เชื่อว่า ทุกท่านคงเคยได้ยินสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า "Don't Put All Your Eggs in One Basket" ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า "อย่าใส่ไข่ทั้งหมดของคุณไว้ในตระกร้าเพียงใบเดียว" ทั้งนี้ ก็เพราะ หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตระกร้าใบดังกล่าวต้องตกลงสู่พื้น ก็จะทำให้ไข่ทั้งหมดในตระกร้าแตกเสียหายได้
การนำไข่ไปใส่ในหลายๆ ตะกร้าแทน ถ้าเกิดตระกร้าใบนึงตกพื้น ไข่ในตะกร้าใบอื่นก็ยังคงมีอยู่ให้ได้กินได้ใช้ ซึ่งเมื่อเทียบกับเรื่องการลงทุนแล้ว ก็ให้เปรียบว่า ‘ไข่’ เป็นเสมือน ‘เงินลงทุน’ ของเรา และการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์เพียงตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวเดียว หากหลักทรัพย์ตัวนั้นเกิดขาดทุนขึ้นก็เท่ากับว่าเงินลงทุนทั้งหมดของเราย่อมสูญเสียตามไปด้วย
“ดังนั้น ‘การกระจายลงทุน’ ในหลักทรัพย์หลายๆ ตัว แม้จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจนทำให้ขาดทุนขึ้น อย่างน้อยเงินลงทุนของเราก็ยังได้รับผลกระทบที่น้อยลง เนื่องจากหลักทรัพย์ที่เรากระจายการลงทุนช่วยสนับสนุนผลตอบแทนของกัน และกันอยู่ จึงช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ครับ และนี่ก็คือ พื้นฐานในเรื่องการลงทุนที่เรียกกันว่า ‘การกระจายความเสี่ยง (Diversification)’ นั่นเอง”
ทั้งนี้ เมื่อมีการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ ‘ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป’ ก็จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘กลุ่มการลงทุน’ หรือ ‘กลุ่มหลักทรัพย์’ หรือ ‘พอร์ตการลงทุน (Investment Portfolio)’ ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า “พอร์ต” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุนลง
อย่างไรก็ตาม ต่อให้กระจายการลงทุนได้ดีขนาดไหนก็ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงกลายเป็น ‘ศูนย์’ หรือช่วยขจัดความเสี่ยงทั้งหมดไปได้นะครับ เพราะขึ้นชื่อว่า การลงทุนยังไงก็ย่อมต้องมีความเสี่ยงไม่มากก็น้อยคงเหลืออยู่ โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การก่อการร้าย หรือภัยธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งในที่นี้จะขออธิบายให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องการกระจายความเสี่ยงทั้งแบบดั้งเดิม และสมัยใหม่ให้ได้เข้าใจกันยิ่งขึ้นดังนี้ครับ
อย่างไรก็ตาม การกระจายการลงทุนภายใต้แนวคิดนี้ก็ใช่ว่าจะดีที่สุด เพราะยิ่งลงทุนจัดเต็มไปซะทุกอย่าง โอกาสที่จะศึกษาทำความเข้าใจในหลักทรัพย์ที่ลงทุนทั้งหมดนั้นก็ย่อมมีน้อยลง การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์ก็จะเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้นเพราะมีการลงทุนที่หลากหลายเกินไป
“นอกจากนี้ หากการกระจายการลงทุนนั้นเป็นการลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกัน ก็คงไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนลงแต่อย่างใด แต่กลายเป็นรูปแบบการลงทุนแบบกระจุกตัวแทนซะงั้น และในบางครั้งอัตราผลตอบแทนที่ได้รับก็อาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มากตัวขึ้น และยังมีต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย”
ซึ่งแนวคิดนี้น่าจะสมเหตุสมผลมากกว่า โดยพอร์ตที่สร้างขึ้นนั้นอาจเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ ‘ต่างประเภทกัน (Different Asset Class)’ หรือหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน (Same Asset Class) แต่ ‘ต่างรูปแบบ (Sub-asset Class)’ กัน หรือหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน แต่ต่างอุตสาหกรรม และต่างบริษัทกัน หรือแม้แต่กระจายการลงทุนไปในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากหลักทรัพย์ในประเทศไทยเราครับ
“แน่นอนว่า การลงทุนที่ดีควรที่จะมีการกระจายความเสี่ยงอย่าง ‘เหมาะสม’ และ ‘เพียงพอ’ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์เพียงตัวใดตัวหนึ่ง หรือลงทุนแบบกระจุกตัวไม่ได้นะครับ เพราะขนาด ‘Warren Buffet’ ยอดนักลงทุนระดับโลกยังมีสำนวนเด็ดที่ว่า “I Prefer to Keep All My Eggs in One Basket and Watch That Basket Closely” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า เค้าเลือกที่จะเก็บไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว และคอยเฝ้าดูตะกร้าดังกล่าวอย่างใกล้ชิดแทน อันนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับความชื่นชอบ และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุนแต่ละท่านละครับ”