กรณีศึกษา “Jmart” กับมิชชั่นปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ไม่ง้อแบงก์

>>

คิม รัน โด นักเขียนชาวเกาหลี เคยพูดไว้ในหนังสือเรื่องเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวดว่า ดอกไม้ในชีวิตของแต่ละคนบานไม่พร้อมกัน แถมยังเปรียบเทียบเรื่องนาฬิกาชีวิตเอาไว้ โดยเปรียบคนอายุ 30 ปี เหมือนเข็มนาฬิกาอยู่ที่เวลา 9 โมงเช้า เพิ่งเริ่มทำงานเลย!


เรื่องที่อยากมาเล่าวันนี้ Wealthy Thai หยิบยกกรณีศึกษา “เจมาร์ท” มาให้ฟังกัน ปีนี้บริษัทจะครบ 30 ปี ขณะที่บริษัทลูกอย่าง “ซิงเกอร์” ที่มีบิ๊กดาต้าเป็นฐานที่มั่น ก็เดินทางเข้าสู่ปีที่ 130 ปี โดยความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่รายได้ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากยอดขายโทรศัพท์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น Samsung, iPhone, Huawei, Oppo, Vivo, wiko, Motorola, Sony และ Xiaomi แต่อยู่ที่กลยุทธ์ หลังจากปรับจากบริษัทขายโทรศัพท์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มาเป็น “Holding Company” ในปี 2559  


หลังจากนี้จับตาดูได้เลย เพราะเจมาร์ทกำลังหันมาทำธุรกิจฟินเทคที่เห็นเป็นรูปธรรมเจ้าแรก ผ่านแผนกธุรกิจ “สินเชื่อส่วนบุคคล” หรือบริษัท เจ ฟินเทค และบริษัท เจ เวนเจอร์ส


หน้าที่หลักของเจ ฟินเทคคือ ปรับแก้คุณภาพผู้ขอสินเชื่อ ปรับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ และปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บหนี้ให้ดีขึ้น โดยร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มคือ “บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)” ที่เน้นเรื่องการจัดเก็บหนี้ให้ได้ตามเป้าหมายของบริษัท ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของเจ ฟินเทค มีทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะสามารถมีผลประกอบการได้ตามเป้าหมายในปีนี้   

 

ธุรกิจของเจมาร์ท

  • เจมาร์ท โมบาย (ธุรกิจหลัก)
  • เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ติดตามหนี้
  • เจเอเอส แอสเซ็ท บริหารพื้นที่เช่าจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ IT Junction และโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ The Jas
  • ซิงเกอร์ ธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้า พร้อมกับบริการสินเชื่อแบบเช่าซื้อ
  • เจ ฟินเทค สินเชื่อส่วนบุคคล
  • เจ เวนเจอร์ส DDLP ซอฟท์แวร์ สตาร์ทอัพ

ซึ่งก่อนที่จะไปพูดถึงธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เป็นเรื่องใหม่ในยุคดิจิทัล ลองแกะงบรวมพบว่า ในธุรกิจติดตามเร่งรัดหนี้ มีมูลหนี้ จำนวน 20,133 ล้านบาท โดยได้รับมอบหมายให้ติดตามจากผู้ว่าจ้าง คือ สถาบันการเงินและบริษัทเช่าซื้อ ที่ไม่ต้องการให้บันทึกเป็นหนี้เสียหรือ NPL ขณะเดียวกัน Jmart มีความพยายามที่จะรักษายอดลูกหนี้ 10,000 ล้านบาท จากกลุ่มลูกค้าสถาบันการเงินซึ่งเป็นกลุ่มหลัก


ส่งผลให้ปี 2561 ที่ผ่านมา ภาพรวมพอร์ตให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ มีปริมาณลูกค้าเพิ่มขึ้นทันใจ โดยเฉพาะจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล ความได้เปรียบจากจุดตั้งต้นในปี 2531 ที่ขายอุปกรณ์ไฟฟ้าด้วย “ระบบเงินผ่อน” จึงเป็นข้อได้เปรียบของการทำธุรกิจ สะท้อนว่าบริษัทมีประสบการณ์การติดตามหนี้เป็นระยะเวลายาวนานไม่น้อยกว่า 20 ปี!! และมีข้อมูลการวิเคราะห์ประวัติการจัดเก็บหนี้ และติดตามผลการจัดเก็บหนี้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ



โมเดลบ้านๆ แต่ผลงานไม่บ้าน


ระบบการจัดเก็บเงินแบบผ่อนชำระ ที่บริษัททำผ่านซิงเกอร์ โดยใช้วิธีจัดเก็บหนี้ด้วยการส่งพนักงานไปหาลูกค้าถึงหน้าบ้าน ถึงจะดูบ้านๆ แต่บันทึกในงบว่าส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล จัดเก็บหนี้ได้ประมาณ 96%


ทั้งนี้เรารู้กันอยู่ว่า หนี้ครัวเรือนสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ หรือเงินในกระเป๋าของคนในสังคมอย่างมาก แต่อะไรทำให้เจมาร์ท ขจัดอุปสรรคนี้ไปได้?


