ผลกระทบอีกระลอกจากสงครามการค้าคือ ความกดดันที่มีต่อราคาน้ำมันดิบ ไม่เพียงแค่ความผันผวนของราคาน้ำมันที่มากขึ้นแล้ว แต่แรงกดดันนี้ส่งผลกระทบมายังตลาดทุนไทยด้วย เพราะหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของตลาดหุ้น
PTG ปรับตัวขึ้นสูงสุดในกลุ่มพลังงาน
ถ้าส่องดูหุ้นกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค หรือกลุ่ม Energy ที่มีทั้งหมด 30 ตัว เช่น PTT, PTTEP, BANPU, EA, GULF, RATCH, BGRIM พบว่าราคาหุ้นเหล่านี้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง มีเพียงแต่หุ้น PTG หรือบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบปีนี้
โดยปรับตัวขึ้นจากราคาสิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 8.60 บาท ล่าสุด ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2562 ราคาหุ้น PTG อยู่ที่ 17.30 บาท หรือราคาหุ้นพึ่งขึ้น 101.16% ทำให้เราต้องมาดูกันว่าอะไรเป็นปัจจัยให้ PTG ถึงบวกแรงสวนตลาดได้ขนาดนั้น
เพราะเราเป็นชาวสวน
จุดเริ่มต้นของเรื่องราว เมื่อ 31 ปีก่อน หรือในวันที่ 21 มีนาคม 2531 บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นบนความตั้งใจที่จะประกอบกิจการคลังน้ำมัน และค้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับชุมชนผู้ประกอบการประมงและโรงงานอุตสาหกรรมที่ปลายด้ามขวานหรือภาคใต้ของประเทศไทย ก่อนจดทะเบียน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “พีทีจี เอ็นเนอยี” เพื่อประกอบธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป
โดยมี “พิทักษ์ รัชกิจประการ” ขึ้นมานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในวันที่บริษัทยากลำบากที่สุด ในช่วงที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
ทำให้หลายๆ บริษัทต้องปิดตัวลง เพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แต่ PTG เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ผ่านมาได้ ลูกน้องกล่าวถึงซีอีโอว่า “กรรมการบริษัทประชุมกัน แล้วก็บอกกันว่าเลิกเถอะ ปิดเถอะ เราไปไม่รอดหรอก แต่คุณพิทักษ์ก็ยังยืนหยัดว่ายังปิดไม่ได้ อีก 1,600 ชีวิต เขาจะอยู่กันอย่างไร”
พิทักษ์ย้ำกับบรรดาผู้บริหารถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ถึงความเป็นไปได้ เพราะเราเป็น “ชาวสวน” หรือที่ย่อมาจากสวนกระแส!
ในที่สุด PTG ก็สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ พร้อมกับปลดหนี้ก้อนใหญ่ที่แบกมากว่า 20 ปีประมาณ 3,600 ล้านบาท ได้สำเร็จตามที่วางไว้ จึงไม่แปลกใจกับการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการดำเนินงาน 6 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย
- ธุรกิจค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ผ่านสถานีบริการ (ปั๊ม) น้ำมัน PT
- ธุรกิจค้าส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับผู้ค้าน้ำมันรายอื่น และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
- ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
- ธุรกิจค้าปลีกแก๊สผ่านปั๊ม PT
- ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และอาหารและเครื่องดื่ม (กาแฟพันธุ์ไทย,คอฟฟี่ เวิลด์, ร้าน Max Mart)
- ธุรกิจการจำหน่ายสินค้าและบริการอื่นๆ
ซึ่งใน 6 ธุรกิจนี้ บริษัททำรายได้จากธุรกิจค้าน้ำมันผ่านปั๊มมากที่สุดถึง 92% หรือเกือบแสนล้านบาทในปี 2561 ที่ผ่านมา โดยบริษัทมีสัดส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ อยู่ลำดับที่ 4 รองจากปตท. เอสโซ่และบางจาก แต่ถ้าดูจำนวนปั๊ม บริษัทมีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 2 รองจากปั๊มปตท.เท่านั้น
แม้ว่า PT จะขยายสาขาอย่างรวดเร็ว แต่โมเดลการผูกขาดรายได้ไว้ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเฉพาะ ค่อนข้างมีความเสี่ยง บริษัทจึงหันมาขยายการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันมากขึ้น ทั้งในส่วนของร้านสะดวกซื้อ ภายใต้แบรนด์ PT Mart และ Max Mart รวมถึงธุรกิจ อาหาร และเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์
- กาแฟพันธุ์ไทย (Punthai Coffee)
- คอฟฟี่ เวิลด์ (Coffee World)
- ครีม แอนด์ฟัดจ์(Cream & Fudge)
- นิวยอร์ก ฟิฟท์ อเวนิว เดลี (New York 5th Av. Deli)
- ไทย เชฟ เอ็กเพรส (Thai Chef Express)
บิ๊กดาต้า
ซึ่งปีนี้ PTG ตั้งเป้าเพิ่มฐานสมาชิกบัตรพีที แม็กซ์การ์ด ไว้ที่ 12.5 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคนภายในปี 2565 สอดคล้องการเติบโตของธุรกิจอาหารและกาแฟที่เติบโตต่อเนื่อง
บัตร “Max Card” จึงเปรียบเสมือนเครือข่ายใยแมงมุม โดยเฉพาะ “ดาต้า” ของผู้บริโภค ที่เปรียบเป็นขุมทรัพย์มหาศาล ปั๊มไหนให้บริการดีกว่า มีสิทธิประโยชน์มากกว่า ก็ย่อมได้เปรียบแน่นอน
ราคาเป้าหมาย Bloomberg Consensus อยู่ที่ 11.48 บาท
ในมุมมองของนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ประเมินผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ผันผวน โดยปรับลดสมมติฐานกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในส่วนของ spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี, ค่าการกลั่น (อ้างอิงตลาดสิงคโปร์) เฉลี่ยปรับตัวลดลงเหลือเพียง 2-3 เหรียญฯต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนหน้าที่เฉลี่ยอยู่ราว 5-6 เหรียญฯต่อบาร์เรล
ด้านบล.คันทรี่ กรุ๊ป มองราคาหุ้น PTG ปรับตัวเพิ่มขึ้น YTD สะท้อนผลประกอบการในไตรมาส 1/2562 ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากค่าการตลาดที่สูงมาก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก บวกกับธุรกิจ Non-oil (อัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 20%) มีผลประกอบการดีขึ้นใกล้ถึงจุดคุ้มทุน
อย่างไรก็ตามมุมมองเป็นกลางต่อผลประกอบการใน 2-3 ไตรมาสข้างหน้า แม้ปริมาณการขายมีแนวโน้มจะโตอย่างต่อเนื่อง จากการขยายสถานีการให้บริการ โดยเฉพาะในบริเวณเขตกรุงเทพ ปริมณฑล แต่จะถูกจำกัดด้วยค่าการตลาด ที่คาดว่าจะอ่อนตัวลงเล็กน้อย และสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายที่ยังอยู่ในระดับสูงตามการขยายสาขา อิงจากข้อมูลของ Bloomberg Consensus มีนักวิเคราะห์ 2 ราย จากทั้งหมด 4 ราย แนะนำ ‘ซื้อ’ ที่ราคาเป้าหมาย 11.48 บาท
ที่มา
รายงานประจำปี 2561 ของ PTG
https://www.youtube.com/watch?v=f2QDZKv9MAE
https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=cFlvLzRSdU5MNE09
https://www.thunhoon.com/201796/48/55/