“ธุรกิจเรามีคนมาใช้บริการจำนวนมาก มาขอสินเชื่อตลอด จะมีเพียงแค่ 2 วันต่อเดือนเท่านั้น ที่เราพบว่าธุรกิจเราไม่ดี คือวันหวยออก เพราะชาวบ้านเขาหวังโชคใหญ่เลยเลือกที่ไม่กู้เงินในวันนี้”
คำพูดนี้เป็นถูกพูดโดย ‘ชูชาติ เพ็ชรอำไพ’ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ที่สร้างความเชื่อมั่นกับผู้ถือหุ้นในงาน OPPDAY และเป็นการอธิบายภาพของธุรกิจ MTC ที่ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ยังเติบโตได้ดีท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
MTC เป็นหนึ่งหุ้นที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับตลาดหลักทรัพย์ ด้วยการเข้า IPO ในปี 2557 ที่ราคา 5.50 บาท แต่เวลาผ่านไปเกือบ 5 ปี ราคาหุ้นขึ้นมาอยู่ที่ 47 บาทได้ ด้วยการเติบโตของกำไรสุทธิในระดับที่สูงมาก โดยจากตัวเลขของกำไรที่เติบโตมาอยู่ในระดับ 4 พันล้าน ได้อย่างรวดเร็ว และเป็นผู้นำอันดับที่ 1 ของธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์มือ 2 ในขณะนี้
ผลงานไตรมาสที่ 1/62 ไม่ใช่เล่นๆ MTC มีพอร์ตสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาท และมีกำไร 1,005 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนลูกหนี้ ยังเป็นรถจักรยานยนต์ 33% รถยนต์ 31% และนาโนไฟแนนซ์อยู่ที่ 13.20% โดยไตรมาสที่ 1 จะเป็นไตรมาสที่ทำผลงานได้ต่ำที่สุดของปี
มอ’ไซค์คือจุดเริ่มต้น
การเติบโตอย่างหยุดไม่อยู่ของ MTC เกิดจากแนวคิดสร้างช่องทางการเข้าถึงลูกค้าที่เรียบง่าย โดยสินค้าแรกที่ให้บริการคือสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ หรือ มอเตอร์ไซด์ ที่พวกเราคุ้นเคย โดย MTC มองว่า มอเตอร์ไซค์ มือ2 เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หากลูกค้าพึ่งพอใจกับการกู้เงินของบริษัท และในอนาคตรถยนต์ โฉนดที่ดิน เครื่องจักรการเกษตรก็จะตามมาด้วย ช่วยเพิ่มพอร์ตของสินเชื่อบริษัทให้เติบโตได้
จุดเด่นของบริษัทในการปล่อยกู้นั้นมีความรวดเร็วมาก ขั้นตอนการปล่อยกู้ เมื่อลูกค้าเดินเข้ามาที่บริษัท พนักงานจะขอดูหลักประกันว่าเป็นอย่างไร และใช้เวลาการประเมินและอนุมัติสินเชื่อเพียง 20 นาที หลังจากนั้นก็จะจ่ายเงินสด ส่วนโฉนดที่ดินใช้เวลาประมาณ 2 วัน เพื่อไปสำรวจที่ดิน ก่อนจะอนุมัติสินเชื่อให้
ผู้บริหารยอมรับตามตรงว่า การปล่อยสินเชื่อที่ดินนั้นยากกว่า ในอดีตเคยใช้เกณฑ์เดียวกับรถมอเตอร์ไซค์คือ ปล่อนสินเชื่อทันที คือดูแค่หลักฐานโฉนดที่ดี ก็ปล่อยได้เลย แต่ด้วยความไม่ตรงไปตรงมาของลูกหนี้บางกลุ่ม เอาที่ตาบอด ที่ดินมีปัญหาเข้าออกไม่ได้ มีข้อพิพาทมากู้เงิน ทำให้บริษัทเกิดปัญหามาแล้ว จึงต้องขอลงพื้นที่จริง เพื่อจะปล่อยกู้ได้ปลอดภัย และอีกกลยุทธ์ของบริษัทเรียบง่ายคือ การตั้งเพดานการปล่อยสินเชื่อให้กับทรัพย์สินแต่ละชนิด ซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยงและช่วยให้การประเมินทรัพย์สินนั้นง่ายขึ้น
หัวใจสำคัญของการเติบโตอีกข้อหนึ่ง คือการขยายสาขาที่รวดเร็วมาก แผนการเติบโตสาขา 3 ปีข้างหน้าต้องมีสาขาเพิ่มเป็น 4,500 สาขา จากปัจจุบันที่ 3,200 สาขา โดยปีนี้จะขยาย 600 สาขา เป้าหมายสิ้นปีจะต้องมี 3,900 สาขา การเติบโตจะเน้นภาคอีสาน ภาคใต้ และ กทม.
