"อาคม"สั่งการบ้านอธิบดีกรมรางป้ายแดง เร่งปั้นคนป้อนรถไฟฟ้าสายใหม่

>>

"สราวุธ"รับมอบนโยบาย งานกรมขนส่งทางราง ชงอกพ.ตั้ง 5 เสือรองรับแผนงาน เร่งจัดสรรบุคคลากรให้เพียงพอปลายเดือน พ.ค. นี้


นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รักษาราชการตำแหน่งอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (กรมราง) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ครม.มีมติแต่งตั้งให้ตนดำรงตำแหน่งกรมราง ตนได้เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เพื่อหารือถึงการเตรียมความพร้อมในการทำงานตำแหน่งอธิบดีกรมราง โดยรมว.ได้มอบหมายให้ไปศึกษาดูงานกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เช่น

  • สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
  • กิจการโทรทัศน์
  • และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หรือหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง เช่น กรมการขนส่งทางบก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เนื่องจาก กพท. ทำหน้าที่กำกับด้านทางอากาศให้ได้ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ที่ได้มีการรับรองใช้ทั่วโลก ซึ่งรูปแบบการกำกับจะคล้ายกับกรมราง อาทิ บุคลากร การจัดการภายใน ผู้ประกอบการ เทคนิคต่างๆ ทั้งมาตรฐานตัวรถ


ทั้งนี้ กรมราง ถือเป็นหน่วยงานใหม่ ที่ต้องวางมาตรฐานไว้พอสมควร โดยหลังจากนี้ จะขอความร่วมมือจากต่างประเทศรวมถึงไปศึกษาดูงาน เช่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) รวมถึงกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) เพื่อให้ความช่วยเหลือการจัดทำรูปแบบบริหารองค์กรที่ครบถ้วน ขณะเดียวกันในปี 2562 ที่ผ่านมา สนข. ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ศึกษาการออกกฎหมายลูก รองรับกฎหมายการขนส่งทางราง ทำให้การขนส่งทางรางมีการกำกับดูแลให้สมบูรณ์


“ในเบื้องต้นกระทรวงคมนาคม จะให้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างสำนักงานของกรมราง ซึ่งตอนนี้ ได้ใช้พื้นที่ของสนข.อยู่ แต่พอมีบุคลากรเพิ่มขึ้น ต้องไปหาสำนักงาน โดยคาดว่าจะเป็นการเช่าก่อน และจะสรุปได้ภายใน 3 เดือน ขณะเดียวกัน กระทรวงจะสนับสนุนด้านระบบไอทีต่างๆ ด้วย เพราะการกำกับดูแลสิ่งสำคัญ คือ ข้อมูลการวิเคราะห์ โดยกระทรวงให้กรมรางฯ ทำเรื่องเสนอเข้ามาพิจารณาการสนับสนุนต่อไป”นายสราวุธ กล่าว


นายสราวุธ กล่าวว่า เรื่องบุุคลากรกรมราง จะต้องพัฒนาและเรียนรู้ต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมบริหารและบริการในระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าที่จะเปิดให้บริการ ซึ่งได้สั่งการให้ไปศึกษาความรู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้ไปดูงานของหน่วยงานด้านระบบ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการเดินรถและให้บริการ เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละหน่วย รวมทั้งมีโอกาสเข้าร่วมอบรมและสัมมนาในต่างประเทศด้วย


ปัจจุบัน กรมราง มีบุคลากรจาก สนข. 44 คน และที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน อ.ก.พ. กระทรวงคมนาคม พิจารณาให้เพิ่มอีก 20 คน โดยจะรับโอนจากหน่วยงานต่างๆ หรือมีการเปิดสอบบรรจุใหม่ ขณะนี้มีบุคคลสนใจได้ติดต่ออยากไปทำงานที่กรมรางฯ จำนวนมาก เนื่องจากกรมรางฯ มีประสิทธิภาพและทันสมัย เป็นธรรมในการกำกับดูแลผู้ประกอบการต่างๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกกรมราง มีบุคลากรข้าราชการ 64 คน จากข้าราชการทั้งหมด 176 คน และพนักงานข้าราชการอีก 27 คน รวม 203 คน ขณะที่ตำแหน่งรองอธิบดีกรมราง 1 ตำแหน่งนั้น ต้องรออำนาจปลัดกระทรวงคมนาคมลงนามแต่งตั้ง โดยไม่ต้องเสนอเข้า ครม.


ด้านตำแหน่งผู้อำนวยการกองแผนงานของกรมรางอีก 5 ตำแหน่ง ระดับผู้บริหารประกอบด้วย

  1. สำนักงานเลขานุการกรม
  2. กองกฎหมาย
  3. กองกำกับกิจการขนส่งทางราง
  4. กองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง
  5. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน 

จะเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อกพ.) กระทรวงคมนาคม ช่วงปลายเดือน พ.ค. นี้ โดยมีรายชื่อผู้อำนวยการกองกรมรางเสนอ 1 คน แล้ว คือ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักโครงการพัฒนาระบบราง (สรร.) สนข. ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน ส่วนอีก 4 ตำแหน่งต้องเปิดรับสมัครต่อไป


อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกกรมรางทำภายใต้ภารกิจอำนาจหน้าที่ภายในกฎกระทรวง และเตรียมการหลายเรื่องเพื่อรองรับ พระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณา คาดว่านำเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเห็นชอบกฎหมายปลายปี 2562 หากประกาศใช้กฎหมายกรมรางแล้วจะทำงานได้อย่างสมบูรณ์