อ่วมหนักศก.ฐานรากรายได้ลดรายจ่ายเพิ่มหนี้พุ่ง

>>

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจเศรษฐกิจค่าครองชีพครัวเรือนไทยเดือน เม.ย. และ 3 เดือนข้างหน้า ร่วงหนักต่ำกว่า 50


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานผลสำรวจ ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) และดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนช่วงอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือนเม.ย. 2562 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.5 และระดับ 45.7 ตามลำดับ จากความกังวลต่อภาวะการครองชีพ ทั้งด้านรายได้และการมีงานทำ ระดับราคาสินค้าและบริการ ค่าใช้จ่าย รวมถึงภาระหนี้สินของครัวเรือน


ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ยังเผชิญหลายปัจจัยท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยแล้งที่อาจจะลากยาวและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ค้าขายกับต่างประเทศ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ครัวเรือนนอกภาคเกษตรบางส่วนกังวลเรื่องการมีงานทำ ขณะที่ครัวเรือนในภาคเกษตรบางส่วนกังวลเรื่องรายได้ที่ลดลง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงการปิดหน้ายางพาราและหมดช่วงฤดูทำนา ทำให้ไม่มีปริมาณผลผลิตให้เก็บเกี่ยว ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรบางส่วนมีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า


ในขณะที่ครัวเรือนนอกภาคเกษตรบางส่วนมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องการมีงานทำ จากการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือนเม.ย. 2562 ต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรหรือหน่วยงานที่ครัวเรือนสังกัดอยู่ พบสัญญาณการชะลอรับพนักงานใหม่และการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจาก

  • ช่วงเดือนม.ค. 2561 ที่อยู่ที่ 10.9% และ 1.9% มาอยู่ที่ 18.8% และ 2.8% ตามลำดับ
  • ชวงเดือนเม.ย. 2562 อยู่ที่ 364,000 คน
  • ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. 2562 ที่อยู่ที่ 346,500 คน

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินของครัวเรือนเพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย. 2562 โดยหลักๆ แล้วเป็นผลของปัจจัยฤดูกาลที่ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในรายการพิเศษช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่น ท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา เป็นต้น ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นในช่วงฤดูร้อน ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการชำระค่าเล่าเรียนบุตรหลานที่ทางโรงเรียนทยอยเรียกเก็บก่อนเปิดปีการศึกษาใหม่ในช่วงเดือนพ.ค. 2562


ภาระที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ปกครองบางส่วนมีการกู้ยืม จำนำ หรือกดเงินสดจากบัตรกดเงินสดเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตรหลาน


นอกจากนี้ ครัวเรือนบางส่วนยังมีการขอสินเชื่อใหม่เพื่อซื้อบ้าน รถยนต์ หรือเพื่อการลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย. 2562 อย่างไรก็ดี จากที่กระทรวงการคลังออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 เม.ย. จนถึง 31 ธ.ค. 2562 นั้น ก็น่าจะช่วยหนุนให้มีการขอสินเชื่อใหม่เพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ค. 2562 เป็นต้นไป