ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เรื่อง “มาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9 – 10 พฤษภาคม 2562 กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ และระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) ซึ่งมี 6 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้า
- มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน
- มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย
- มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย
- มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
- มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน (e-Tax)
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงความคิดเห็นต่อมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่
- ร้อยละ 41.31 ระบุว่า จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น
- รองลงมา ร้อยละ 40.43 ระบุว่า จะทำให้เศรษฐกิจไทยเหมือนเดิม
- และร้อยละ 18.26 ระบุว่า จะทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ลง
เมื่อถามถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ และระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้ประชาชนไปใช้จ่ายหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.35 ระบุว่า ไม่ไปแน่นอน ขณะที่ร้อยละ 35.65 ระบุว่า ไปแน่นอน
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจที่ประชาชนอยากให้มีเพิ่มเติม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่
- ร้อยละ 96.17 ระบุว่า ไม่มีมาตรการใดที่อยากให้เพิ่มเติม
- รองลงมา ร้อยละ 3.67 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าอุปโภค เช่น สบู่ ยาสีฟัน เครื่องใช้ไฟฟ้า
- ร้อยละ 3.03 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าบริโภค เช่น ค่าอาหาร ร้อยละ 2.39 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ
- ร้อยละ 1.67 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และค่าซ่อมบำรุง
- ร้อยละ 1.52 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตร
- ร้อยละ 1.12 ระบุว่า ค่าน้ำมัน
- ร้อยละ 0.40 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น รถไฟ เรือโดยสาร รถโดยสารประจำทาง
- ร้อยละ 0.32 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อ-ขาย ที่ดิน
- ร้อยละ 0.24 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการอบรม สัมมนา ต่าง ๆ
- และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ในสัดส่วนที่เท่ากัน