นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้สทนช. ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดทำรายงานความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขเสนอต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยโครงการสำคัญๆ 6 โครงการ คือ
- โครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร จังหวัดพิจิตร
- โครงการฟื้นฟูแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร
- โครงการขุดลอกคลองระบายน้ำจากลำน้ำชี
- โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- โครงการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และ
- การจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ
สำหรับโครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร จังหวัดพิจิตร ได้เร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2563 โดยได้มอบหมายกรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทาน พิจารณาเสนอขอปรับแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2562 และ 2563 พร้อมทั้งให้กรมชลประทาน เร่งสำรวจออกแบบก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำยมตอนล่าง ถัดจากประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้างเพิ่มเติม ในงานศึกษาความเหมาะสมแนวทางการเติมน้ำจากอาคารที่สร้างในแม่น้ำยมให้กับแม่น้ำพิจิตร และกองทัพบกร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิจารณาจัดทำรายละเอียดประกอบการพิจารณาโครงการที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา 27 รายการ จากที่ได้รับงบกลางไปแล้ว 43 รายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการที่จะต้องดำเนินการในโครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร จังหวัดพิจิตร
ส่วนโครงการฟื้นฟูแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้งและสามารถป้องกันอุทกภัยได้ในฤดูฝน โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างจังหวัดสกลนคร กรมชลประทาน และ สทนช. ซึ่งจะจัดทำแผนหลักอย่างเป็นองค์รวม สำหรับใช้เป็นแนวทางให้ส่วนราชการต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปดำเนินการได้ ประกอบด้วย แผนระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ครอบคลุมการพัฒนา 10 ปี (พ.ศ.2563-2570) ดำเนินการใน 5 ด้าน ได้แก่
- การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค
- การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต
- การจัดการน้ำท่วมอุทกภัย
- การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และ
- การบริหารจัดการ
รวม 63 โครงการ วงเงิน 5,509 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ จำนวน 13 หน่วยงาน ซึ่งขณะนี้แต่ละหน่วยงานกำลังจะจัดทำแผนปฏิบัติของแต่ละปีงบประมาณ และแผนการดำเนินงานที่จะสามารถขับเคลื่อนได้ หลังจากนั้น สทนช.จะนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ แผนงานโครงการและหน่วยปฏิบัติต่อไป
สำหรับโครงการขุดลอกคลองระบายน้ำจากลำน้ำชี เป็นการก่อสร้างทางผันน้ำชีตอนล่างพร้อมอาคารประกอบ ตามมติ ครม.สัญจร เมื่อวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2561 ที่จังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานี ดำเนินการโดยกรมชลประทาน วงเงิน 310 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 งานหลัก คือ
- งานขุดลอกคลองผันน้ำและขยายแก้มลิง จำนวน 6 แห่ง
- งานก่อสร้างอาคารบังคับน้ำพร้อมอาคารประกอบ จำนวน 6 แห่ง และ
- งานก่อสร้างระบบกระจายน้ำพร้อมอาคารประกอบ
เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 3,000 ไร่ มีเส้นทางสัญจรและลำเลียงผลผลิตทางการเกษตร ลดระยะเวลาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก จำนวน 25,000 ไร่ จาก 4 เดือน เหลือไม่เกิน 1 เดือน และสามารถระบายได้ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะนี้ได้ดำเนินการออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น และร่วมคิดกับราษฎรและเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีแผนจะขอรับงบประมาณตั้งแต่ปี 2563-2565
นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดกรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน ซึ่งได้รับงบประมาณก่อสร้างแล้วปี 2562 วงเงินทั้งสิ้นจำนวน 85 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติการใช้พื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้ ซึ่งคาดว่าคณะอนุกรรมการป่าสงวนแห่งชาติจะตรวจสอบและเห็นชอบได้ภายในเดือนมิถุนายน 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการป่าสงวนแห่งชาติพิจารณาอนุญาต โดยคาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้ อย่างแน่นอน
ส่วนโครงการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ซึ่ง กนช.มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดหาน้ำอุปโภคบริโภคให้ครบทั้ง 169 หมู่บ้าน ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2562 อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจอย่างละเอียดแล้วพบว่า มีหลายพื้นที่ที่มีระบบประปาหมู่บ้านอยู่แล้ว 23 แห่ง ที่เหลือที่ประชุมได้เร่งรัดให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย
"ด้านสิ่งกีดขวางทางน้ำ กนช.ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำ และให้เร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า มีสิ่งกีดขวางทางน้ำในเขตภาคใต้ จำนวน 111 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 74 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 26 แห่ง ที่เหลืออีกจำนวน 11 แห่ง จะการดำเนินงานภายในปี 2563 ส่วนภูมิภาคอื่นๆ พบว่า สิ่งกีดขวางทางน้ำในเขตภาคเหนือ จำนวน 161 แห่ง ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 60 แห่ง ในเขตภาคกลาง 115 แห่ง และในเขตภาคตะวันออก จำนวน 115 แห่ง รวม 451 แห่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการปรับปรุง เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบพิกัดจุดที่ตั้ง และข้อมูลบัญชีรายการของอาคาร"