นอกจากนี้ยังไม่นับธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ เช่น The Jas และการบริหารพื้นที่ IT Junction กว่า 48 แห่ง ที่จะ cover ลูกค้าในเมืองที่มีฐานะระดับกลางขึ้นไปได้ด้วย


การปักธงทำธุรกิจพัฒนาฟินเทค โดยการปล่อยสินเชื่อแบบบล็อคเชน ของเจมาร์ท จึงเป็นก้าวที่ต้องจับตาดู เพราะปีที่ 30 ของซิงเกอร์ ก็อย่างที่บอกไปว่า กำลังหนุ่มแน่นพอดี


นอกจากนี้ถ้าเราดูข้อมูลผู้ถือหุ้นซิงเกอร์ มีทั้งบริษัทในเครือสหพัฒน์ฯ ธนาคารกสิกร เมืองไทยประกันชีวิตมาถือหุ้นด้วย แถมเคยมีกรรมการที่ควบเก้าอี้ที่ซิงเกอร์และซัมซุง แม้ว่างบล่าสุดจะออกมาไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ แต่ด้วยฐานที่ปูมาอย่างดี จะทำให้เจมาร์ทได้เปรียบ ทั้งในแง่บิ๊กดาต้าสำหรับแทร็กพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับรากหญ้า ยันลูกค้าระดับบน ยังไม่รวม “คุณภาพ” ของสินค้าที่มีความทนทาน การันตีคุณภาพได้ดี

 

สินเชื่อดิจิทัล


หนึ่งในมายสโตนสำคัญอีกอันที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การออกและเสนอขายเหรียญดิจิทัลหรือโทเคน ช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา โดยเจมาร์ทจะเสนอขายโทเคน “Jfin” หรือเจฟินคอยน์ ผ่าน เจ เวนเจอร์ส โดยนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปพัฒนาระบบสินเชื่อแบบดิจิทัล หรือ Decentralised Digital Lending Platform (DDLP) ด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชน สำหรับการทำธุรกิจในเครือ


โดยการเสนอขายโทเคน จะแบ่งออกเป็น 4 เฟส ดังนี้

  • เสนอขายช่วงแรก ระหว่างวันที่ 1-31 มีนาคม 2561 รวม 100 ล้านโทเคน (ราคา 6 บาทต่อ 1 โทเคน)
  • เสนอขายช่วงที่ 2 สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งกำหนดเสนอขาย 1 ตุลาคม 2562 จำนวน 90 ล้านโทเคน
  • เสนอขายรอบพิเศษ สำหรับผู้บริหาร พนักงาน ที่ปรึกษาและพันธมิตร โดยเสนอขายหลังวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา จำนวน 40 ล้านโทเคน และจะเสนอขายหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2562 อีก 30 ล้านโทเคน
  • เสนอขายรอบไพรเวท ให้กลุ่มเจมาร์ทและบริษัทย่อย โดยเสนอขายหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2561 จำนวน 20 ล้านโทเคน และจะเสนอขายหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2562 อีก 50 ล้านโทเคน


เพราะฉะนั้นปีนี้จะเป็นปีที่รับรู้รายได้จากการลงทุนในระบบปล่อยสินเชื่อ ก่อนที่จะเริ่มเห็นผลจากการปล่อยสินเชื่อในปีถัดๆ ไป พอร์ตรายได้ที่มาจากสินเชื่อส่วนบุคคลจึงน่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

 


เปย์แบบป๋าๆ


เจมาร์ทเริ่มปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ผ่านแพลตฟอร์ม “ป๋า” เปิดโอกาสให้กับผู้ที่ต้องการกู้ยืมเงินในรูปแบบสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ในแง่กฎหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นิยามการให้สินเชื่อแบบป๋านี้ว่าเป็น “ธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลและบุคคล ผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์” หรือ Peer-to-peer lending (P2P) เป็นฟินเทคแบบใหม่ ที่จะเข้ามาลดข้อจำกัดทางการเงิน จากรูปแบบเดิมที่เราต้องกู้ยืมผ่าน “ธนาคาร” เท่านั้น


โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่มีสลิปเงินเดือน เพราะการพิจารณาสินเชื่อแบบ P2P จะใช้ข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อมูลจากเครดิตบูโร เช่น ข้อมูลการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ มาใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กู้บางกลุ่มที่ไม่มีประวัติทางการเงิน หรือสินทรัพย์ค้ำประกันให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

 

 

P2P เพิ่งเกิดหรอ?


ในรายงานของธปท.ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การปล่อยสินเชื่อ P2P นี้ เกิดขึ้นที่ Zopa สหราชอาณาจักร ในปี 2548 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว และฮิตขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ เช่น จีน สหรัฐฯ หรือในยุโรปเองก็ดี มูลค่ารวมของสินเชื่อ P2P ในปี 2560 อยู่ที่ 3.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Statista คาดว่าในปี 2568 หรือในอีก 6 ปีข้างหน้า มูลค่าสินเชื่อรูปแบบใหม่นี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 เท่าตัว!!!!


เพราะฉะนั้นไม่ใช้แค่การเติบโตของเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี ที่รัฐบาลตกใจ (หนัก) ไปก่อนหน้านี้ จนต้องออกกฎหมายเร่งด่วยภายใน
3 เดือน แต่ยังมีความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เกี่ยวกับฟินเทค ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิดไว้ ดังนั้นถึงเราไม่เปลี่ยน โลกก็จะเปลี่ยน (พฤติกรรม) เราอยู่ดี

 

ที่มา

เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด คิม รัน โด

รายงานประจำปี 2561 ของ Jmart และ Singer

https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/FAQ/FAQ_148.pdf

https://www.xn--s3c0cxd.com/loan/login

https://techsauce.co/news/jmart-jventures-launches-pah-digital-lending-platform-and-jfin-wallet/