ไขเบื้องหลัง DRT แกร่งเหนืออุตสาหกรรม ผลงาน Q1/62 ทุบสถิติ

>>

 

ภาพรวมตลาดวัสดุก่อสร้างปี 2562 มีความหวังเพิ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลออกนโยบายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำโครงการบ้านล้านหลัง สนับสนุนผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยของตนเอง รวมถึงออกมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ช่วยกระตุ้นความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมากขึ้น  


บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT หรือ กระเบื้องตราเพชร ที่หลายคนคุ้นเคย เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในตลาดมายาวนานกว่า 33 ปี โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทปี 2528 ภายใต้ชื่อ บริษัท นครหลวงกระเบื้องและท่อ จำกัด และมีบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่


ต่อมาหลังวิกฤตเศรษฐกิจได้เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กระเบื้องหลังคาตราเพชร จำกัด (กตพ.) ในปี 2544 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2548 ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า DRT จากนั้นปี 2554 จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์

 

DRT มีธุรกิจอะไรบ้าง?


DRT เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง แบ่งผลิตภัณฑ์และบริการออกเป็น 

  1. กลุ่มผลิตภัณฑ์หลังคา 
  2. กลุ่มแผ่นผนังและฝ้า
  3. กลุ่มไม้สังเคราะห์
  4. กลุ่มสินค้าพิเศษ ได้แก่ สินค้าประกอบการติดตั้งหลังคา และสินค้าโครงสร้างของบ้าน
  5. บริการถอดแบบและติดตั้งระบบหลังคาซึ่งนอกจากแบรนด์ตราเพชรแล้ว ยังมีแบรนด์อื่นๆ อีก ทั้งตราหลังคา ตราอดามัส และตราเจียระไน


โดยปี 2561 DRT มีรายได้รวม 4,415.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% และมีกำไรสุทธิ 422.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.73% เมื่อเทียบกับรายได้และกำไรสุทธิของปี 2560


ซึ่งหากสังเกตจะพบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิไม่สอดคล้องกับรายได้ เพราะในปีที่ผ่านมา ราคาวัตถุดิบทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น ปูนซีเมนต์ เยื่อกระดาษ ค่อนข้างผันผวน กระทบต่อความสามารถทำกำไร


ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการขยายตลาดและเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ให้หลากหลาย รวมถึงดูแลตัวแทนจำหน่ายเดิม ควบคู่ไปกับการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายใหม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเน้นขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ทำให้ DRT มีรายได้เติบโตในทุกช่องทาง

 

ไตรมาส 1/62 เติบโตทำสถิติใหม่


แม้อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างยังไม่ฟื้นตัว ทั้งจากความต้องการและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ DRT กลับเปิดไตรมาสแรกด้วยผลงานเกินความคาดหมาย เติบโตได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 5% ทั้งกำไรสุทธิและรายได้ ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ของบริษัทฯ


โดยมีรายได้รวม 1,394.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.64% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,195.72 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิซึ่งรวมกำไรพิเศษจากการขายที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ 211.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


แต่หากไม่นับรวมกำไรพิเศษดังกล่าว DRT จะมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 165.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.30% ซึ่งยังคงสูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายที่ตั้งไว้


สิ่งที่ทำให้ DRT เติบโตมาจากการขยายตลาดวัสดุก่อสร้าง ‘ตราเพชร’ ภายใต้กลยุทธ์ ‘สวยครบเซต ตราเพชรทั้งหลัง’ ที่ใช้จุดเด่นด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถนำไปก่อสร้างบ้านได้ทั้งหลัง ทำให้ยอดขายทุกช่องทางจำหน่ายสูงขึ้น ทั้งกลุ่มร้านค้าตัวแทนรายย่อย ห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ ลูกค้าโครงการและตลาดส่งออก


อีกทั้งสามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในไตรมาส 1/62 จะมีวัตถุดิบบางรายการปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิฐมวลเบาที่มีราคาดีขึ้นตามดีมานด์ในตลาดและกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง   บวกกับอัตราเดินเครื่องจักรเฉลี่ย 90% ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ในระดับต่ำ ช่วยสนับสนุนให้ DRT ยังคงรักษาอัตราการทำกำไรขั้นต้นและตัวเลขกำไรสุทธิได้ตามแผน

 

รักษาการเติบโตต่อเนื่อง

ด้าน สาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DRT บอกว่า เชื่อมั่นว่าไตรมาส 2/62 จะยังรักษาอัตราการเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยจะเร่งผลักดันสินค้าวัสดุก่อสร้างแบรนด์ ‘ตราเพชร’ เข้าสู่ช่องทางจำหน่ายให้มากขึ้น หลังจากช่วงวันหยุดยาวของเดือนเมษายนที่ผ่านมาบริษัทได้เพิ่มปริมาณสต๊อกสินค้ารอการขายเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งส่งมอบให้แก่ลูกค้า


โดยพบว่ามีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมากในทุกช่องทางจำหน่าย ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมยอดขายไตรมาสนี้ อีกทั้งช่วยให้บริหารจัดการด้านต้นทุนให้มีประสิทธิภาพและรักษาอัตราการเดินเครื่องจักรเฉลี่ยไว้ที่ 90% เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วยต่ำ ทำให้ DRT สามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ 25-27% ตามเป้าหมาย


นอกจากนี้ DRT ยังอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตไฟเบอร์ซีเมนต์ (NT11) ที่โรงงานจังหวัดสระบุรี  ใช้งบลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เพื่อขยายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มไม้สังเคราะห์และไดมอนด์บอร์ดอีก 55,000 ตันต่อปี


คาดว่าเครื่องจักรใหม่จะเริ่มผลิตสินค้าได้ปลายปี 2563 ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตและรองรับโอกาสการขยายตลาดใหม่ๆ ในอนาคต