ก.ล.ต.ร่วมมือ 9 หน่วยงานรัฐ-เอกชน สนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทย

>>

Hightlight

  • ก.ล.ต.ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 9 หน่วยงานเป็นครั้งแรก เพื่อพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการพัฒนาตลาดทุนไทยสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล (digital transformation) อย่างเท่าทันและมีประสิทธิภาพ 
  • เอ็มโอยูฉบับดังกล่าว จะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการขับเคลื่อนตลาดทุน
  • อำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและประชาชนในการเข้าถึงตลาดทุน และสร้างองค์ความรู้ด้านการระดมทุนและการลงทุนให้กับประชาชน

 

การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) นี้เป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานสำคัญด้านดิจิทัลของประเทศ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ASEAN Chief Information Officer Association สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ  และสมาคมผู้ตรวจสอบและควบคุมระบบสารสนเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนา ก.ล.ต. และตลาดทุนสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพร้อมสนับสนุน ก.ล.ต. ในด้านการออกนโยบาย กำกับดูแล และดำเนินงานรองรับกฎหมายด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้การดำเนินธุรกรรมในตลาดทุนไทยพร้อมรองรับกฎหมายดังกล่าว ตลอดจนสร้างผู้นำด้านดิจิทัลให้กับบุคลากรของ ก.ล.ต. และหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. มีเป้าหมายในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นกลไกสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดย ก.ล.ต. ตระหนักดีว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินงานของภาคธุรกิจ จึงมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาทำให้นโยบายและการดำเนินงานมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

“ทั้งนี้ MOU ดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการขับเคลื่อนตลาดทุน อำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและประชาชนในการเข้าถึงตลาดทุน และสร้างองค์ความรู้ด้านการระดมทุนและการลงทุนให้กับประชาชน ในขณะเดียวกัน จะเน้นการมีระบบความปลอดภัยไซเบอร์ (cyber security) รวมทั้งยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของ ก.ล.ต. เพื่อให้เท่าทันและรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคดิจิทัล” เลขาธิการก.ล.ต.กล่าว

 

นอกจากนี้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จะให้ความร่วมมือด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนงาน ตลอดจนพัฒนาแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมายด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งขยายการให้บริการตลาดทุนสู่ประชาชน พัฒนาศักยภาพการให้บริการและการดำเนินงานในตลาดทุนผ่านเครื่องมือและช่องทางดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จะให้ความร่วมมือด้านการส่งเสริมตลาดทุนไทยในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงการสร้างความพร้อมและสภาพแวดล้อมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้อำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของผู้ประกอบการให้มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ผู้บริโภค

 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จะให้ความร่วมมือในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและช่องทางการเข้าถึงตลาดทุนไทยของวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อการเปลี่ยนผ่านในธุรกิจยุคดิจิทัล พร้อมทั้งร่วมพัฒนาและอบรมศักยภาพในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้นำดิจิทัล

 

ส่งเสริมงานวิจัยด้านตลาดทุน 

 

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล จะร่วมส่งเสริมความรู้ทางวิชาการทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับบุคลากรในตลาดทุน ส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน พร้อมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่มีผลงานทางด้านการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาตลาดทุนไทย และสำหรับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลมีจะความร่วมมือระหว่างไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon) ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) และการสร้างความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์

ASEAN Chief Information Officer Association ให้ความร่วมมือในการพัฒนาและอบรมศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านการสร้างผู้นำด้านดิจิทัล รวมถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในอาเซียนผ่านเครือข่ายสมาคม

 

สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA) ให้ความร่วมมือด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ (cyber security) การพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยไซเบอร์ การกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัย และ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างมั่นคงปลอดภัย

 

สมาคมผู้ตรวจสอบและควบคุมระบบสารสนเทศ-ภาคพื้นกรุงเทพฯ (ISACA Bangkok Chapter) ให้ความร่วมมือในการสร้างความพร้อมของบุคลากรในตลาดทุนให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกรรม พัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การกำกับดูแลและการตรวจสอบเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาใช้ในตลาดทุนให้มีความปลอดภัย