ทีดีอาร์ไอชี้ "ค่ารถไฟฟ้าไทย" แพงกว่าสิงคโปร์ 20% ทำคนจนเข้าไม่ถึง

>>

"ทีดีอาร์ไอ" ชี้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยสูงกว่าสิงคโปร์ 20% จี้รัฐเร่งอุดหนุนค่าโดยสารหลังคนจนเข้าไม่ถึง เสนอค่ารถไฟฟ้าลดหย่อนภาษีปีละ 10,000 บาท


ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่าทีดีอาร์ไอมองว่าปัญหาที่กรมการขนส่งทางรางต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาระบบรางเพื่อประชาชนนั้น สิ่งเร่งด่วนที่ต้องทำคือการควบคุมค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงและโครงการเกี่ยวเนื่อง จากการเก็บข้อมูลพบว่าค่ารถไฟฟ้าในเมืองนั้นแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง แต่คนจนกลับใช้ไม่ได้


สอดคล้องกับผลการศึกษาที่พบว่าค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงของไทยนั้นสูงกว่าค่ารถไฟฟ้าในประเทศสิงคโปร์มากกว่า 20% แม้ว่าสิงคโปร์จะมีการปรับค่ารถไฟฟ้าตามขนาดเศรษฐกิจใหม่และรายได้ประชากรแล้วแต่กลับพบว่าค่ารถไฟฟ้าไทยยังแพงกว่าอยู่ดี


ดังนั้นรัฐบาบต้องศึกษาโมเดลของต่างประเทศในการควบคุมค่าโดยสาร เช่น โมเดลของประเทศญี่ปุ่น นั้นมีการยกเว้นค่าแรกเข้าเมื่อเปลี่ยนเส้นทางรถไฟฟ้า หรือ การใช้ระบบตั๋วร่วม(Common Ticket) เพื่อลดค่าบริการขนส่งสาธารณะเช่น ขึ้นรถไฟฟ้าแล้วสามาถลดค่ารถเมล์ได้ 50% จึงส่งผลให้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ซับซ้อนหรือการเดินทางไกล มีอัตราค่าโดยสารที่ถูกกว่าของประเทศไทย


ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่ารัฐบาลต้องกลับมาทบทวนว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องรถไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาจราจรหรือไม่ ในแต่ละปีรัฐบาลอัดฉีดเงินอุดหนุนภาคท่องเที่ยวปีละ 10,000-20,000 บาท/คน แต่เรื่องรถไฟฟ้าเป็นสิ่งใกล้ตัว คงจะดีหากมีการส่งเสริมให้นำบัตรลดไฟฟ้ามาลดหย่อนภาษีได้ เพราะผลศึกษาพบว่าอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 1,000 บาท/คน ดังนั้นการลดหย่อนภาษีปีละ 10,000 บาทเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญ


นอกจากนี้ภาครัฐบาลควรทบทวนการส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยใช้รถไฟฟ้าผ่านบัตรสวัสดิการนั้นทีดีอาร์ไอมองว่า 500 บาท/เดือน นั้นยังไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับค่ารถไฟฟ้าที่เฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ 30-40 บาท ดังนั้นรัฐบาลอาจต้องพิจารณาเพิ่มวงเงินเป็น 700-800 บาท/เดือน ให้เหมาะสมกับศักยภาพรายได้


อย่างไรก็ตามเงื่อนไขค่าโดยสารมีรายละเอียดที่ต้องพูดคุยกับเอกชนหลายด้าน เช่น สัญญาสัมปทานของผู้เดินรถรายเดิมเป็นต้น นอกจากนี้ทีดีอาร์ไอมองว่าเรื่องเร่งด่วนอีกประเด็นคือการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟในต่างจังหวัด ปัจจุบันเกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ก็ต้องเจอปัญหาความล่าช้า เมื่อมีกรทการขนส่งทางรางแล้วควรจะมีหน้าที่เข้ามากำกับดูแลแก้ปัญหาโดยตรง


ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมรางกล่าวว่า การจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางเน้นนโยบาย 5 ด้าน ประกอบด้วย

  1. พัฒนาโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานทางราง
  2. มาตรการความปลอดภัย
  3. โครงสร้างค่าโดยสาร
  4. การออกใบอนุญาต
  5. ส่งเสริมผู้ประกอบการขนส่งและดูแลประชาชน 

ทั้งหมดนี้เพื่อประชาชนในการเข้าถึงระบบราง ได้รับคุณภาพบริการที่ดีและค่าโดยสารต้องเป็นธรรม ขณะนี้กรมรางอยู่ระหว่างวางโครงสร้างองค์กรและการรวบรวมข้อมูลเสนอฝ่ายกฤษฎีกาเพื่อขอออกกฎหมาย พรบ.ขนส่งทางรางต่อไป โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาภายใต้รัฐบาลชุดใหม่


นายสรพงศ์กล่าวต่อว่าแนวทางในการเข้ามาดูแลเรื่องราคาค่าโดยสารนั้น มีแผนศึกษาหลายรูปแบบ เช่นการลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลรายปีสำหรับค่ารถไฟฟ้า รัฐบาลอุดหนุนค่าโดยสาร (Subsidy) ตลอดจนการส่งเสริมอุดหนุนให้พนักงานบริษัทขนาดใหญ่หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แต่ทั้งหมดนี้ต้องรอโครงข่ายรถไฟฟ้าแล้วเสร็จทั้งหมดก่อน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดนำเงินภาษีรถยนต์ประจำปีมาอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าอีกด้วย