นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประจำเดือนมิถุนายน 2562 ดังนี้
- คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบหลักการในการออกประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) จากผู้ออกตราสารหนี้ โดยอัตราค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจะอยู่ที่ 10,000 และ 30,000 บาท ขึ้นกับประเภทการเสนอขาย ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศการยกเว้นค่าธรรมเนียม มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ทั้งนี้ ผู้ออกตราสารหนี้จะต้องมีวัตถุประสงค์ ในการนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาสังคมในประเทศไทย โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการออกประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ หรือแบบไฟลิ่ง ให้บริษัทที่ขออนุญาตเสนอขายตราสารหนี้ 3 ประเภทข้างต้น โดยมีผลใช้บังคับแล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2562 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เช่นเดียวกัน
- คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของตลาดทุน” ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการศึกษาและเสนอแนะแนวทางพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันของตลาดทุนและส่งเสริมศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง (stakeholder) ทั้งหมดในตลาดทุน โดยสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการออมและการลงทุน และสามารถใช้ตลาดทุนเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของตนเองได้โดยสะดวก กิจการต่าง ๆ สามารถเข้าถึงตลาดทุนเพื่อระดมทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมกับรูปแบบและสภาพของธุรกิจ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลในการประกอบกิจการ ผู้ประกอบธุรกิจมีความเป็นมืออาชีพและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ รวมถึงตลาดทุนมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม
( นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล )
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย
- นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานอนุกรรมการ
- นายสุภัค ศิวะรักษ์ อนุกรรมการ
- นายสุวิชญ โรจนวานิช อนุกรรมการ
- นางภัทรียา เบญจพลชัย อนุกรรมการ
- นายเจษฎา พรหมจาต อนุกรรมการ
- นายพสุ เดชะรินทร์ อนุกรรมการ
- นางปะราลี สุคนธมาน อนุกรรมการ
- นางวิภา แซ่โง้ว อนุกรรมการ
- ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อนุกรรมการ
- ผู้แทนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อนุกรรมการ
- นางสาวจอมขวัญ คงสกุล อนุกรรมการและเลขานุการ
- คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน ก.ล.ต. แสดงเจตจำนงต่อ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) เพื่อเสนอเป็นเจ้าภาพจัดประชุม IOSCO ประจำปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งมีความยืดหยุ่นได้ในช่วงปี 2565-2567 โดยการเป็นเจ้าภาพสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความสามารถในการแข่งขันในเรื่องการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน และแผนแม่บทในด้านการต่างประเทศว่าด้วยการส่งเสริมบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ของประเทศไทย เพื่อเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีโลกและมีความร่วมมือกับนานาชาติ อีกทั้งการรับเป็นเจ้าภาพในปี 2565 ยังเป็นปีที่ไทยดำรงตำแหน่งประธาน กรอบความร่วมมือ Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) และตรงกับปีที่สำนักงาน ก.ล.ต. มีอายุครบรอบ 30 ปีอีกด้วย
นอกจากนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่าง ๆ โดย
- แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการแข่งขันของไทย ในการเป็นผู้นำของตลาดทุนภูมิภาคและในเวทีสากล และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนไทยและต่างประเทศ
- สร้างความตื่นตัวและเพิ่มพูนความรู้ให้บุคลากรในตลาดทุนไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับพัฒนาการของต่างประเทศ
- สนับสนุนโอกาสทางวิชาการและพัฒนามุมมองจากการจัดสัมมนาที่มีผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก
- เพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่ายทั้งในภาครัฐและเอกชน และ
- สนับสนุนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมการจัดประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติของไทย
ทั้งนี้ IOSCO มีสมาชิกประกอบด้วยหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 225 องค์กร จากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก และการประชุมประจำปีแต่ละครั้งจะมีผู้เข้าร่วมประชุม โดยเฉลี่ยประมาณ 600 คน และจะเปิดรับคัดเลือกประเทศสมาชิกที่ประสงค์เป็นเจ้าภาพจัดประชุมล่วงหน้า 3 ปี โดย ก.ล.ต. จะยื่นแสดงความจำนงและข้อเสนอเป็นเจ้าภาพต่อ IOSCO ในวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ตามกรอบเวลาของ IOSCO และหากผ่านการพิจารณาเบื้องต้น จะต้องไปนำเสนอความพร้อมต่อคณะกรรมการบริหารของ IOSCO เพื่อพิจารณาคัดเลือกในเดือนตุลาคม 2562 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ต่อไป