ถึงเวลาหุ้นหมู-ไก่ วิ่งแรง!! รับผลดีความต้องการเนื้อสัตว์เพิ่ม

>>

ปรับเพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตาสำหรับราคาเนื้อสัตว์ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด โดยเฉพาะในกลุ่มเนื้อไก่ และเนื้อหมู ที่เริ่มทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 4 เดือน ซึ่งเมื่อย้อนดูผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบในการทำอาหารของปรับเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ก็ส่งผลกระทบไปยังผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่น่าจะได้รับผลดีจากโมเมมตัมนี้ ส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรในหุ้นหมู หุ้นไก่ อย่างหนาแน่น


ทั้งนี้ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รายงานความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจากต้นปี ถึงวันที่ 17 มิถุนายน พบว่า
 

  • บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) GFPT ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 16.40 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 36.67%  
  • บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) TFG อยู่ที่ 3.90 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 28.29%  
  • บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) CPF อยู่ที่ 28.25 บาทต่อหุ้น หรือ ปรับเพิ่มขึ้น 14.84%
  • บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) TU อยู่ที่ 18.40 บาทต่อหุ้น หรือ เพิ่มขึ้น 13.58% มีเพียง
  • บริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด (มหาชน) BR ราคาหุ้นปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ 3.08 บาทต่อหุ้น ลดลง 20.21%

 

 


หุ้นเนื้อสัตว์กำลังกลับมา


บล.บัวหลวง ทำบทวิเคราะห์ในหุ้นเกษตรและอาหาร พบว่า หุ้นในกลุ่มนี้กำลังฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยบล.บัวหลวงได้ “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน มากกว่าตลาด” เฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการการปศุสัตว์หรือ เนื้อสัตว์บก ภายใต้การคาดการณ์ปริมาณยอดส่งออกไก่ไปยังประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น ราคาหมูและไก่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2562 และคาดว่าจะแข็งแกร่งต่อเนื่องไปยังปี 2563 รวมถึงราคาต้นทุน วัถตุดิบที่ลดลง เราจึงคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจปศุสัตว์มีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งในปี 2562-63  


ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของราคาไก่มีชีวิตในกรุงเทพฯ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 เดือน เราเห็นราคาไก่มีชีวิตและราคาลูกเจี๊ยบในกรุงเทพฯ ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงต้นเดือนมิ.ย. 2562 โดยราคาไก่มีชีวิตในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นไปทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ 36.5 บาทต่อกิโลกรัม (หรือเพิ่มขึ้น 6%) ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 2562 จนถึงปัจจุบัน จากก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 34.5 บาทต่อกก. นอกจากนี้ราคาลูกเจี๊ยบเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 27% ในช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์ (จาก 11.25 บาทต่อตัวไปอยู่ที่ 14.25 บาทต่อตัวเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2562) หรือทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2561 เป็นต้นมา


บล.บัวหลวงมองว่า ราคาไก่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงมาจากสาเหตุของอุปทานหมูในประเทศไทยที่ตึงตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงการบริโภคจากการบริโภคเนื้อหมูราคาสูงมาเป็นการบริโภคเนื้อไก่ที่ราคาถูกกว่าแทน วัฎจักรขาขึ้นของธุรกิจหมูโลกยืดออกไปเป็นปี 2564-2565 และเชื่อว่าโรคไข้หวัดหมูแอฟริกันที่ระบาดในหลายประเทศได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุปทานหมูอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป และเนื่องจากวงจรการเลี้ยงหมูที่ยาวนานถึง 9-12 เดือน สถานการณ์ปัจจุบันซึ่งยังคงไม่มีการควบคุมโรคนี้ได้อย่างสำเร็จ รวมถึงยังคงไม่มีการพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคไข้หวัดหมูแอฟริกันได้อย่างสำเร็จ และการขาดแคลนเงินทุนสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูขนาดเล็กที่จะกลับเข้าสู่ธุรกิจฟาร์มหมูอีกครั้ง เราจึงคาดว่าภาวะการขาดแคลนเนื้อหมูทั่วโลกในครั้งนี้จะรุนแรงมากขึ้นจนถึงปี 2564-65 (เทียบกับก่อนหน้าที่เราคาดว่าภาวะการขาดแคลนเนื้อหมูจะยาวถึงแค่ปี 2563 เป็นอย่างมาก) หรือยืดออกไปอีก 1-2 ปีจากสมมติฐานก่อนหน้านี้ จากเหตุผลนี้  จึงคาดอย่างอนุรักษ์นิยมว่า ราคาหมูในประเทศไทยมีแนวโน้มยืนแข็งแกร่งต่อเนื่องในกรอบ 70-75 บาทต่อกก. จนถึงปี 2563

