ลงทุนอย่างไร? เมื่อความเชื่อมั่นตลาดหุ้นร่วงในรอบ 5 เดือน
>>
ตลาดหุ้น คือ ตลาดของความเชื่อมั่น เป็นสิ่งที่สะท้อนภาพของการลงทุนได้ดีที่สุด โดยดัชนีหรือราคาหุ้น มักจะสะท้อนกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนทันที หากนักลงทุนมองว่า ภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ผลการดำเนินงานเริ่มดีขึ้น ราคาหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นไป ก่อนที่ผลประกอบการประกาศออกมาให้นักลงทุนรับทราบ
แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้รายงานความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดหุ้นไทยประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 ไปอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 113.73 จุด ลดลง 7.23% นับเป็นการครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สะท้อนความกังวลในตลาดหุ้นที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากการสำรวจพบว่านักลงทุนกังวลในเรื่อง ภาวะเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่จะเป็นตัวฉุดตลาดหุ้น ส่วนปัจจัยบวก คือ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่เข้มแข็ง จากผลของเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว
นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่า นักลงทุนทั้งในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ สถาบันในประเทศ ต่างชาติ และรายบุคคล มีมุมมองที่ดีกับธุรกิจกลุ่ม พลังงาน และสาธารณูปโภค และกลุ่มธนาคาร น่าสนใจลงทุน ในขณะเดียวกันกลุ่มดาวร่วง คือ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ รวมถึงกลุ่มแฟชั่น
โค้งสุดท้ายหุ้นไทยยังขาขึ้น
แม้ความเชื่อมั่นปรับลดลง แต่ในมุมมองของกูรูตลาดหุ้น อย่าง ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ยังมีมุมมองที่บวกต่อตลาดหุ้นไทย
โดยมองว่า ในปีนี้ตลาดหุ้นไทยยังขึ้นไปยืนเหนือระดับ 1,750 จุดได้ จากปัจจัยต่างประเทศที่เริ่มคลายตัวลง ทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างพี่ใหญ่ 2 ประเทศใน 2 ซีกโลก คือ สหรัฐฯ ของลุงโดนัลทรัมป์ และมังกรตะวันออกอย่างประเทศจีน ของลุง สี จิ้นผิง ที่มีแนวโน้มเปิดโต๊ะเจรจากันเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม รวมถึงการที่สหรัฐฯ เริ่มผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันให้คลายความตึงตัวลง
และในขณะเดียวกันพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลบวกให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากต้นปีเพียง 5% เท่านั้น เมื่อเทียบกับบางประเทศที่ปรับตัวลดลงถึงกว่า 20 % แม้ว่าต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ มากมาย ซึ่งปัจจัยที่แข็งแกร่งจะช่วยค้ำยันตลาดหุ้นไทยไม่ให้ปรับตัวลดลงแรง เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน
เคาะขวาหุ้นในประเทศเลี่ยงความผันผวน
เมื่อภาวะความไม่แน่นอนในต่างประเทศมีอยู่มาก ทำให้ทางเลือกการลงทุนหุ้นในประเทศยังน่าสนใจมากที่สุด โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล. เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินว่าการลงทุนในระยะสั้น จะมีความผันผวน แต่ด้วยปัจจัยในประเทศที่กลับมาหนุนตลาด จึงเป็นจังหวะการเข้าซื้อหุ้น
โดยเฉพาะหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแรงมากกว่าตัวอื่นหรือหุ้นที่เคลื่อนไหวไปตามทิศทางตลาด ได้แก่ PTTGC, BDMS, CPN รวมถึงหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลบวกจากการเลือกตั้ง ได้แก่ CK , CPALL, CENTEL ขณะที่กลุ่มที่คาดว่างบไตรมาส 3 จะออกมาดีได้แก่ TPIPP, GUNKUL , UTP และกลุ่มที่มีการจ่ายเงินปันผลสูง เช่น KKP และ QH
ประเมินตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ตลาดให้ความสนใจต่อการเจรจาการค้ารอบใหม่ของสหรัฐฯ-จีน ถือเป็นปัจจัยหนุนตลาดในช่วงสั้นๆ หลังมีสัญญาณว่า สหรัฐฯ พยายามที่จะต่อรองครั้งสุดท้าย ก่อนประกาศใช้มาตรการภาษีกับจีนจำนวน 2.5 แสนล้านเหรียญฯ หากการเจรจาล้มเหลว
ส่วนปัจจัยในประเทศ เรื่องของการเลือกตั้งและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นตัวแปรหลักของไทย ทำให้
นักลงทุนมั่นใจมากขึ้น โดยที่การประมูลโครงการคมนาคม และการอัดฉีดเงินเข้าระบบเป็นบวกต่อกลุ่มรากหญ้า ผ่านโครงการประชารัฐฯ รวมถึงสนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจอีอีซี ซึ่งเป็นบวกต่อทั้งตลาดและมีผลบวกต่อกลุ่มนิคมฯ, รับเหมาฯ และค้าปลีก เป็นต้น
ความผันผวนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับตลาดหุ้น ตลาดที่ไม่ผันผวนคือตลาดที่ตายแล้ว” การปรับตัวลดลงของดัชนีและราคาหุ้นที่เกิดขึ้น มักจะเป็นโอกาสของนักลงทุนที่จะได้จับจองหุ้นในราคาที่ถูกกว่าปกติ ดังนั้นการทำการบ้านเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ในระยะยาว
Source:
- ข้อมูลเอกสารเผยแพร่ ผลสำรวจความคิดเห็นนักลงทุน ประจำเดือน พ.ย. ของสภาธุรกิจตลาดทุน
- บทวิเคราะห์ บล.KTBST ประจำสัปดาห์ ณ.วันที่ 5 พ.ย.