เรียนรู้ KGI โบรกเกอร์สัญชาติไต้หวัน ใช้ “ท่ายาก” สร้างการเติบโตในยุคขาลงธุรกิจโบรกเกอร์

>>

โลกของธุรกิจในปัจจุบันหลายธุรกิจกำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนัก ทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยีที่สะดวกสบายรวดเร็วหยิบใช้ได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้หลายธุรกิจอยู่ช่วงขาลงเต็มตัว ไม่เว้นแม่งกระทั่งธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ โบรกเกอร์ในห้องค้าหุ้น หลายบริษัทมีกำไรลดลงจนถึงขาดทุน จนหลายรายถอดใจขายธุรกิจทิ้งก็มีจำนวนมาก


แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของอุตสาหกรรม แต่ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) โบรกเกอร์สัญชาติไต้หวัน กลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสล่าสุดมีกำไรเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมากกว่า 20 % !!


อะไรคือปัจจัยที่ทำ KGI ผงาดท่ามกลางเพื่อนร่วมหอุตสาหกรรมกำลังจะล้มหายตายจาก วันนี้เราจะมาหาคำตอบ

 

สิ้นยุคมนุษย์ทองคำ


ธุรกิจโบรกเกอร์เป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับตลาดหุ้นมาอย่างยาวนาน โบรกเกอร์เป็นผู้ที่ทำหน้าที่รับและส่งคำสั่งซื้อขาย หรือเป็นนายหน้าการค้าหุ้น ซึ่งที่ผ่านมาย้อนอดีตไปเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว กลุ่มคนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า มนุษย์ทองคำ เพราะในอดีตยุครุ่งเรืองบริษัทหลักทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ


จนว่ากันว่า ทุกสิ้นปีนอกจากปรับเงินเดือนขึ้นมากกว่า 10% แถมยังได้ โบนัสอีก 24 เดือน ใช่คุณอ่านไม่ผิดหรอก พวกเขาทำงาน 1 ปี ได้เงินเดือนแถมอีก 2 ปี !!


การเปลี่ยนแปลงคืออนิจจัง ไม่มีอะไรที่ลอยขึ้นไปแล้วไม่ตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงโลก ธุรกิจหลักทรัพย์ผ่านช่วงฮันนีมูน กลายเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนในอดีต แม้ว่ามูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นไทยจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 4- 6 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา


แต่ปัจจัยที่ทำให้กำไรของโบรกเกอร์ย่ำแย่ เพราะการแข่งขันที่มากขึ้น หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การเปิดเสรีโบรกเกอร์ ไม่มีการคุมจำนวนใบอนุญาต ทำให้ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์มากถึง  38 บริษัท เกินความต้องการของนักลงทุน ในตลาดหุ้นที่มีเพียง 1 ล้านคน ไม่เพียงเท่านั้นการเปิดเสรีทำให้เกิดการแข่งขันค่าธรรมเนียมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือ ค่าคอมมิชชั่น ปัจจุบันค่าคอมมิชชั่นในตลาดหุ้นไทยลดลงจาก 1% – 2% มาอยู่ที่ 0.11% – 0.15% เท่านั้น


ต้องบอกว่ายุคแห่งความรุ่งเรืองได้ผ่านไป หลังจากนี้คือการปรับตัว ใครปรับตัวไม่ทันก็อยู่ไม่รอด สิ่งนี้สะท้อนจากส่วนแบ่งทางการตลาดของกลุ่มธุรกิจโบรกเกอร์ ปัจจุบันไม่มีใครครองส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับที่สูง โดยอันดับที่ 1 อย่าง บล.ภัทร มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 7.6% เท่านั้น

                                                                         

ขณะที่กำไรไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 ของบริษัทหลักทรัพย์ก็ย่ำแย่ โดยล่าสุด หลายบริษัทมีกำไรลดลง ยกเว้น  บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ที่มีกำไรเพิ่มขึ้น


เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์    กำไรสุทธิ 118.99 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 48%
โนมูระ พัฒนสิน  ขาดทุน     10.36 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 116%
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กำไรสุทธิ   32.19 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 78%
เคจีไอ  (ประเทศไทย)   กำไรสุทธิ      310 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20%

 

การมีกำไรเติบโตของ KGI ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นสิ่งที่ถูกเตรียมการมากกว่า 5 ปีและเริ่มออกดอกออกผลชัดเจนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา



จุดเริ่มต้นของ KGI


บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เกิดจากบริษัทได้จดทะเบียนก่อตั้งเป็นบริษัทจำกัดในนาม

  • "บริษัท โกลด์ฮิลล์ ซีเคียวริตี้ส์ จำกัด” ในวันที่ 7 มีนาคม 2518 เดิมมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 3 ประเภท ได้แก่ กิจการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ กิจการค้าหลักทรัพย์ และกิจการที่ปรึกษาการลงทุน ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัทหลักทรัพย์ โกลด์ฮิลล์ จำกัด” เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2522  
  • ต่อมา ในปี 2529 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทเงินทุน เอกธนกิจ จำกัด (มหาชน), และกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเงินทุน เอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อกิจการ "บริษัทหลักทรัพย์ โกลด์ฮิลล์ จำกัด" จากผู้ถือหุ้นเดิม และได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัทหลักทรัพย์ เอกธำรง จำกัด"เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 บริษัทได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัทหลักทรัพย์ เอกธำรง จำกัด (มหาชน)" เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2536 

