“กอง DIF”...เดินหน้าลงทุนเพิ่มครั้งที่ 4 มูลค่ารวมไม่เกิน 15,800 ล้านบาท
>>
“กอง DIF”...เตรียมลงทุนเพิ่มครั้งที่4 ในสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐาน ‘กลุ่ม TRUE’ มูลค่ารวมไม่เกิน 15,800 ล้านบาท โดยจะเพิ่มทุนจดทะเบียนกองทุนไม่เกิน15,800 ล้านบาท และเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 1,050 ล้านหน่วย ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิม เพิ่มศักยภาพหนุนอัตราผลตอบแทนระยะยาว เตรียมขออนุมัติที่ประชุม EGM 21มิ.ย.นี้
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของ ‘กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF)’ เปิดเผยว่า ‘กอง DIF’ เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่จัดตั้งขึ้นเป็นรายแรกและเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อเข้าลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั่วประเทศ เช่น เสาโทรคมนาคม ระบบใยแก้วนำแสง อุปกรณ์สื่อสัญญาณ ระบบบรอดแบนด์ ล่าสุด ‘กอง DIF’ เตรียมเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 4 มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,800 ล้านบาท
“การเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้ สอดคล้องกลยุทธ์การสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกองทุนที่มุ่งแสวงหาโอกาสการเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โดยเพิ่มเติมมูลค่าทรัพย์สินกองทุน เพื่อจัดหาผลประโยชน์และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีการแข่งขันที่สูงในยุคดิจิทัลที่กำลังจะย่างเข้าสู่ 5G ในอนาคต รับมือกับปริมาณความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี”
ปัจจุบัน ‘กอง DIF’ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในเสาโทรคมนาคม15,271 เสา เจ้าของกรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่าระยะยาวและสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในใยแก้วนำแสงประมาณ 2.7 ล้านคอร์กิโลเมตร และกรรมสิทธิ์ในระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด 1.2 ล้านพอร์ต โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (ณ 31 มี.ค. 19) อยู่ที่ 150,289.60 ล้านบาท
นายณรงค์ศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ ‘กอง DIF’ จะเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จาก ‘กลุ่ม TRUE’ ประกอบไปด้วย
- การลงทุนในกรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมรวม 788 เสา แบ่งเป็นเสาที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน 749 เสาและเสาที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าจำนวนประมาณ 39 เสา โดยเสาดังกล่าวพร้อมใช้งานและส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาไม่เกิน 1 ปี
- กรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) ซึ่งปัจจุบันใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 1,795 กิโลเมตร (ประมาณ 107,694 คอร์กิโลเมตร)
- กรรมสิทธิ์ใน FOC ซึ่งปัจจุบันใช้รองรับเทคโนโลยีระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร (ประมาณ40,823 คอร์กิโลเมตร) และประมาณ 617 กิโลเมตร (ประมาณ 37,505 คอร์กิโลเมตร) ตามลำดับ
- กรรมสิทธิ์ ใน FOC ซึ่งปัจจุบันใช้รองรับเทคโนโลยีระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด รวมระยะทางประมาณ 2,797 กิโลเมตร (ประมาณ 109,704 คอร์กิโลเมตร)
“ทั้งนี้การเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะทำให้ประมาณการเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนของกองทุน DIF (Cash Distribution Per Unit หรือ DPU) ภายหลังการเข้าลงทุน ไม่ต่ำไปกว่า DPU ในกรณีที่กองทุน DIF ไม่ได้เข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จัดทําโดยบริษัทจัดการและตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตทําประมาณการสําหรับช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 19 - 30 ก.ย. 20”
สำหรับแหล่งเงินที่ใช้ในการลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้ จะมาจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนทั้งจำนวน โดยกองทุน DIF จะดำเนินการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนในจํานวนรวมไม่เกิน 10,500,000,000 บาท จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียน 96,379,430,540 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หน่วยละ 10 บาท เป็นทุนจดทะเบียนไม่เกิน 106,879,430,540 บาท โดยออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่จำนวนไม่เกิน 1,050 ล้านหน่วย แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน ซึ่งจะกำหนดการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อไป
“ทั้งนี้ ‘กอง DIF’ จะเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนเห็นชอบอนุมัติ ในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล ครั้งที่ 1/2019 ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 21 มิ.ย. 19 ตั้งแต่ 09.30 น.เป็นต้นไป ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ หลังกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนครั้งที่ 1/2019 (Record Date) วันที่ 28 พ.ค. 19”
น.ส.วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า การเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะเพิ่มศักยภาพและโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติมแก่กองทุน DIF รวมถึงเพิ่มการกระจายตัวของทรัพย์สินที่ครอบคลุมทั่วประเทศยิ่งขึ้น รองรับแนวโน้มการขยายตัวของภาพรวมธุรกิจโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสภาพคล่องซื้อขายหน่วยลงทุนและเพิ่มโอกาสที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวอีกด้วย
ส่วนผลการดำเนินงานกองทุน DIF ย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2559 – 2561) สามารถจ่ายเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนแก่ผู้ถือหน่วยได้อย่างสม่ำเสมอ โดยประกาศจ่ายเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนทุกไตรมาส รวมต่อปีเป็นอัตรา 0.956, 0.975 และ 1.016 บาทต่อหน่วยตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าภายหลังการเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 กองทุน DIF จะสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ลงทุนเพิ่มเติมโดยการให้เช่าระยะยาวแก่ผู้เช่าหลักคือกลุ่มทรู ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