยในกลุ่มโรงกลั่นที่ดีขึ้น เพราะพลิกจากขาดทุนสต๊อกไตรมาสที่ 4 ปี 2561  เป็นกำไรจากสต๊อกไตรมาสที่ 1  และกำไรของ E&P (ผ่าน PTTEP) แข็งแกร่งจากปริมาณและราคาขายก๊าซที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนภาพรวมผลประกอบการปีนี้ มองว่ากำไรสุทธิ PTT จะทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงอ่อนลงเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นกับค่าการกลั่นในครึ่งปีหลังว่า จะฟื้นตัวได้แค่ไหนจากระดับที่ต่ำในครึ่งปีแรก