“บลจ.ภัทร”...ส่ง ‘กองหุ้นโลก’ อิงดัชนี MSCI ACWI ขายถึง 26 มิ.ย. นี้

>>

“บลจ.ภัทร” ส่ง กอง PHATRA PGE’ ลุยหุ้นทั่วโลก ชูกลยุทธ์ Passive Fund อิงผลตอบแทนเชนี MSCI ACWI ขาย 18-26 มิ.ย. นี้ พร้อมมอง หุ้น ยังน่าสนใจกว่า ตราสารหนี้


นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ภัทร จำกัด เปิดเผยว่า
ระหว่างวันที่ 18-26 มิ.ย. 19 บริษัทจะเปิดขาย กองทุนเปิด ภัทร พาสซีฟ โกลบอล อิควิตี้ (PHATRA PGE)’ ซึ่งเป็นกองทุน Feeder Fund สำหรับลงทุนในกองทุนรวมหลักเพียงกองเดียวคือ ‘iShares MSCI ACWI ETF’ โดยกองทุนหลักนี้เน้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของดัชนี MSCI ACWI ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนอัตราผลตอบแทนของตลาดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงกลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ผ่านกลยุทธ์การลงทุนแบบ Passive


โดยกองทุนหลักจะเลือกลงทุนในหุ้นที่เป็นตัวแทนขององค์ประกอบของดัชนีอ้างอิงเพื่อสะท้อนการลงทุนให้เหมือนดัชนีอ้างอิง (Representative Sampling) โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด สัดส่วนอุตสาหกรรม อัตราผลตอบแทน และสภาพคล่อง กองทุนนี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการเพิ่มโอกาสการลงทุนในหุ้นทั่วโลก เพื่อเป็นส่วนประกอบของการจัดสรรการลงทุน อีกทั้งสามารถลงทุนได้ในระยะยาวและรับความเสี่ยงได้สูง ทั้งนี้ ‘กอง PHATRA PGE’ ได้ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเกือบทั้งหมด คือไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี


 
( นายยุทธพล ลาภละมูล )


“ช่วงที่เหลือของปี19 ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยรวมตลาดหุ้นยังคงมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดพันธบัตรในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งตลาดหุ้นยังได้รับแรงหนุนจากท่าทีที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางหลัก เช่น FED, ECB และธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่แสดงความเต็มใจจะใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น”  


นอกจากนั้น ปัจจัยอื่นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 

  1. ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ คือธนาคารกลางสหรัฐระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย. และธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันที่ 20 มิ.ย.

  2. ผลการประชุม OPEC ระหว่างวันที่ 25-26 มิ.ย. ที่เวียนนา ซึ่งพิจารณาการต่ออายุมาตรการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมัน ภายใต้สถานการณ์ปัญหาในเวเนซุเอลา อิหร่านและลิเบียที่ยังคงดำรงอยู่ และ

  3. ผลการประชุม G20 ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย. ซึ่งอาจนำไปสู่การพบปะหรือมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐและจีน โดยเหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะต่อไป