  • ก่อนที่ในปี 2541 กลุ่มเคจีไอได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท บริษัทจึงจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัทหลักทรัพย์ เอกธำรง เคจีไอ จำกัด (มหาชน)" เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2542 และล่าสุดได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)" เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2544


ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา KGI มีกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ปีย้อนหลังพบว่า บล.เคจีไอ มีกำไรอยู่ในระดับเฉลี่ย 1 พันล้านบาท

 

สาเหตุที่ KGI มีกำไรอย่างต่อเนื่อง เพราะ KGI ยึดหลักไม่พึ่งพารายได้ค่าคอมมิชชั่น โดยยึดนโยบายสัดส่วนรายได้ของค่าคอมมิชชั่นการซื้อขายหุ้นจะต้องต่ำกว่า 50% รายได้รวม และสร้างรายได้ด้านอื่นๆ ทั้งการเป็นนายหน้าซื้อขายตราสารหนี้ พอร์ตการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์และการให้บริการการซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ DW

 


DW - พอร์ตลงทุน อาวุธลับสร้างกำไร


โดยสิ่งที่ KGI ทำคือการเร่งพัฒนาระบบหลังบ้าน จากการใช้เงินลงทุนพัฒนาระบบไอทีหลายสิบล้านบาทในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการซื้อขายในตลาดหุ้นที่เปลี่ยนไป โดยเน้นการใช้ระบบไอทีที่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มเคจีไอในประเทศไต้หวัน ซึ่งในตลาดหุ้นประเทศไต้หวันถือว่าเป็นตลาดหุ้นที่มีผู้ลงทุนรายบุคคลเคลื่อนไหวมากที่สุดตลาดหนึ่งของโลก โดยสิ่งที่ทำให้ KGI ผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นคือการให้บริการใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ DW ให้กับนักลงทุน              


ด้วยโลกการลงทุนที่เปลี่ยนไป ทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมถึง DW ด้วย KGI เห็นจุดดังกล่าวจึงเข้ามาเล่นในตลาดนี้เป็นรายแรกๆ ภายใต้ Code DW13


จุดเด่นของ DW13 ค่าย KGI คือ อัตราทดที่สูงมากเกิน 13 เท่า มีสภาพคล่องสูงนักลงทุนเข้าออกง่าย นักลงทุนสามารถซื้อ DW13 ของ KGI ได้แม้จะต้องการซื้อหรือขายในปริมาณที่มากและหากสภาพคล่องในช่อง bids หรือ offers ไม่พอ สามารถติดต่อ KGI ให้ทำ big lot หรือ เพิ่มสภาพคล่องในกระดานให้ได้ ช่วยสร้างกำไรให้กับนักลงทุนหลายเท่าตัว


ขณะเดียวกัน KGI เป็นบริษัทหลักทรัพย์รายแรกๆที่ออก DW13 ครอบคลุมในทุกหลักทรัพย์ที่ทางการอนุญาตให้ออกได้ อีกทั้ง KGI มีระบบหลังบ้านที่บริหารความเสี่ยงที่ดี ทำให้แม้ในยาวตลาดผันผวน พวกเขาก็ไม่ได้รับผลกระทบจากการจำหน่าย DW แม้แต่น้อย

 


เมื่อความพยายามเริ่มออกดอกผล


ผลของการปรับตัวที่ต่อเนื่องทำให้ไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา KGI ได้รายงานกำไรในส่วนผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงิน 522 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีก่อน เนื่องจากการลงทุนที่หลากหลายของบริษัทฯมีผลการดําเนินงานดีขึ้น ทั้งนี้ กําไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงินมาจากธุรกรรมหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการ

  • ออกใบสาคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
  • ธุรกิจตราสารอนุพันธ์นอกตลาด
  • การลงทุนบริษัทในตราสารหนี้และตราสารทุน
  • การให้บริการซื้อขายตราสารหนี้
  • ธุรกิจการซื้อคืนภาคเอกชน
  • และการลงทุนอื่น ๆ


อย่างไรก็ตามการเติบโตของ KGI ในอนาคตน่าจะไม่หยุดนิ่งเพียงเท่านี้ จากวัฒนธรรมจากคนของ KGI ที่มีการทำงานอย่างเป็นแบบแผนและเดินตามแนวทางที่วางไว้อย่างแน่วแน่ แม้ทางเดินที่พวกเขาเลือกจะยากกว่าคนอื่นที่ใช้สงครามราคาเข้าสู้ จึงไม่แปลกที่ KGI เป็นหนึ่งในหุ้นที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน โดยให้เงินปันผลช่วง 6 ปีย้อนหลังในระดับไม่ต่ำกว่า 8% ต่อปีและจะสร้างสีสันให้กับวงการโบรกเกอร์ที่อยู่ในช่วงขาลงให้พลิกฟื้นได้อีกครั้ง

 

ที่มา : https://www.kgieworld.co.th/th/corporate/overview.asp

โปรแกรม setsmart