ช่วงโค้งสุดท้ายหุ้นหลายตัวทยอยประกาศงบ วันนี้ถึงคิว PRM หรือ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบกันบ้าง
PRM แตกต่างจากเจ้าอื่นยังไง? ต้องบอกก่อนว่าบริการเรือขนส่งทางทะเล มีด้วยกันหลายประเภท ทั้งเรือเทกอง และเรือขนส่งคอนเทนเนอร์ แต่ในอุตสาหกรรมขนส่งน้ำมันปิโตรเลียม
เจ้าแห่งการขนส่งน้ำมันทางทะเลที่ครบวงจรมีเพียงรายเดียว นั่นก็คือ PRM
แกะกล่องธุรกิจ
พอลองแกะกล่องธุรกิจดู จะพบว่า ‘พริมา มารีน’ ทำธุรกิจ 4 ธุรกิจสำคัญ ได้แก่
1. ธุรกิจเรือขนส่งปิโตรเลียมในประเทศและต่างประเทศ พูดมาแค่นี้ ฟังดูไม่เข้าใจเท่าไหร่ แต่อยากให้นึกภาพตามว่า การขนส่งน้ำมันจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยใช้เรือ เช่น ลูกค้าที่ชลบุรีอยากส่งน้ำมันไปสุราษฎร์ธานี ‘พริมา มารีน’ ก็เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ หรือจะขนส่งไปต่างประเทศ ก็มีเรือขนาดใหญ่ขนาด 80,000-120,000 DTW รองรับความต้องการลูกค้าในการบรรทุกน้ำมันไปส่งให้ลูกค้า
บริการรองรับธุรกิจออฟชอร์
ต่อไปที่จะพูดถึง ธุรกิจนี้คนจะนึกภาพตามง่ายสุด เพราะอย่างน้อยต้องเคยได้ยินเรื่องขุดเจาะน้ำมัน ปตท. หรือเชฟรอนก็ดี
3. ธุรกิจที่เรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล หรือ ธุรกิจเรือ Off Shore ในยูนิตนี้ ก็จะมีบริการขนส่งและเก็บน้ำมันดิบสำหรับแท่นขุดเจาะน้ำมัน มีหน้าที่รองรับและเก็บรักษาน้ำมันดิบของลูกค้าจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน และรอการถ่ายน้ำมันไปสู่เรือขนาดเล็ก เพื่อขนส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมัน นอกจากนี้มีบริการที่พัก โดยบริการนี้เพื่อเสิร์ฟความต้องการของพนักงานที่แท่นขุดเจาะ ทั้งที่นอน ห้องสันทนาการสำหรับทำกิจกรรม และห้องอาหาร ซึ่งอยากจะบอกว่าธุรกิจที่พักกลางทะเลก็มีไฮซีซั่นด้วยนะ
4. ธุรกิจสุดท้าย คือ การบริหารจัดการเรือ ที่ PRM สามารถใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจ มาต่อยอดสู่ธุรกิจนี้ เพื่อให้บริการแก่กลุ่มธุรกิจเรือของตนเองแล้ว ยังต่อยอดไปรับงานบริหารกองเรือให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ อีกด้วย
เช็คงบไตรมาส 1/62 ทำกำไรพุ่ง 63.8%
ในรายงานผลประกอบการ PRM แจ้งว่า
- ผลประกอบการไตรมาส 1/2562 ทำกำไรสุทธิ 240.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.8%
- ขณะที่รายได้รวมทำได้ 1,188.7 ล้านบาท เติบโต 16.7%
เรียกว่าทรงดีมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากผู้ค้าน้ำมันในต่างประเทศมีความต้องการใช้บริการเรือ FSU เพิ่มสูงขึ้นสำหรับเก็บน้ำมันเตากำมะถันสูง และน้ำมันเตากำมะถันต่ำ เพื่อนำมาผสมกันเพื่อให้ได้น้ำมันเตาที่มีกำมะถันไม่เกิน 0.5% ตามข้อบังคับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO2020)
และกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันในประเทศ ทั้งในกองเรือของบริษัทฯ และมาจากกิจการของ บริษัท บิ๊ก ซี จำกัด ที่ PRM ถือในสัดส่วน 70% ทำ หลังจากเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา สามารถสร้างผลงานได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
นอกจากนี้ความต้องการใช้บริการของเรือ Accommodation Work Barge (AWB) ของลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทค้าน้ำมันรายใหญ่ในประเทศ ก็เพิ่มมากขึ้นถึง 92.3% และ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 กลุ่มบริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 11,721.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 จำนวน 906.4 ล้านบาท
และในอนาคตเอง บริษัทฯ ยังมีแผนงานขยายกองเรือเพิ่มเติมทั้งกลุ่มเรือขนส่งปิโตรเลียมภายในประเทศและกลุ่มธุรกิจเรือ FSU ซึ่งเป็นกลุ่มหัวหอกที่ทำรายได้หลัก ดังนั้น จึงเป็นปีที่ดีของ PRM มีโอกาสสร้างผลักดันเติบโตได้อีกมากตามจำนวนกองเรือที่เพิ่มขึ้น