 

 


ปริมาณยอดส่งออกไก่ไทยที่เพิ่มขึ้นและโอกาสของการส่งออกหมูไทยไปยังจีน


สถานการณ์การขาดแคลนเนื้อหมูส่งผลให้ประเทศจีนต้องเริ่มนำเข้าหมูมากขึ้น เราคาดว่าประเทศเวียดนามจะเริ่มนำเข้าหมูในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าเพื่อชดเชยกับภาวะการขาดแคลนเนื้อหมูภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานหมูทั่วโลกและอุปทานหมูในภูมิภาคตึงตัวมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทดแทนอื่นๆ ที่คล้ายกัน (เช่น ไก่) และราคาหมูและไก่ไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง


เราเชื่อว่าผู้ประกอบการปศุสัตว์ของไทยจะได้รับผลบวกในระยะยาวจากแนวโน้มที่ราคายังคงยืนแข็งแกร่งต่อเนื่องหรือปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหมูไทย (จนถึงปี 2563-2564) และ ราคาไก่ไทย (จนถึงอย่างน้อยช่วงครึ่งหลังปี 2562) และปริมาณยอดส่งออกไก่ไทยไปยังจีนที่จะเพิ่มขึ้นอีกจนถึงปี 2563 อัพไซด์จะมาจากการอนุมัติของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนสําหรับการให้ส่งออก หมูไทยไปยังประเทศจีนได้ ปรับเพิ่มคําแนะนําเป็น “เพิ่มน้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด” โดย CPF เป็นหุ้นที่ชื่นชอบมากที่สุด ในกลุ่มเกษตรและอาหาร เนื่องจากการขยายตัวของกําไรหลักในปี 2562  

 


หุ้นไก่ยังไปต่อ


บล.โนมูระ พัฒนสิน  ประเมินทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารในตลาดหลักทรัพย์ ว่ายังให้น้ำหนัก "NEUTRAL" โดยอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในประเทศ ราคาไก่มีชีวิตเพิ่มขึ้นและราคาสุกรทรงตัว โดยภาวะการขายไก่ยังคล่องตัว แต่ความต้องการสุกรอ่อนตัวและมีสต็อกในตลาดเพิ่มขึ้น ราคากุ้งเพิ่มขึ้นเพราะผลผลิตเข้าสู่ตลาดลด


ทำให้บล.คงให้น้ำหนัก NEUTRAL กลุ่มเกษตรและอาหาร TU ราคาเป้าหมายที่ 20.50 บาทต่อหุ้น CPF ที่ 30.50 บาทต่อหุ้น GFPT ที่ 16.20 บาทต่อหุ้น เป็น Top pick โดยแนวโน้มราคาไก่-สุกรฟื้นตัว ขณะที่ราคาถั่วเหลืองยังมีทิศทางอ่อนตัวน่าจะเป็นผลดีต่อต้นทุนอาหารสัตว์ ส่วน TU จะได้ประโยชน์จากต้นทุนทูน่าลดลง


อย่างไรก็ตามแม้อนาคตของหุ้นในกลุ่มเนื้อสัตว์จะดูสดใส แต่ในอีกด้านหนึ่ง เนื้อสัตว์ถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาจะผันผวนตามความต้องการซื้อเนื้อสัตว์ของประเทศไทยและทั่วโลก ดังนั้นนักลงทุนอาจต้องเรียนรู้กับรอบวัฏจักรของราคาเนื้อสัตว์ที่มีปรับเพิ่มขึ้นและลดลงด้วย