ที่ MTC ขยายสาขาได้รวดเร็วเพราะใช้เงินลงทุนต่ำมากเฉลี่ยเพียง 3 แสนบาทต่อสาขา ต้นทุนหลักๆคือค่าเช่าอาคาร ตกแต่งสถานที่ ค่าอุปกรณ์สำนักงาน และเงินเดือนพนักงาน ทำให้สถิติการเปิดสาขาของ MTC จะคืนทุนได้ภายใน 1 ปี ส่วนศูนย์ประมูลมีทั้งสิ้น 6 แห่งในพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อประมูลทรัพย์ที่ยึดมาโดยเร็ว
ต้นทุนคือทุกสิ่ง
แม้การขยายธุรกิจจะดีขนาดไหนก็ตาม หากการควบคุมต้นทุนไม่ดีธุรกิจไม่มีกำไรก็อยู่รอดยาก ทำให้หัวใจสำคัญของการเติบโตของของ MTC คือการแสวงหาแหล่งเงินกู้ที่มีต้นทุนที่ถูก โดย MTC เลือกที่จะทำเครดิตเรทติ้ง โดยได้รับการจัดอันดับ BBB+ จากทริสเรทติ้ง ช่วยให้ MTC ช่วยประหยัดต้นทุนได้ถึง 90 ล้านบาท และในอนาคต MTC ต้องการขึ้นเรทติ้งในระดับ A- ให้ได้เพื่อกดต้นทุนของบริษัทให้ปรับลดลงไปอีก
การบริหารต้นทุนที่ดีมากส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่ายของ MTC สูงถึง 18%!! ส่วนการบริหาร NPL ประมาณ 527 ล้านบาท ควบคุมเอ็นพีแอลได้ในระดับเพียง 1% เท่านั้น ส่วนการตั้งสำรอง อยู่ที่ 2.9 เท่าของ NPL จะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีใหม่อย่างแน่นอน
“การบริหารเอ็นพีแอลที่ดีนั้น จริงๆ แล้วไม่มีอะไร เราเลือกในสินทรัพย์ที่ปล่อยกู้ และในวงเงินที่ไม่สูงมาก ลองคิดดูว่าหากเขากู้เงินเรา 2 หมื่นบาท 1 ปี เขาผ่อนส่งเราเดือนละพันกว่าบาทไม่ได้หนักหนามากนัก และสินทรัพย์ที่ปล่อยกู้อย่างรถกระบะอัตราหนี้เสียต่ำมาก เพราะลูกค้าให้ความสำคัญมากโอกาสที่จะปล่อยให้ถูกยึดจึงต่ำ”
แม้ผลงานในอดีตดีมากแแต่การเติบโตยังมีต่อไป โดยแนวโน้มการเติบโตในไตรมาสที่ 2 ผู้บริหารบริษัทประเมินว่าน่าจะรักษาแนวโน้มที่ดีไว้ได้ จากการผ่านช่วงเทศกาลสงกรานต์ในช่วงเดือนเม.ย. และเทศกาลเปิดเทอมในช่วงเดือนพ.ค. ที่คนต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ดีกับบริษัท โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 35% ให้ได้
MTC เป็นหนึ่งหุ้นที่อยู่ในความสนใจนักลงทุน ด้วยผลงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนี้เมื่อพอร์ตสินเชื่อโตถึง 5 หมื่นล้านบาท การเติบโตในครั้งต่อไปอาจจะไม่เติบโตมากๆเหมือนกับในอดีตอีกแล้ว ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายที่ผู้บริหารจะต้องหาวิธีการสร้างการเติบโตที่ต่อเนื่องให้ได้ในระยะยาว....
ความเห็นนักวิเคราะห์
บล.โนมูระ พัฒนสิน ปรับราคาที่เหมาะสมลงจาก 57 เป็น 53บาท/หุ้น จากการปรับประมาณการกำไรสุทธิ 2019 – 21 ลง ปีละ 8% โดยมองว่าแม้ MTC ยังคงควบคุมคุณภาพพอร์ตได้เป็นอย่างดี ทำให้มี NPL ต่ำ 1.04% และยังตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง ทำให้มี Coverage ratio ในระดับสูง 294% แต่จากผลกระทบของการที่ธปท.เข้ามาควบคุมสินเชื่อจำนำทะเบียน
ทำให้ MTC ต้องปรับการบันทึกรายรับดอกเบี้ยเป็นแบบรายวัน และยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจ่ายคืนหนี้ก่อนกำหนด ทำให้ ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อลดลง รวมถึงสินเชื่อโตไม่เด่น ส่งผลต่อกำไรที่โตชะลอลง โดยคาดกำไรสุทธิช่วง 3 ปีข้างหน้าโตเฉลี่ย 23% ต่อปี ลดลงจากช่วง 2016 – 18 ที่กำไรโตเฉลี่ย 63% ต่อปี