รฟท.เร่งประมูลเมกะโปรเจ็ค 3 แสนล้านครึ่งปีหลัง

>>

รฟท.แจงแผนพัฒนาระบบราง เตรียมเปิดประมูลโครงการใหญ่กว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนไฮสปีด 3.6 แสนล้านบาทรอเสิร์ฟรัฐบาลใหม่


นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า แผนพัฒนาระบบรางในช่วงครึ่งปีหลังของ 2562 ทาง รฟท.เตรียมผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็ค เพื่อเปิดประมูล วงเงินรวมทั้งสิ้น 2.97 แสนล้านบาท เริ่มจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา วงเงิน 1 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างร่าง TOR ควบคู่ไปกับทยอยเปิดประมูลรวมทั้งสิ้น 10 สัญญา เฉลี่ยสัญญาละ 1 หมื่นล้านบาท


คาดจะเปิดประมูลได้ทั้งหมดในเดือนส.ค.-ก.ย.ก่อนเริ่มก่อสร้างในปีนี้และเปิดให้บริการปี 2565 ต่อมา คือโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รวม 2 เส้นทางสายอีสาน ได้แก่ รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร(กม.) วงเงินลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท และช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 6.79 หมื่นล้านบาท


สำหรับโครงการรถไฟฟ้า นั้น รฟท.อยู่ระหว่างตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารรถไฟฟ้าสานสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ควบคู่ไปกับการร่างTOR เพื่อเปิดประมูลเส้นทางต่อขยายโครงการดังกล่าวรวม 3 สัญญา ประกอบด้วย

  1. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท
  2. ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ วงเงิน 6.57 พันล้านบาท
  3. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 6.64 พันล้านบาท


นอกจากนี้ยังมี โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงมิสซิงก์ลิงก์ ประกอบด้วย

  • สายสีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก)
  • และสายสีแดงเข้ม (ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทาง 25.9 กม. 

วงเงินราว 4 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดนี้จะเปิดประมูลภายในไตรมาส 3-4 ของปีนี้


ด้านโครงการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง (ICD)พื้นที่ 647 ไร่ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท สัญญา 20 ปี เตรียมเสนอผลการคัดเลือกเอกชนที่ชนะเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งผู้ที่ชนะประมูลโครงการได้แก่ กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย)ประกอบด้วย

  • บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบังเทอร์มินัล จำกัด
  • บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด 
  • บริษัท โอเชี่ยนเน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด
  • และบริษัท ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด


นายวรวุฒิ กล่าวถึง ความคืบหน้าแนวทางการชำระค่าเสียหายโครงการโฮปเวลล์ให้กับบริษัทเอกชนคู่กรณี วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท นั้น รฟท.เตรียมประชุมร่วมกับคณะอัยการและทีมงานด้านกฎหมายในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นคณะทำงานในช่วงปี 2531 ช่วงเริ่มต้นของคดีฟ้องร้องดังกล่าว หลังจากสรุปแนวทางได้แล้ว จะรายงานผลเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)รฟท. ก่อนตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการชำระค่าเสียหายดังกล่าว เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้เรียบร้อย เนื่องจากมีหน่วยงานเตรียมช่วยเหลือรฟท.ด้านการเงิน อีกทั้งยังเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่ต้องหาเงินมาชำระหนี้ดังกล่าวอีกด้วย


รายงานข่าวจากรฟท.ระบุว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้นในช่วงครึ่งปีหลัง รฟท. เตรียมศึกษาเพิ่มเติม 2 เส้นทางได้แก่

  1. รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย วงเงินลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท
  2. รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอีซี เฟส 2 ช่วงอู่ตะเภา- ช่วงอู่ตะเภา-ตราด ระยะทาง 300-400 กม. วงเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท 

นอกจากนี้เตรียมเสนอโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 สาย วงเงินลงทุน 3.6 แสนล้านบาทให้รัฐบาลใหม่พิจารณาได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่ วงเงิน 2.6 แสนล้านบาท และ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ช่วงกรุงเทพ-หัวหิน วงเงิน 1 แสนล้านบาท